การผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาทางปกครองเมื่อค่าปรับจะเกินร้อยละสิบ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง 0636364547

การผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาทางปกครองเมื่อค่าปรับจะเกินร้อยละสิบ 

สัญญาทางปกครอง : การใช้ดุลพินิจผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาทางปกครองกรณีค่าปรับจะเกินร้อยละ 10

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 131 (ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 183)

เมื่อคดีนี้เป็นข้อพิพาทตามสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงทางเดินเท้าและปรับปรุงภูมิทัศน์ระหว่างเทศบาลนคร (ผู้ถูกฟ้องคดี) กับผู้ฟ้องคดี อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งมีข้อกําหนดในสัญญาเรื่องเบี้ยปรับด้วย การพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวกับเบี้ยปรับ ศาลจึงชอบที่จะ นําเอาบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนที่ว่าด้วยเบี้ยปรับมาใช้บังคับได้ โดยอนุโลม สําหรับข้อ 131 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหาร ราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 นั้น เป็นเพียงการกําหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการที่หน่วยงานของรัฐใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามอําเภอใจ โดยการนําเงินค่าปรับจํานวนร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้างมาเป็นหลักเกณฑ์หนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณาบอกเลิกสัญญาเท่านั้น แต่มิได้หมายความว่าค่าปรับตามสัญญาจะต้องจํากัดไว้ไม่เกินจํานวนร้อยละสิบ ของวงเงินค่าจ้างหรือค่าพัสดุ และหน่วยงานของรัฐจะต้องพิจารณาบอกเลิกสัญญาเมื่อจํานวนเงินค่าปรับเกินกว่าร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างหรือค่าพัสดุแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่ผู้รับจ้างมีหนังสือยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ แม้เงินค่าปรับจะเกินกว่าร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างหรือค่าพัสดุก็มิได้หมายความว่าหน่วยงานของรัฐจะผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาโดยมิได้พิจารณาถึงผลงานของผู้รับจ้างว่าจะสามารถทํางานให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่สมควรหรือไม่ เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงต้องใช้ดุลพินิจผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จําเป็น การพิจารณาค่าปรับที่เหมาะสมจึงต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของคู่สัญญาในการเคารพและปฏิบัติตามข้อสัญญา พฤติการณ์แวดล้อมอื่น ๆ รวมทั้งประโยชน์ของทางราชการและประโยชน์สาธารณะ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เหตุที่ผู้ฟ้องคดีทํางานล่าช้ากว่ากําหนดเวลาในสัญญา เกิดจากความไม่เอาใจใส่และไม่ตั้งใจทํางานของผู้ฟ้องคดีเอง ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งว่ายินยอมชําระค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น และประสงค์ที่จะดําเนินงานตามสัญญาต่อไปนั้น การจัดหาผู้รับจ้างใหม่ตามระเบียบของทางราชการย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดทําบริการสาธารณะให้ต้องเนิ่นช้าออกไป ประกอบกับไม่ได้มีอุปสรรคที่ร้ายแรงถึงขนาดที่จะไม่สามารถทํางานให้แล้วเสร็จได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาและให้ผู้ฟ้องคดีทํางานต่อไปแม้จะมีค่าปรับเกินกว่าร้อยละสิบของค่าจ้างตามสัญญา จึงชอบด้วยข้อ 131 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 อย่างไรก็ตาม การพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวต้องกระทําเพียงเท่าที่จําเป็นเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังสิ้นสุดสัญญา แม้ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ที่จะทํางานต่อจนแล้วเสร็จ และยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น แต่พฤติการณ์การทํางานของผู้ฟ้องคดีที่ยังคงทํางานล่าช้า ขาดแคลนแรงงาน ไม่สามารถกําหนดวันทํางานแล้วเสร็จที่แน่นอน ไม่สามารถทํางานให้แล้วเสร็จตามที่ให้คํามั่นไว้ และไม่จัดส่งแผนงานก่อสร้างแม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะได้มีหนังสือทวงถามเร่งรัดหลายครั้ง ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่สามารถทํางานให้แล้วเสร็จและผู้ถูกฟ้องคดีควรพิจารณาบอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาออกไปถึง 515 วัน นับแต่วันที่ครบกําหนดอายุสัญญาย่อมเป็นผลเสียทั้งต่อผู้ฟ้องคดีที่ต้องเสียค่าปรับเพิ่มขึ้นและยังเป็นผลเสียต่อผู้ถูกฟ้องคดีในการจัดทําบริการสาธารณะที่ต้องล่าช้าออกไปเกินสมควร จึงไม่ถือเป็นการใช้ดุลพินิจเท่าที่จําเป็นในการผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 131 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นฯ ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของผู้ถูกฟ้องคดีทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินแล้ว เห็นว่า ค่าปรับตามสัญญาเป็นค่าปรับที่สูงเกินส่วนเห็นควรลดค่าปรับให้แก่ผู้ฟ้องคดี ลงเหลือร้อยละ 50 ของจํานวนค่าปรับตามสัญญา

โดยสรุป การใช้ดุลพินิจผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญากรณีค่าปรับจะเกินร้อยละสิบ ข้อ 131 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 (ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 183) เป็นการกําหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการที่หน่วยงานของรัฐจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเพื่อไม่ให้เกิดกรณีการบอกเลิกสัญญาตามอําเภอใจ โดยการนําเงินค่าปรับจํานวนร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้างมาเป็นหลักเกณฑ์หนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณาบอกเลิกสัญญาเท่านั้น แต่มิได้หมายความว่าค่าปรับตามสัญญาจะต้องจํากัดไว้ไม่เกินจํานวนร้อยละสิบ และหน่วยงานของรัฐจะต้องบอกเลิกสัญญาเมื่อจํานวนเงินค่าปรับเกินกว่าร้อยละสิบ ทุกกรณีไปแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่ผู้รับจ้างมีหนังสือยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ แม้เงินค่าปรับจะเกินกว่าร้อยละสิบ นั้น ก็มิได้หมายความว่าหน่วยงานของรัฐจะผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องพิจารณาถึงผลงานของผู้รับจ้างว่าจะสามารถทํางานให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่สมควรหรือไม่ เนื่องจากการใช้ดุลพินิจผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวต้องกระทําเท่าที่จําเป็น โดยพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของคู่สัญญาในการเคารพและปฏิบัติตามข้อสัญญาพฤติการณ์แวดล้อมอื่น ๆ รวมทั้งประโยชน์ของทางราชการและประโยชน์สาธารณะเป็นกรณีไปเป็นสําคัญ 

คําสําคัญ : สัญญาทางปกครอง,สัญญาจ้างเหมาปรับปรุงทางเดินเท้าและปรับปรุงภูมิทัศน์,สัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค,ค่าปรับ,ค่าปรับเกินร้อยละสิบ,ค่าปรับสูงเกินส่วน,การพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาทางปกครอง,ดุลพินิจ,การใช้ดุลพินิจตามอําเภอใจ

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.324/2566

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เปิดโอกาสแข่งขันอย่างเป็นธรรม | เรื่องเด่น คดีปกครอง

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง

การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เปิดโอกาสแข่งขันอย่างเป็นธรรม 

การพัสดุ : การยกเลิกการจัดซื้อหรือจัดจ้าง

หลักการสําคัญในการซื้อหรือการจ้างหรือการทําสัญญาของรัฐซึ่งรวมถึงหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้น มีหลักการสําคัญในส่วนของวัตถุประสงค์ว่า ต้องดําเนินการโดยคํานึงถึงประโยชน์สูงสุดของหน่วยงานของรัฐหรือประโยชน์สาธารณะ และมีหลักการสําคัญในส่วนของการคุ้มครองและเป็นหลักประกันสิทธิของผู้เกี่ยวข้องว่า ต้องกระทําโดยเปิดเผย ตรวจสอบได้ และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ดังนั้น โดยหลักรัฐจึงต้องมีข้อกําหนดในลักษณะ ที่ไม่เป็นการขัดหรือแย้งต่อหลักการดังกล่าว โดยหากเป็นกรณีที่เป็นการคัดเลือกเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐเป็นการทั่วไป การกําหนดคุณสมบัติดังกล่าวจะต้องไม่ถึงขนาดที่ทําให้เห็นได้ว่า ในทางข้อเท็จจริงแล้ว จะมีผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องที่สามารถเข้าร่วมการคัดเลือกเพื่อเป็นคู่สัญญากับรัฐได้เพียงรายเดียว เพราะกรณีเช่นนี้ย่อมเท่ากับว่าข้อกําหนดดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อหลักการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมนั่นเอง แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อยกเว้นในกรณีมีเหตุผลความจําเป็นเฉพาะให้หน่วยงานของรัฐสามารถกําหนดคุณสมบัติของผู้เสนอราคาให้มีลักษณะเฉพาะได้โดยในส่วนของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอําเภอเป็นผู้ใช้อํานาจกํากับดูแลให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติงานไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

คดีนี้แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ดังเช่นที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า โครงการจ้างเหมาซ่อมผิวทางจํานวน 9 ช่วง ตามประกาศประกวดราคาจ้างเหมาซ่อมสร้างผิวทาง Para Cape Seal (โดยวิธี Pavement In-Place Recycling) ซ่อมสร้างผิวทาง Para Asphaltic Concrete และสร้าง ผิวทาง Para Cape Seal ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จํานวน 9 โครงการ ขององค์การบริหารส่วนตําบล (ผู้ฟ้องคดี) เป็นโครงการที่ต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของผู้รับจ้างก่อสร้างเป็นพิเศษโดยต้องรู้วิธีการก่อสร้างและการใช้อุปกรณ์เครื่องจักรที่มีมาตรฐานการก่อสร้าง เพื่อให้งานก่อสร้างถนน ที่ต้องการมาตรฐานการทํางานสูงสําเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ได้มาตรฐานงานสร้างเป็นอย่างเดียวกัน และได้ผู้รับจ้างที่มีศักยภาพเหมาะสมกับงานจ้างก็ตาม แต่การพิจารณาดําเนินการก่อสร้างโครงการซ่อมสร้างผิวทางถนนนี้ นอกจากจะคํานึงถึงลักษณะและประเภทของงานก่อสร้างรวมถึงคุณสมบัติ ของผู้รับจ้างแล้ว ยังต้องคํานึงถึงสถานที่ตั้งของโครงการประกอบด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสถานที่ ดําเนินการในคดีนี้แล้ว ล้วนมีที่ตั้งโครงการตั้งอยู่คนละจุดคนละหมู่บ้านไม่เชื่อมต่อ มีสถานที่ตั้ง ห่างไกลกัน โดยสภาพของโครงการทุกโครงการจึงไม่อาจรวมว่าจ้างเป็นโครงการเดียวกันได้ ทั้งหากทําการจัดซื้อจัดจ้างแยกเป็นรายโครงการ ผู้ฟ้องคดีก็ยังคงสามารถกําหนดคุณสมบัติของผู้รับจ้าง เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีความสามารถดําเนินงานตามโครงการและมีเครื่องจักรพร้อมในการทํางานได้ อยู่เช่นเดิม ประกอบกับเมื่อพิจารณาพยานหลักฐานในสํานวนคดีปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ทําตาราง เปรียบเทียบการแยกโครงการการจัดซื้อจัดจ้างและการเลือกผู้รับจ้างรายใหญ่กับรายย่อย โดยระบุเหตุผลในลักษณะที่เห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีประสงค์จะทําการรวมโครงการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้ได้ผู้เสนอราคาที่เป็นผู้รับจ้างรายใหญ่ แต่หากแบ่งโครงการออกเป็นโครงการย่อยจะทําให้ได้ผู้รับจ้างรายย่อย ซึ่งไม่มีเครื่องจักร บุคลากรที่เชี่ยวชาญไม่มีประสบการณ์หรือไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะดําเนินงานได้ จึงย่อมแสดงให้เห็นได้ว่า การที่ผู้ฟ้องคดีรวมการจัดจ้างซ่อมสร้างผิวทางถนนทั้ง 9 ช่วง เป็นโครงการเดียวกัน ผู้ฟ้องคดีคาดหมายเพื่อให้ได้ผู้รับจ้างรายใหญ่มาดําเนินการตามโครงการของผู้ฟ้องคดี และเป็นการคาดการณ์ตามความเข้าใจของผู้ฟ้องคดีเองว่าผู้รับจ้างรายย่อยจะไม่สามารถดําเนินงานก่อสร้างได้ตามความประสงค์ของผู้ฟ้องคดี อันมีลักษณะเป็นการไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกัน อย่างเป็นธรรม อีกทั้งหากทําการแยกโครงการจัดซื้อจัดจ้างออกเป็น 2 กลุ่ม ตามประเภทงาน ผู้ฟ้องคดี ย่อมได้ผู้ที่จะเข้าเสนอราคาเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสําหรับกลุ่มประเภทงานนั้น ๆ ที่จะสามารถดําเนินงานให้สําเร็จลุล่วงไปได้เช่นเดียวกัน ในทางกลับกัน การรวมการซ่อมสร้างถนน ทั้ง 9 ช่วง เป็นโครงการเดียวกัน หากผู้ชนะการประกวดราคาเป็นผู้มีความสามารถเฉพาะงาน ประเภทใดประเภทหนึ่ง อาจก่อให้เกิดปัญหาไม่สามารถก่อสร้างงานอีกประเภทหนึ่งให้สําเร็จลุล่วง ตามความประสงค์ของผู้ฟ้องคดีเองได้ นอกจากนี้ ในแง่ของการประหยัดงบประมาณของทางราชการ ซึ่งผู้ฟ้องคดีอ้างว่า หากแบ่งย่อยเป็นรายโครงการโดยกําหนดราคากลางเป็นรายโครงการ จะทําให้แต่ละโครงการต้องใช้งบประมาณที่สูงกว่ารวมโครงการ เนื่องจากค่า Factor F จะสูงขึ้นนั้น ยังไม่อาจรับฟังวิธีการคํานวณค่าก่อสร้างกรณีรวมจัดจ้างโครงการเดียวตามคําฟ้องของผู้ฟ้องคดีว่าเป็นการคํานวณที่ถูกต้องได้ ในชั้นประกาศประกวดราคานี้ผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่สามารถสรุปหรือคาดหมายได้ว่า การจัดการประกวดราคางานซ่อมสร้างผิวทางของผู้ฟ้องคดีโดยรวมการก่อสร้าง 9 ช่วง เป็นโครงการ เดียวกัน จะเป็นวิธีการที่ทําให้ผู้ฟ้องคดีประหยัดงบประมาณได้มากกว่า โดยหากมีการบริหารจัดจ้างที่ดี และมีการแข่งขันราคากันอย่างเป็นธรรมในแต่ละโครงการ อาจทําให้วงเงินที่จะจัดจ้างในแต่ละโครงการต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ได้

สําหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกําาหนดให้ผู้เสนอราคาต้องมีผลงานก่อสร้างและมีประสบการณ์ ในการทํางานภาครัฐในสัญญาเดียวที่มีมูลค่า 9,900,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นการกําหนดเพื่อแสดง ให้เห็นถึงขีดความสามารถของผู้เข้าเสนอราคานั้น เมื่อพิจารณาวงเงินค่าก่อสร้างในแต่ละช่วงงานแล้ว เห็นได้ว่า มีมูลค่างานไม่ถึง 9,900,000 บาท และเมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่าการจัดจ้างซ่อมสร้างผิวทาง ถนนตามโครงการของผู้ฟ้องคดีต้องแยกดําเนินการเป็นรายโครงการ หากผู้ฟ้องคดีประสงค์จะกําหนด มูลค่างานก่อสร้าง จึงควรกําหนดให้สอดคล้องต่อค่างานก่อสร้างในแต่ละช่วงงาน โดยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2536 ซึ่งแจ้งตามหนังสือสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนมาก ที่ นร 0202/ว 1 ลงวันที่ 3 มกราคม 2537 และหนังสือสํานักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1305/ว 7914 ลงวันที่ 22 กันยายน 2543 ให้กําหนดผลงานก่อสร้างได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของวงเงิน งบประมาณ หรือวงเงินประมาณการ หรือราคากลาง การกําหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาให้ต้องเป็น ผู้เสนอราคาที่มีประสบการณ์ในการทํางานภาครัฐในสัญญาเดียวที่มีมูลค่า 9,900,000 บาท ของผู้ฟ้องคดี จึงมีลักษณะเป็นการไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ดังนั้น การที่นายอําเภอ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) มีคําสั่งที่ให้ผู้ฟ้องคดียกเลิกและระงับการดําเนินการตามประกาศประกวดราคาจ้างที่พิพาท จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้รับรายงานจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แล้วพิจารณาเห็นชอบด้วยกับความเห็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

โดยสรุป ในการพิจารณาจัดจ้างซ่อมผิวทางถนนจํานวน 9 ช่วง ขององค์การบริหารส่วนตําบล นอกจากจะต้องคํานึงถึงลักษณะและประเภทของงานก่อสร้างรวมถึงคุณสมบัติของผู้รับจ้างแล้ว ยังต้องคํานึงถึงสถานที่ตั้งของโครงการประกอบด้วย เมื่อสถานที่ ดําเนินการแต่ละแห่งล้วนมีที่ตั้งอยู่คนละจุดห่างไกลกัน คนละหมู่บ้าน และไม่เชื่อมต่อ โดยสภาพ ของโครงการจึงไม่อาจรวมว่าจ้างเป็นโครงการเดียวกันได้ การที่องค์การบริหารส่วนตําบลรวมการจัดจ้างเป็นโครงการเดียวกัน โดยคาดหมายเพื่อให้ได้ผู้รับจ้างรายใหญ่มาดําเนินการตามโครงการ ดังกล่าว อันเป็นการหลีกเลี่ยงผู้รับจ้างรายย่อยจากการคาดการณ์เองว่าจะไม่สามารถดําเนินงานก่อสร้างได้ตามความประสงค์ การดําเนินการดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการไม่เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม การที่นายอําเภอในฐานะผู้ใช้อํานาจกํากับดูแลออกคําสั่งให้องค์การบริหารส่วนตําบลยกเลิกและระงับการดําเนินการตามประกาศประกวดราคาจ้างเหมาซ่อมสร้างผิวทางที่พิพาท และผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบด้วยกับความเห็นดังกล่าว จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย

คําสําคัญ : การประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์,การกําหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ เสนอราคา,การเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม,โครงการจ้างเหมาซ่อมผิวทาง,การใช้อํานาจกํากับดูแลองค์การบริหารส่วนตําบล,การรวมว่าจ้างเป็นโครงการเดียว

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.149/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

ตัดสิทธิไม่ให้เสนอราคา โดยไม่เป็นไปตามเอกสารประกวดราคา | เรื่องเด่น คดีปกครอง

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง

ตัดสิทธิไม่ให้เสนอราคา โดยไม่เป็นไปตามเอกสารประกวดราคา 

การพัสดุ : การตัดสิทธิไม่ให้เป็นผู้มีสิทธิเสนอราคาจากการประกวดราคา

กรณีคณะกรรมการประกวดราคา (ผู้ถูกฟ้องคดี) ใช้ดุลพินิจตัดสิทธิผู้ฟ้องคดีที่ 1 ไม่ให้เป็นผู้มีสิทธิเสนอราคาตามประกาศประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โครงการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Waming) สําหรับพื้นที่เสี่ยง อุทกภัยดินถล่ม ในพื้นที่ลาดชันและพื้นที่ราบเชิงเขา เนื่องจากเห็นว่าข้อเสนอด้านเทคนิคของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ไม่เป็นไปตามเอกสารประกวดราคา โดยหนังสือรับรองเอกสารแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่าย ในประเทศไทยจากผู้ผลิตในต่างประเทศไม่ปรากฏเป็นปีปัจจุบัน และขาดเอกสารแต่งตั้งเป็นตัวแทนจําหน่ายในประเทศไทย คุณสมบัติของเสาอากาศไม่เป็นไปตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีกําหนดไว้

เมื่อปรากฏว่าเอกสารแนบท้ายเอกสารประกวดราคาจ้างฯ ข้อ 1.12 ภาคผนวก ก ข้อ 5.3 กําหนดว่า สถานีเตือนภัยล่วงหน้า อุปกรณ์ตรวจวัดระยะไกล (Remote Terminal Unit) เครื่องมือตรวจวัดระยะไกลดังกล่าวต้องมีตัวแทนจําหน่ายในประเทศไทย (กรณีที่นําเข้าจากต่างประเทศ) พร้อมเอกสารแต่งตั้งเป็นตัวแทนจําหน่ายในประเทศไทยจากผู้ผลิตในต่างประเทศ สําหรับเครื่องมือที่ผลิตในประเทศต้องได้รับมาตรฐานรับรองจากผู้ผลิตพร้อมเอกสารรับรองคุณภาพตามเอกสาร เทียบเท่าจากโรงงานผู้ผลิตเป็นปีปัจจุบัน จึงเห็นได้ว่า ข้อกําหนดดังกล่าวได้กําหนดไว้โดยชัดแจ้งว่าในกรณีนําเข้าอุปกรณ์ตรวจวัดระยะไกลจากต่างประเทศ อุปกรณ์ดังกล่าวต้องมีตัวแทนจําหน่ายในประเทศไทย ซึ่งผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องยื่นเอกสารแต่งตั้งเป็นตัวแทนจําหน่ายในประเทศไทย จากผู้ผลิตในต่างประเทศมาด้วย แต่ในกรณีที่อุปกรณ์ตรวจวัดระยะไกลนั้นผลิตในประเทศไทย อุปกรณ์ดังกล่าวต้องได้รับมาตรฐานรับรองจากผู้ผลิตซึ่งผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องยื่นเอกสารรับรองคุณภาพตามเอกสารเทียบเท่าจากโรงงานผู้ผลิตเป็นปีปัจจุบัน คําว่าปัจจุบัน จึงเป็นเงื่อนไข ในข้อกําหนดเกี่ยวกับเอกสารรับรองคุณภาพสําาหรับกรณีที่ผู้ประสงค์จะเสนอราคา เสนออุปกรณ์ตรวจวัดระยะไกลที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะเสนอราคาที่ได้เสนออุปกรณ์ตรวจวัดระยะไกลที่นําเข้าจากต่างประเทศแต่อย่างใด ประกอบกับจากรายงาน การตรวจสอบสืบสวนของสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินพบว่า การที่คณะกรรมการประกวดราคา กล่าวอ้างว่า คณะกรรมการกําหนดร่างขอบเขตของงาน (TOR) และร่างเอกสารประกวดราคาของผู้ถูกฟ้องคดีมีเจตนาที่จะให้ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนจําหน่ายอุปกรณ์ ตรวจวัดระยะไกลจากบริษัทที่เป็นตัวแทนจําหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในประเทศไทยอีกต่อหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการซ่อมบํารุงอุปกรณ์ดังกล่าว เห็นได้ว่า ข้อกําหนดตามเอกสารแนบท้ายเอกสาร ประกวดราคาจ้างฯ ข้อ 5.3 มีความชัดเจนตามตัวอักษร ไม่ได้มีลักษณะเคลือบคลุมหรือตีความ ได้หลายนัย จึงไม่มีความจําเป็นต้องมีการตีความ อีกทั้ง ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้นําร่างเกี่ยวกับข้อกําหนด ดังกล่าวเผยแพร่ในเว็บไซต์ของผู้ถูกฟ้องคดีและกรมบัญชีกลาง และในการประกวดราคาก็ไม่ได้ชี้แจง หรืออธิบายเรื่องดังกล่าวแก่ผู้ซื้อซองประกวดราคา ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่อาจอ้างเจตนาภายในมาตีความ ให้แตกต่างจากความหมายตามตัวอักษรของข้อกําหนดได้ เนื่องจากบุคคลภายนอกไม่อาจทราบถึง เจตนาที่ซ่อนเร้นของผู้ถูกฟ้องคดี ดังนั้น การที่คณะกรรมการประกวดราคาของผู้ถูกฟ้องคดี ใช้ดุลพินิจตัดสิทธิไม่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผ่านเงื่อนไขตามข้อกําหนดในกรณีนี้ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจ ที่ขัดต่อเอกสารประกวดราคาจ้าง

ส่วนกรณีข้อกําหนดของเสาอากาศที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เสนอเป็น 4 dBi ซึ่งคณะกรรมการประกวดราคาของผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่า ต่ำกว่าที่กําหนด นั้น เมื่อตามเอกสารแนบท้ายเอกสาร ประกวดราคาจ้างฯ ข้อ 1.12 ภาคผนวก ก ข้อ 5.4 กําหนดว่า โครงข่ายการสื่อสาร ต้องเป็น ระบบสื่อสารที่เหมาะสมสําหรับในแต่ละพื้นที่เสี่ยงภัยที่จะทําการติดตั้ง เช่น วิทยุสื่อสาร Cellular Mobile Phone 2G หรือ 3G หรือ SATELLITE หรือระบบอื่น ๆ ที่เหมาะสม หากมีการเสนอ ใช้ระบบใดระบบหนึ่ง ต้องมีรายละเอียด ดังนี้ ข้อ 5.4.1 ระบบวิทยุสื่อสาร ข้อย่อย 5 ข้อกําหนด ของเสาอากาศ (Antenna) กําหนดให้เป็นแบบใดแบบหนึ่งที่เหมาะสมกับการใช้งาน Directional (YAGI)หรือ OMNI หรือแบบอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ค่าทวีกําลังเสาอากาศ 12 dBi หรือดีกว่า ข้อ 5.4.2 อุปกรณ์ Modem เป็นอุปกรณ์ที่สามารถรองรับการสื่อสารได้โดยมีคุณสมบัติ ดังนี้ (1) ต้องมีสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ติดตั้งโครงการระบบเตือนภัยและสามารถใช้งานในการรับ-ส่ง ข้อมูลได้ (2) รองรับ GPRS/GSM (3) รองรับ W-CDMA/HSDPA (4) รองรับ AT Command (5) มีไฟแสดงสถานะการทํางาน (6) รองรับการทํางานที่อุณหภูมิ 85 องศาเซลเซียสได้ ข้อ 5.4.3 ระบบสายไฟเบอร์ออปติก (Fiber Optic) ข้อ 5.4.4 ระบบสื่อสารอื่น ๆ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อกําหนด ดังกล่าว เห็นได้ว่าการกําหนดคุณลักษณะของโครงข่ายการสื่อสารแต่ละระบบเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์จะเสนอราคาสามารถเลือกเสนอระบบสื่อสารที่เหมาะสม ซึ่งแต่ละระบบจะมีคุณลักษณะ ที่กําหนดไว้แตกต่างกัน กล่าวคือ หากผู้ประสงค์จะเสนอราคาเสนอระบบวิทยุสื่อสาร ตามข้อ 5.4.1 ผู้ประสงค์จะเสนอราคาจะต้องเสนอรายละเอียดคุณสมบัติหรือลักษณะเฉพาะของอุปกรณ์ตามที่ กําหนดในข้อดังกล่าว โดยเฉพาะข้อกําหนดของเสาอากาศ (Antenna) ซึ่งกําหนดไว้ในข้อย่อย 5 กําหนดให้เป็นแบบใดแบบหนึ่งที่เหมาะสมกับการใช้งาน Directional (YAGI) หรือ OMNI หรือแบบอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ค่าทวีกําลังเสาอากาศ 12 dBi หรือดีกว่า… แต่หากผู้ประสงค์จะเสนอราคา เสนอระบบอุปกรณ์ Modem ตามข้อ 5.4.2 ผู้ประสงค์จะเสนอราคาจะต้องเสนอรายละเอียดคุณสมบัติ หรือลักษณะเฉพาะของอุปกรณ์ตามที่กําหนดในข้อดังกล่าว ซึ่งไม่ปรากฏข้อกําหนดของเสาอากาศ แต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 นําเสนอระบบสื่อสารแบบ 3G อุปกรณ์ Modem ยี่ห้อ Maestro รุ่น M100 3G โดยได้เสนอเพิ่มเสาอากาศ Antenna ขนาด 9 dBi เพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพของสัญญาณเท่านั้น การเสนอระบบอุปกรณ์ Modem ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงมีรายละเอียด คุณสมบัติหรือลักษณะเฉพาะตรงตามเอกสารแนบท้ายเอกสารประกวดราคาจ้างฯ ข้อ 1.12 ภาคผนวก ก ข้อ 5.4.2 แล้ว ประกอบกับสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบพบว่า ผู้ถูกฟ้องคดี มิได้นําร่างเกี่ยวกับข้อกําหนดดังกล่าวเผยแพร่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานและกรมบัญชีกลาง และผู้ถูกฟ้องคดีก็มิได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวแก่ผู้ซื้อซองประกวดราคาเช่นเดียวกับกรณีหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจําหน่าย ดังนั้น การที่คณะกรรมการประกวดราคาของผู้ถูกฟ้องคดีนําข้อกําหนด ของเสาอากาศ ข้อ 5.4.1 ระบบวิทยุสื่อสาร ข้อย่อย 5 มาพิจารณาตัดสิทธิผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็น การพิจารณาที่ขัดต่อเอกสารประกวดราคาจ้าง

โดยสรุป เมื่อข้อกําหนดตามเอกสารแนบท้ายเอกสารประกวดราคามีความชัดเจนตามตัวอักษรไม่ได้มีลักษณะเคลือบคลุมหรือตีความได้หลายนัย จึงไม่มีความจําเป็นต้องตีความ ประกอบกับหน่วยงานของรัฐผู้จัดให้มีการประกวดราคาก็ไม่ได้นําร่างข้อกําหนดดังกล่าวเผยแพร่ในเว็บไซต์ของหน่วยงานและกรมบัญชีกลางตามที่ระเบียบว่าด้วยการพัสดุกําหนด อีกทั้งในการประกวดราคาก็ไม่ได้ชี้แจงหรืออธิบายการตีความเรื่องดังกล่าวแก่ผู้มาซื้อซองประกวดราคา หน่วยงานของรัฐจึงไม่อาจอ้างเจตนาภายในมาตีความให้แตกต่างจากความหมายตามตัวอักษรของข้อกําหนดดังกล่าวได้ เนื่องจากบุคคลภายนอกย่อมไม่อาจทราบถึงเจตนาที่ซ่อนเร้นของหน่วยงานของรัฐ การที่คณะกรรมการประกวดราคาใช้ดุลพินิจตัดสิทธิไม่ให้ผู้ฟ้องคดีผ่านเงื่อนไขตามข้อกําหนดในกรณีนี้ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดต่อเอกสารประกวดราคา

คําสําคัญ : การจัดซื้อจัดจ้าง/วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์/การเผยแพร่แบบรูปรายการและคุณลักษณะเฉพาะ/ข้อกําหนดขอบเขตของงาน TOR ประกาศประกวดราคา/เอื้อประโยชน์/ล็อคสเปค/ การกระทําความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ/ฮั้ว

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1061-1062/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

ประสบอุบัติเหตุจากต้นไม้ริมทางหลวงล้มทับ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

ประสบอุบัติเหตุจากต้นไม้ริมทางหลวงล้มทับ

ละเมิดต่อบุคคลภายนอก : ละเมิดจากการละเลย (กรณีประสบอุบัติเหตุจากต้นไม้ริมทางหลวงล้มทับ)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 420)
  2. พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 (มาตรา 4 มาตรา 19)
  3. กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2552 (ข้อ 2 (2))

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 ขณะผู้ฟ้องคดีกําลังขับรถยนต์ไปปฏิบัติงานที่สํานักงานเทศบาลตําบล ปรากฏว่าต้นหว้าขนาดใหญ่ซึ่งขึ้นอยู่ในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 202 ได้โค่นล้มลงมาทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีได้รับบาดเจ็บ โดยที่มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 บัญญัติให้อธิบดีกรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีหน้าที่กํากับ ตรวจตรา และควบคุมทางหลวง… ซึ่งหมายความรวมถึงที่ดิน พืช พันธุ์ไม้ทุกชนิด เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) จึงมีหน้าที่ในการจัดให้มีและบํารุงรักษาต้นไม้ในเขตทางหลวงให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย โดยต้นไม้ในเขตทางหลวงดังกล่าวไม่ได้จํากัดเฉพาะต้นไม้ที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปลูกเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ด้วย เพื่อมิให้กีดขวางเส้นทางสัญจรหรือก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้เส้นทาง และหากเกิดความเสียหายใด ๆ จากต้นไม้ในเขตทางหลวง กรณีจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีที่เป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีอํานาจหน้าที่โดยตรงในการดําเนินกิจการต่าง ๆ ในเขตรับผิดชอบของทางหลวงเพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก รวมถึงการจัดให้มีและบํารุงรักษาต้นไม้ที่อยู่บนพื้นที่เขตทางหลวงให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ตามข้อ 2 (2) ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2552

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะสภาพอากาศในวันเกิดเหตุปรากฏว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 24 ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2560 พายุโซนร้อนเชินกาจะทําให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากเป็นบริเวณกว้างหลายพื้นที่ ซึ่งอาจทําให้เกิดน้ําท่วมฉับพลัน น้ําป่าไหลหลาก หรือน้ําล้นตลิ่งด้วย โดยข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับภาพถ่ายที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายนําส่งว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุได้มีพายุลมแรงและฝนตกหนักต่อเนื่องยาวนานในบริเวณที่เกิดเหตุ อีกทั้ง เมื่อพิจารณารายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด สรุปได้ว่า นาย พ. หัวหน้าหมวดทางหลวงอํานาจเจริญ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบทางหลวงหมายเลข 202 ที่เกิดเหตุ ได้ให้ถ้อยคําว่า ได้มีการกําหนดแผนการดูแลบํารุงรักษาต้นไม้ในสายทางที่รับผิดชอบเป็นแผนการปฏิบัติงานประจําเดือนของหมวดทางหลวงโดยได้ตัดแต่งกิ่ง ตัดไม้แห้งและไม้ยืนต้นที่เอนเอียงโน้มเข้าหาทาง มีการตรวจสภาพต้นไม้เป็นประจำปรากฏตามบันทึกค่าใช้จ่ายงานบํารุงปกติ ใบขออนุญาตการใช้รถส่วนกลาง ภาพถ่ายการดูแลบํารุงรักษาตัดแต่งกิ่งต้นไม้ โดยในวันเกิดเหตุ นาย พ. ได้ไปตรวจสอบและตัดต้นไม้ที่ล้มทับขวางทางหลวง โดยได้ตรวจสอบบริเวณจุดเกิดเหตุด้วย แต่ไม่พบว่ามีต้นไม้เอนเอียงเข้าหาทางหรือล้มทับขวางทาง ประกอบกับต้นไม้ที่ล้มทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีเป็นไม้สดเขียวชอุ่ม ไม่มีลักษณะผุกลวง ไม่มีลักษณะ เอนเอียง จึงไม่อาจคาดหมายได้ว่าต้นไม้ดังกล่าวจะโค่นล้ม อีกทั้ง ระยะเวลาที่ตรวจสอบห่างจาก เวลาที่เกิดเหตุไม่กี่ชั่วโมง โดยอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเวลาประมาณ 8 นาฬิกา การที่ต้นไม้โค่นล้ม จึงเป็นเหตุสุดวิสัยเนื่องจากภัยธรรมชาติของพายุเซินกา คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ เห็นว่า นาย พ.ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยตรวจตราดูแลบํารุงรักษาทางที่เกิดเหตุและมีการตรวจสอบสภาพต้นไม้โดยตัดแต่งกิ่งต้นไม้อันจะเป็นอันตรายตามสายทางที่เกิดเหตุแล้ว ถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบ ของทางราชการ และไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความประมาทเลินเล่อ นอกจากนี้ ข้อเท็จจริง ปรากฏตามภาพถ่ายการตัดแต่งกิ่งต้นไม้บริเวณทางหลวงหมายเลข 202 ของเจ้าหน้าที่หมวดทางหลวงอํานาจเจริญที่ปฏิบัติงานในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม 2560 ประกอบใบขออนุญาตการใช้ รถส่วนกลางเพื่อออกไปตัดต้นไม้ที่แห้งตายในไหล่ทาง รวมถึงบันทึกข้อความขออนุมัติทํางานนอกเวลาราชการและวันหยุดราชการ ซึ่งระบุว่า ตามที่ได้มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ทําให้ผิวทาง ชํารุดเสียหายและมีหลุมบ่อจํานวนมาก จําเป็นต้องเร่งซ่อมแซมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว จึงขออนุมัติทํางานนอกเวลาราชการระหว่างวันที่ 28 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2560 แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีการวางแผนดูแลบํารุงรักษาตัดแต่งต้นไม้ตามระยะเวลาที่กําหนด กรณีจึงต้อง ถือว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ดูแลบํารุงรักษาต้นไม้ทั้งในช่วงก่อนและหลังวันที่เกิดเหตุตามอํานาจหน้าที่ด้วยความระมัดระวังตามสมควรแล้ว

จากการพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งภาพถ่ายทั้งหมด เห็นได้ว่า ในวันเกิดเหตุ ได้มีพายุลมแรงและฝนตกหนักต่อเนื่อง จึงเชื่อได้ว่าการที่ต้นหว้าโค่นล้มลงทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดี เป็นผลโดยตรงจากภัยธรรมชาติของพายุโซนร้อนเซินกา ซึ่งสังเกตได้จากการที่ต้นหว้ายังอยู่ในสภาพ สมบูรณ์ มีใบเขียวชอุ่ม และไม่มีลักษณะผุกลวงอันอาจจะก่อให้เกิดอันตราย จึงเป็นการหักโค่นล้ม ด้วยเหตุที่มีฝนตกหนักและพายุลมแรง ไม่ได้เกิดจากขาดการดูแลบํารุงรักษาตามมาตรฐานงานบํารุงทางปกติ ประกอบกับต้นหว้าที่หักโค่นมีลักษณะเป็นต้นไม้สด มิใช่ต้นไม้ยืนต้นตายหรือต้นไม้ผุกลวง จึงไม่อาจคาดหมายได้ว่าต้นไม้ดังกล่าวจะหักโค่นล้มลง นอกจากนี้ เหตุอันเกิดจากภัยธรรมชาติของพายุโซนร้อนเงินกาไม่ได้ส่งผลให้เฉพาะต้นหว้าโค่นล้มทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีเพียงคนเดียว แต่ผลกระทบจากพายุโซนร้อนเงินกาดังกล่าวยังทําให้เกิดเหตุต้นไม้ล้มทับขวางทางอีกหลายต้น และหลายแห่งในทางหลวงหมายเลข 202 กรณีจึงเห็นได้ว่าแม้เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลและบํารุงรักษาต้นไม้ในเขตทางหลวงอย่างทั่วถึงเพียงใด แต่เมื่อเกิดเหตุ วาตภัยจากพายุโซนร้อนเป็นกาซึ่งเป็นภัยธรรมชาติก็ไม่อาจป้องกันมิให้เกิดภยันตรายจากการที่ต้นไม้ โค่นล้มในลักษณะนี้ได้ และไม่สามารถป้องกันมิให้เกิดภยันตรายแก่ผู้ใช้ทางได้ ดังนั้น การที่ต้นหว้าหักโค่นล้มทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีจึงเกิดจากลมพายุฝนหรือวาตภัย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่อาจป้องกันไม่ให้เกิดภยันตรายได้จึงถือเป็นเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมาย กําหนดให้ต้องปฏิบัติในการดูแลบํารุงรักษาต้นไม้ในเขตทางหลวง จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย และไม่เป็นการกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

โดยสรุป หากอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในการดูแลรักษาต้นไม้ริมทางดังกล่าว หน่วยงานต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย ทว่าจากข้อเท็จจริงในคดีนี้การที่ต้นหว้าโค่นล้มลงทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีเป็นผลโดยตรงจากพายุโซนร้อน ซึ่งสังเกตได้จากการที่ต้นหว้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีใบเขียวชอุ่ม ไม่มีลักษณะผุกลวงอันอาจจะก่อให้เกิดอันตราย จึงไม่ได้เป็นการหักโค่นล้มจากขาดการดูแลบํารุงรักษาตามมาตรฐานปกติ นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ทางหลวงได้มีการตัดแต่งกิ่ง ตัดไม้แห้งและไม้ยืนต้น ที่เอนเอียงโน้มเข้าหาทาง และมีการตรวจสภาพต้นไม้เป็นประจํา ประกอบกับพายุโซนร้อนยังทําให้ต้นไม้ล้มอีกหลายต้นและหลายแห่ง แม้เจ้าหน้าที่ได้ดูแลบํารุงรักษาตัดแต่งต้นไม้อย่างทั่วถึงเพียงใด ก็ไม่อาจป้องกันภัยธรรมชาติจากพายุฝนหรือวาตภัยได้ จึงถือเป็นเหตุสุดวิสัยไม่อาจถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ละเลยต่อหน้าที่ และไม่เป็นการกระทําละเมิด

คําสําคัญ : ละเมิดต่อบุคคลภายนอก/ละเมิดจากการละเลย/ต้นไม้ริมทาง/การบํารุงรักษาต้นไม้/ ต้นไม้สด/พายุฝนลมแรง วาตภัย ไม่อาจป้องกันได้/เหตุสุดวิสัย/ละเมิดหรือไม่

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.322/2566

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาโดยฝากส่งกับร้านที่ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนในห้างสรรพสินค้า | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาศาลปกครองโดยฝากส่งกับร้านที่ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนในห้างสรรพสินค้า

วิธีพิจารณาคดีปกครอง (การยื่นคําอุทธรณ์ทางไปรษณีย์)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (มาตรา 3 และมาตรา 73 วรรคหนึ่ง)
  2. พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 (มาตรา 4 และมาตรา 5)
  3. พระราชกฤษฎีกากําหนดอํานาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด พ.ศ. 2546 (มาตรา 3)
  4. ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 (ข้อ 13 วรรคหนึ่ง)

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 4 และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกากําหนดอํานาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด พ.ศ. 2546 แล้ว เห็นได้ว่า กิจการไปรษณีย์เป็นกิจการที่รัฐทรงไว้ซึ่งอํานาจสิทธิขาดที่จะดําเนินการ แต่รัฐได้อาศัยอํานาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย มอบหมายให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด เป็นผู้ดําเนินการแทนรัฐ ดังนั้น เจ้าพนักงานไปรษณีย์ ตามข้อ 13 รรคหนึ่ง แห่งระเบียบฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ จึงหมายถึงบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด หรือตัวแทน หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด ให้ดําเนินกิจการ ไปรษณีย์ เมื่อคดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นได้อ่านผลแห่งคําพิพากษาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 ซึ่งจะครบกําหนดยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาในวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ตามมาตรา 73 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคําอุทธรณ์โดยนําส่งทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ณ ร้าน P. ซึ่งตั้งอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 เวลา 17.59 นาฬิกา แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ร้าน P. ไม่ได้อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด และไม่ได้ตั้งขึ้นในลักษณะของที่ทําการไปรษณีย์อนุญาต ร้าน P. จึงมิได้เป็น ที่ทําการไปรษณีย์ หรือเป็นร้าน หรือสถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดเป็นสถานที่รับ รวบรวมสิ่งของเพื่อส่งโดยทางไปรษณีย์ หรือได้รับอนุญาตให้เป็นผู้รับดําเนินงานร้านไปรษณีย์ไทย จากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด ดังนั้น ร้าน P. จึงไม่ใช่ตัวแทน หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด ให้ดําเนินกิจการไปรษณีย์ อีกทั้ง การที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด ส่งมอบ ป้ายสติ๊กเกอร์หมายเลขพัสดุให้แก่ผู้ประกอบการที่ใช้บริการ e-Parcel ติดลงบนสิ่งของที่ลูกค้านํามา ฝากส่งไว้ก่อนเพื่อความสะดวกในการรับฝาก และเพื่อให้ลูกค้าที่นํามาฝากส่งได้ทราบหมายเลขพัสดุ แต่พัสดุชิ้นดังกล่าวจะยังไม่เข้าสู่ระบบไปรษณีย์ จนกว่าผู้ประกอบการที่ใช้บริการ e-Parcel จะนํามา ฝากส่ง ณ ที่ทําการไปรษณีย์ การส่งคําอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ณ ร้าน P. จึงมิใช่เป็นการยื่นต่อเจ้าพนักงานไปรษณีย์ตามข้อ 13 แห่งระเบียบฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ และถือไม่ได้ว่าวันที่ส่งคําอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล กรณีจึงเป็นการยื่น อุทธรณ์เมื่อพ้นกําหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา 73 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

โดยสรุป การยื่นคําอุทธรณ์โดยฝากส่งกับร้านค้าตามห้างสรรพสินค้าที่ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วน ซึ่งมิได้เป็นตัวแทนหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด ไม่ถือเป็นการส่งคําอุทธรณ์ต่อเจ้าพนักงานไปรษณีย์

คําสําคัญ : การยื่นคําอุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์ทางไปรษณีย์ ที่ทําการไปรษณีย์ เจ้าพนักงานไปรษณีย์/ กําหนดเวลายื่นอุทธรณ์

คําสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 739/2566

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

การยื่นคําอุทธรณ์โดยส่งทางไปรษณีย์ภายในเวลาเปิดทําการ ตามปกติของที่ทําการไปรษณีย์ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การยื่นคําอุทธรณ์โดยส่งทางไปรษณีย์ภายในเวลาเปิดทําการ ตามปกติของที่ทําการไปรษณีย์

วิธีพิจารณาคดีปกครอง (การยื่นคําอุทธรณ์ทางไปรษณีย์)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (มาตรา 3 มาตรา 46 มาตรา 73 วรรคหนึ่ง
  2. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 193/8)

คดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคําพิพากษาเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 คู่กรณีจึงต้องยื่นอุทธรณ์คัดค้านคําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มี คําพิพากษาตามมาตรา 73 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ คือ ภายในวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 แต่เนื่องจากวันดังกล่าวตรงกับวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ คู่กรณีจึงต้องยื่นอุทธรณ์คัดค้านคําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นภายในวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 อันเป็น วันเริ่มทําการใหม่ต่อจากวันหยุดทําการตามมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ยื่นคําอุทธรณ์คัดค้านคําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นซึ่งถือเป็นคําฟ้องตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ณ ที่ทําการ ไปรษณีย์พัทยา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 เวลา 17.25 นาฬิกา ภายในเวลาเปิดทําการตามปกติ ของที่ทําการไปรษณีย์พัทยา ตั้งแต่เวลา 08.30 นาฬิกา ถึง 19.00 นาฬิกา กรณีจึงต้องถือว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ส่งคําอุทธรณ์แก่เจ้าพนักงานไปรษณีย์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 อันเป็นการยื่นอุทธรณ์คัดค้านคําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นภายในกําหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มี คําพิพากษาตามมาตรา 46 และมาตรา 73 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ประกอบกับมาตรา 193/8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

โดยสรุป การที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นคําอุทธรณ์โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ณ ที่ทําการไปรษณีย์ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 เวลา 17.25 น. อันเป็นเวลาเปิดทําการตามปกติของที่ทําการ ไปรษณีย์ ที่มีกําหนดตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 19.00 น. ถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ส่งคําอุทธรณ์ แก่เจ้าพนักงานไปรษณีย์เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 และถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันยื่นคําอุทธรณ์ต่อศาลปกครองตามมาตรา 46 ประกอบกับมาตรา 73 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

คําสําคัญ : การยื่นคําอุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์ทางไปรษณีย์/เวลาเปิดทําการ

คําสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 266/2566

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

การใช้ดุลพินิจกําหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมจากประกาศรับสมัครคัดเลือก | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การใช้ดุลพินิจกําหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมจากประกาศรับสมัครคัดเลือกพนักงานส่วนท้องถิ่นเพื่อแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งในระดับที่สูงขึ้น

การบริหารงานบุคคลภาครัฐ (การรับสมัครคัดเลือกบุคคล)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประกาศคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด จังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 (ข้อ 102 ข้อ 106 และข้อ 145)

เมื่อตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด จังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหาร ส่วนจังหวัด ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ข้อ 102 ข้อ 106 และข้อ 195 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งในระดับสูงขึ้นไว้ว่า ให้ดําเนินการคัดเลือก ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดตําแหน่งผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งในระดับที่สูงขึ้น โดยให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นผู้ดําเนินการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด จังหวัดนครศรีธรรมราช กําหนด ซึ่งข้าราชการผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการคัดเลือกต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ ครบถ้วนตามคุณสมบัติเฉพาะสําหรับตําแหน่ง ตามมาตรฐานกําหนดตําแหน่งที่จะแต่งตั้งในวันรับสมัคร ตามประกาศกําหนดการเลื่อนและแต่งตั้งข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ดํารงตําแหน่งในระดับที่สูงขึ้น และได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำของอัตราเงินเดือนในระดับที่จะได้รับการแต่งตั้งนั้น โดยการเลื่อนและแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งบริหารระดับ 8 ให้เลื่อน และแต่งตั้งได้ตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ (1) มีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสําหรับตําแหน่ง ที่จะแต่งตั้งตามที่กําหนดไว้ในมาตรฐานกําหนดตําแหน่ง (2) ต้องได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำของอันดับเงินเดือนในระดับ 8 (3) ได้ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานจากผู้บังคับบัญชา จึงเห็นได้ว่าตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้กําหนดเพียงให้พิจารณาความเป็นผู้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานกําหนดตําแหน่งเท่านั้น โดยมิได้มีการกําหนดว่าในการคัดเลือกข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดตําแหน่งผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งในระดับที่สูงขึ้น จะต้อง ทําการคัดเลือกจากผู้ที่กําลังดํารงตําแหน่งอยู่ในสายงานนั้นในขณะที่มีการเปิดรับสมัครคัดเลือก เท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศรับสมัครคัดเลือกฯ ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 และมีคุณสมบัติเฉพาะสําหรับตําแหน่ง ตามมาตรฐานกําหนดตําแหน่งนักบริหารงานนโยบายและแผน 8 ตามประกาศคณะกรรมการ ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด จังหวัดนครศรีธรรมราช เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับ การบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ที่จะสมัคร (นักบริหารงานเข้ารับการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการกองแผนและงบประมาณนโยบายและแผน ระดับ 8) ซึ่งประธานกรรมการคัดเลือกข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดตําแหน่งผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งในระดับที่สูงขึ้น (ผู้ถูกฟ้องคดี) ก็ได้รับในคําให้การว่า ประกาศรับสมัครคัดเลือกฯ ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ได้กําหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการสมัครคัดเลือกเป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การที่ คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติให้เหตุผลว่า ผู้ฟ้องคดีขาดคุณสมบัติ เนื่องจากปัจจุบัน ดํารงตําแหน่งนักบริหารงานทั่วไป ซึ่งเป็นตําแหน่งต่างสายงานกับตําแหน่งที่ประกาศรับสมัคร จึงมีคุณสมบัติไม่ตรงตามประกาศรับสมัครคัดเลือกฯ ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 ทั้งที่ประกาศ รับสมัครคัดเลือกไม่ได้กําหนดคุณสมบัติดังกล่าวไว้ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจกําหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมจากประกาศรับสมัครคัดเลือกฯ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิของข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ดํารงตําแหน่งต่างสายงานในขณะเปิดรับสมัครคัดเลือก เมื่อไม่ปรากฏว่าประกาศรับสมัครดังกล่าวได้กําหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครคัดเลือกว่าจะต้องเป็นผู้ดํารงตําแหน่งในสายงานเดียวกันกับตําแหน่งที่ประกาศรับสมัคร คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติจึงไม่อาจอ้างเหตุดังกล่าว มาตัดสิทธิผู้ฟ้องคดีได้ ดังนั้น ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกฯ ตําแหน่งผู้อํานวยการ กองแผนและงบประมาณ (นักบริหารงานนโยบายและแผน ระดับ 8) ของผู้ถูกฟ้องคดี ที่เห็นชอบ ตามความเห็นของคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติว่า ผู้ฟ้องคดีมีคุณสมบัติไม่ตรงตามประกาศ รับสมัครคัดเลือกฯ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยสรุป เมื่อประกาศรับสมัครคัดเลือกข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดตําแหน่งผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งในระดับที่สูงขึ้น ไม่ได้กําหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครคัดเลือกว่าจะต้องเป็นผู้ดํารงตําแหน่งในสายงานเดียวกับตําแหน่งที่ประกาศ รับสมัคร คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติจึงไม่อาจอ้างเหตุดังกล่าวมาตัดสิทธิผู้ฟ้องคดีได้ 

คําสําคัญ : ดุลพินิจ/การกําหนดคุณสมบัติ/พนักงานส่วนท้องถิ่น/องค์การบริหารส่วนจังหวัด/การเลื่อนและแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งในระดับที่สูงขึ้น/นักบริหาร/ตัดสิทธิ

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ. 47/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

กรณีความขัดแย้งระหว่างพนักงานส่วนตําบลกับผู้บริหาร ของ อบต. | เรื่องเด่น คดีปกครอง

กรณีมีความขัดแย้งระหว่างพนักงานส่วนตําบลกับผู้บริหาร ของ อบต. 

การบริหารงานบุคคลภาครัฐ (การสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 (มาตรา 25 วรรคหนึ่ง)
  2. พระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจําตําแหน่งของข้าราชการและผู้ดํารงตําแหน่ง ผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ พ.ศ. 2538
  3. ประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัดหนองบัวลําภู เรื่อง หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตําบล ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ข้อ 171 ข้อ 175 และข้อ 176)

ในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตําบล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยนายกองค์การบริหารส่วนตําบล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) และโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ในการประชุมครั้งที่ 7/2558 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งดํารงตําแหน่ง ปลัดองค์การบริหารส่วนตําบล ไปประจําสํานักงานเลขานุการคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบล เป็นเวลา 6 เดือน เป็นการใช้อํานาจตามข้อ 176 ของประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตําบล (แก้ไขเพิ่มเติม) ลงวันที่ 14 มีนาคม 2546 โดยการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ขอความเห็นชอบให้ผู้ฟ้องคดีไปประจําสํานักงานเลขานุการฯ หรือย้ายออกนอกพื้นที่ เป็นการรายงานพร้อมเหตุผลความจําเป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทราบว่า กรณีมีความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ หรือกรณีมีความขัดแย้งระหว่างผู้ฟ้องคดี กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และไม่สามารถดําเนินการโอนผู้ฟ้องคดีตามข้อ 171 และข้อ 175 ของประกาศ คณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตําบล ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2545 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ทําการตรวจสอบโดยมอบให้นายอําเภอ ซึ่งเป็นผู้มีอํานาจกํากับดูแลผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตรวจสอบ และนายอําเภอได้รายงานผลการตรวจสอบว่า กรณีการดําเนินการทางวินัยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้ฟ้องคดี ผลการสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีมูลความผิดวินัยฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการและถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการ ซึ่งอยู่ระหว่างการดําเนินการของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ส่วนกรณีความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารกับผู้ฟ้องคดี อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ แต่มิได้มีเหตุบ่งชี้หรือพฤติการณ์ที่จะก่อให้เกิดอันตราย ต่อบุคคลแต่อย่างใด และรายงานเพิ่มเติมว่า ประธานกรรมการสอบสวนทางวินัยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ขอความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ผู้ฟ้องคดีไปประจําสํานักงานเลขานุการฯ เนื่องจากเห็นว่า หากให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน แสดงให้เห็นถึงปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งมีอํานาจหน้าที่กําหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย รับผิดชอบในการบริหารราชการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตลอดจนควบคุมและรับผิดชอบในการ บริหารราชการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงจากผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยความเห็นชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีประจําสํานักงานเลขานุการฯ อยู่หลายครั้ง ในทุก ๆ สมัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีปัญหาขัดแย้งระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 ในการบริหารงานสะสมมาเป็นเวลานานแล้ว หากไม่ได้รับการแก้ไขย่อมส่งผลกระทบต่อ การบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่บริหารงานบุคคลสําหรับองค์การบริหารส่วนตําบลทุกแห่งในเขตจังหวัด ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 จึงต้องคํานึงถึงการบริหารราชการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นสําคัญ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 7/2558 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 มีมติเห็นชอบให้ผู้ฟ้องคดีไปประจําสํานักงานเลขานุการฯ เป็นเวลา 6 เดือน จึงเป็นไปตามข้อ 176 ของประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตําบล (แก้ไขเพิ่มเติม) ลงวันที่ 14 มีนาคม 2546 ดังนั้น คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีไปประจําสํานักงานเลขานุการฯ เป็นระยะเวลา 6 เดือน จึงชอบด้วยกฎหมายและมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ยกคําร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดี จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับคําสั่งให้ไปประจําสํานักงานเลขานุการ ก.อบต. จังหวัด กรณีจึงต้องถือว่าในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีประจําสํานักงานเลขานุการฯ ผู้ฟ้องคดีมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตําบล ที่จะมีสิทธิได้รับเงินประจําตําแหน่งตามพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจําตําแหน่งของข้าราชการและผู้ดํารงตําแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ พ.ศ. 2538 ซึ่งกําหนดให้ข้าราชการจะมีสิทธิได้รับเงินประจําตําแหน่งก็ต่อเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินประจําตําแหน่งและต้องปฏิบัติหน้าที่หลักของตําแหน่งดังกล่าวด้วย ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินประจําตําแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตําบล และเงินค่าตอบแทนนักบริหารองค์การบริหารส่วนตําบล ระดับ 8 นอกเหนือจากเงินเดือนในช่วงเวลาดังกล่าว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่ได้จ่ายเงินประจําตําแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตําบล เดือนละ 5,600 บาท เป็นระยะเวลา 5 เดือน และเดือนละ 7,000 บาท อีก 1 เดือน รวมเป็นเงินจํานวน 35,000 บาท และเงินค่าตอบแทนนักบริหารองค์การบริหารส่วนตําบล ระดับ 4 เดือนละ 5,600 บาท เป็นระยะเวลา 5 เดือน รวมเป็นเงิน จํานวน 33,600 บาท รวมเป็นเงิน จํานวนทั้งสิ้น 68,600 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงมิได้เป็นการกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด

โดยสรุป กรณีมีความขัดแย้งระหว่างพนักงานส่วนตําบลกับผู้บริหาร ของ อบต. และไม่สามารถโอนพนักงานส่วนตําบลผู้นั้นไปดํารงตําแหน่งใน อบต. อื่น ภายในจังหวัด เดียวกันได้ การที่นายก อบต. โดยความเห็นชอบของ ก.อบต. จังหวัด มีคําสั่งให้พนักงานส่วนตําบล ดังกล่าวไปประจําสํานักงานเลขานุการฯ เป็นเวลา 6 เดือน จึงชอบด้วยกฎหมาย

คําสําคัญ : การสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่/ข้าราชการส่วนท้องถิ่น/คณะกรรมการพนักงานส่วนตําบล/พนักงานส่วนตําบล/ปลัดองค์การบริหารส่วนตําบล/การบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตําบล/ปัญหาขัดแย้งในการบริหารงาน

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ. 127/2566

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

การจัดซื้อจัดจ้างผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันจะต้องอยู่ในขอบเขตงานหลักของงานที่จ้าง | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การจัดซื้อจัดจ้างผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันจะต้องอยู่ในขอบเขตงานหลักของงานที่จ้าง

การจัดซื้อจัดจ้าง (คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าเสนอราคา)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหาร พัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.3/8891 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2565

เรื่อง ข้อหารือการพิจารณาผลงานประเภทเดียวกัน กําหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณา “ผลงานการก่อสร้างประเภทเดียวกัน” ไว้ 3 ประการ คือ
(1) ใช้เทคนิคการก่อสร้างเดียวกัน
(2) โครงสร้างหลักของงานก่อสร้างเป็นประเภทเดียวกัน
(3) ลักษณะการใช้งานเป็นประเภทเดียวกัน

ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดีตามประกาศประมูลจ้างโครงการก่อสร้างคูระบายน้ำ ถนนเทศบาล ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของเทศบาลตําบล (ผู้ถูกฟ้องคดี) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า งานที่ผู้ฟ้องคดีเสนอตามหนังสือรับรองผลงานในลําดับ 1 เป็นงานก่อสร้างที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ใช้สอยเฉพาะอาคารที่ทําการบ้านพักอาศัยของพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างคูระบายน้ำสาธารณะ ตามโครงการก่อสร้างของผู้ถูกฟ้องคดี แม้การก่อสร้างตามหนังสือรับรองผลงานดังกล่าวจะมีการก่อสร้าง ถนน-ลาน คสล. รางระบายน้ำ-บ่อพัก ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับงานที่ประมูลจ้าง แต่การก่อสร้างดังกล่าวเป็นเพียงส่วนประกอบหรือส่วนเกี่ยวเนื่องและอยู่ภายในบริเวณอาคารสํานักงานและบริเวณ บ้านพักอาศัยของพนักงานเท่านั้น ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการรองรับการระบายน้ำสาธารณะ ดังนั้น ขอบเขตงานหลักของการก่อสร้างตามหนังสือรับรองผลงานดังกล่าวจึงเป็นงานก่อสร้างอาคารประกอบกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 (ภาคใต้) จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีหนังสือชี้แจงเพิ่มเติม เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคํานวณราคากลางงานก่อสร้างว่า ค่า Factor F ที่นํามาคํานวณประมาณราคา ค่าก่อสร้างตามหนังสือรับรองผลงานดังกล่าวเป็นค่า Factor F งานก่อสร้างประเภทงานอาคารส่วนสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ถือว่าเป็นส่วนควบของงานก่อสร้างอาคาร จึงนําค่า Factor F ประเภทงานอาคารมาคํานวณราคากลางค่าก่อสร้าง แต่ในการก่อสร้างคูระบายน้ำของผู้ถูกฟ้องคดีได้ใช้ ค่า Factor F ในกลุ่มงานก่อสร้างทาง สะพานและท่อเหลี่ยม จึงมีรูปแบบและเทคนิคการก่อสร้างที่ต่างกัน อีกทั้งตามเอกสารสรุปประมาณราคาค่าก่อสร้างปรากฏว่า มูลค่างานรางระบายน้ำ-บ่อพัก ของงานก่อสร้างดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 30.45 ของโครงการก่อสร้างเท่านั้น ผลงานการก่อสร้าง ตามหนังสือรับรองผลงานลําดับ 1 ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นผลงานก่อสร้างคนละประเภทกันกับงานจ้าง ตามประกาศประมูลจ้างของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีโดยคณะกรรมการดําเนินการประมูลจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์จึงมีสิทธิที่จะไม่รับพิจารณาข้อเสนอของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งว่าผู้ฟ้องคดีมีคุณสมบัติไม่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อกําหนดของเอกสารประมูลจ้าง จึงเป็นการกระทําที่ชอบตามประกาศประมูลจ้างแล้ว

นอกจากนี้ วัตถุประสงค์ของการกําหนดคุณสมบัติของผู้ประสงค์จะเสนอราคาตามประกาศประมูลจ้างที่พิพาทก็เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์และขีดความสามารถในการก่อสร้างประเภทเดียวกัน ที่มีวงเงินการก่อสร้างใกล้เคียงกันกับงานที่จ้าง การนําผลงานก่อสร้างในประเภท เดียวกันที่มีมูลค่างานต่ำกว่าข้อกําหนดหลาย ๆ งานมารวมกันเพื่อให้มีวงเงินไม่น้อยกว่าข้อกําหนดในประกาศประมูลจ้างย่อมไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีเสนอหนังสือรับรองผลงานลําดับที่ 2-5 รวม 4 ฉบับ แม้จะเป็นงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานตามประกาศประมูลจ้างของผู้ถูกฟ้องคดี แต่เมื่อวงเงินในแต่ละสัญญาจ้างน้อยกว่าที่ผู้ถูกฟ้องคดีกําหนดจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในประกาศประมูลจ้างของผู้ถูกฟ้องคดี

โดยสรุป แม้งานก่อสร้างอาคารสํานักงานและบ้านพักพนักงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามหนังสือรับรองผลงานของผู้ฟ้องคดีจะมีการก่อสร้างถนน-สาน คสล. และรางระบายน้ำ-บ่อพัก ในลักษณะเดียวกันกับงานจ้างก่อสร้างคูระบายน้ำในเขตเทศบาลที่จ้างในครั้งนี้ แต่เมื่องานก่อสร้างดังกล่าวเป็นเพียงส่วนประกอบหรือส่วนเกี่ยวเนื่อง ไม่อยู่ในขอบเขตงานหลักซึ่งเป็นงานก่อสร้างอาคาร อีกทั้งยังมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ใช้สอยเฉพาะอาคารที่ทําการและบ้านพักอาศัย ของพนักงานการไฟฟ้าฯ ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อรองรับการระบายน้ำสาธารณะ ประกอบกับมีรูปแบบ และเทคนิคการก่อสร้างที่ต่างกัน ผลงานการก่อสร้างตามหนังสือรับรองผลงานของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผลงานก่อสร้างคนละประเภทกับงานที่จ้าง

คําสําคัญ : การพัสดุ/จัดซื้อจัดจ้าง/ประมูลจ้าง/คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเสนอราคา ผลงานก่อสร้าง ประเภทเดียวกัน หนังสือรับรองผลงาน คูระบายน้ำ/งานก่อสร้างประเภทอาคาร

หมายเหตุ : หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.3/8891 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2565 เรื่อง ข้อหารือการพิจารณาผลงานประเภทเดียวกัน ได้กําหนดหลักเกณฑ์การพิจารณา “ผลงานการก่อสร้างประเภทเดียวกัน” ว่า การกําหนดผลงานมีวัตถุประสงค์นอกจากจะให้ตัวผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์ของงานก่อสร้างในประเภทเดียวกันแล้ว ต้องคํานึงถึงมูลค่าของราคาค่างานที่ผู้รับจ้างมีประสบการณ์ของงานก่อสร้าง ในงานประเภทเดียวกัน และต้องคํานึงถึงมูลค่าของราคาค่างานที่ผู้รับจ้างเคยดําเนินการมาแล้วด้วย การที่จะเห็นถึงขีดความสามารถนี้ได้ ก็ย่อมจะต้องบริหารงานภายใต้การจ้างครั้งเดียว มิใช่การจ้าง ในหลาย ๆ ครั้งมารวมกัน ดังนั้น ผลงานที่นํามายื่นจึงต้องเป็นผลงานของผู้รับจ้างในสัญญาเดียว เท่านั้น และเป็นสัญญาที่ผู้รับจ้างได้ทํางานแล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งได้มีการส่งมอบงานและตรวจรับเรียบร้อยแล้ว โดย “ผลงานการก่อสร้างประเภทเดียวกัน” หมายความว่า งานก่อสร้างที่ใช้เทคนิคในการก่อสร้างส่วนของโครงสร้างหลักเป็นประเภทเดียวกัน และลักษณะการใช้งานเป็นประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาจ้างก่อสร้าง ซึ่งการกําหนดผลงานเป็นดุลพินิจของหน่วยงานของรัฐที่จะพิจารณาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการกําหนดผลงานดังกล่าว

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 190/2566

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง
ทนายคดีสัญญาทางปกครอง

คําสั่งบรรจุแต่งตั้งซึ่งเกิดจากการพิจารณาผลการสอบที่ทุจริตและผิดกฎหมาย | เรื่องเด่น คดีปกครอง

คําสั่งบรรจุแต่งตั้งที่เกิดจากการพิจารณาผลการสอบที่ทุจริตและผิดกฎหมาย

การบริหารงานบุคคลภาครัฐ (การบรรจุและแต่งตั้ง/ข้าราชการส่วนท้องถิ่น)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตําบล เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกโดยการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตําบล พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 (ข้อ 6 และข้อ 8.5)
  2. ประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัดมหาสารคาม เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกโดยการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตําบล พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 (ข้อ 8.5)

องค์การบริหารส่วนตําบลที่ประสงค์จะสอบแข่งขันเพื่อสรรหาบุคคลเป็นพนักงาน ส่วนตําบล จะต้องมีหน่วยงานกลางที่คณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลคัดเลือกจากสถาบันการศึกษา หรือจากหน่วยงานของรัฐที่เห็นสมควร เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบแข่งขันทําหน้าที่ผลิตข้อสอบ ตรวจข้อสอบ และประมวลผลคะแนนหรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องให้แก่องค์การบริหารส่วนตําบล และเพื่อความโปร่งใสอาจมีการตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละขั้นตอน อย่างชัดเจนเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ตามข้อ 5 ของประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตําบล เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกโดยการสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตําบล พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 โดยในการวัดผล การสอบแข่งขัน ผู้เข้าสอบจะต้องมีความรู้ความสามารถทั่วไป ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะสําหรับ ตําาแหน่ง และภาคความเหมาะสมกับตําแหน่ง ในระดับดีทุกส่วน ซึ่งหลักเกณฑ์ตามข้อ 8.5 ของประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตําบลฯ ดังกล่าว ประกอบกับข้อ 8.5 ของประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัดมหาสารคาม เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการคัดเลือกโดยการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตําบล พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 กําหนดว่า การตัดสินว่าผู้ใดเป็นผู้สอบแข่งขันได้ให้ถือเกณฑ์ว่าต้องเป็น ผู้สอบได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของคะแนนเต็มแต่ละภาค ทั้งนี้ เพื่อให้การสอบแข่งขันเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม และมีมาตรฐาน เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นธรรมแก่ผู้สมัครสอบแข่งขัน ทุกคน และเพื่อให้องค์การบริหารส่วนตําบลได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตําแหน่งหน้าที่เข้ารับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานส่วนตําบล อันจะเป็นการผดุงไว้ซึ่งระบบคุณธรรมในการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม

เมื่อในการดําเนินการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตําบล ขององค์การบริหารส่วนตําบล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ตามประกาศองค์การบริหารส่วนตําบล เรื่อง การคัดเลือกโดยการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตําบล ระดับ 1 ระดับ 2 และระดับ 3 ประจําปีงบประมาณ 2557 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ฟ้องคดีสอบไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 ในแต่ละภาคที่สอบ แต่ได้มีการปลอมเอกสารแสดงผลคะแนนสอบ ของผู้สอบให้แตกต่างไปจากผลคะแนนการสอบที่แท้จริง อันเป็นการกระทําโดยทุจริตและผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง เพื่อให้เข้าใจว่าผู้สอบบางรายรวมทั้งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่สอบได้ตามเกณฑ์ ที่กําหนด และรายงานผลคะแนนการสอบของผู้ฟ้องคดีต่อคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัดมหาสารคาม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติเห็นชอบให้บรรจุและแต่งตั้งผู้ฟ้องคดี เป็นพนักงานส่วนตําบล ทั้ง ๆ ที่ผู้ฟ้องคดีมีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กําหนดไว้ มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้ความเห็นชอบดังกล่าว จึงเป็นมติที่เกิดจากการพิจารณาผลการสอบที่ทุจริตและผิดกฎหมาย อย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ไม่ใช่เป็นเพียงความบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นตามปกติในการจัดสอบแข่งขัน เมื่อนายกองค์การบริหารส่วนตําบล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้มีคําสั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีโดยอาศัยมติดังกล่าว คําสั่งนั้นจึงเป็นคําสั่งทางปกครองที่มีลักษณะผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ในทางกฎหมายถือเสมือนว่าไม่มีการออกคําสั่งทางปกครอง ไม่ว่าการทุจริตหรือการแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้นจะเกิดจากการกระทําของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคําสั่ง ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตําแหน่งตั้งแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง จึงชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี

โดยสรุป คําสั่งบรรจุและแต่งตั้ง บุคคลเป็นพนักงานส่วนตําบลที่ออกโดยอาศัยมติของ ก.อบต. จังหวัด ซึ่งเกิดจากการพิจารณา ผลการสอบที่ทุจริตและผิดกฎหมาย เป็นคําสั่งทางปกครองที่มีลักษณะผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ในทางกฎหมายถือเสมือนว่าไม่มีการออกคําสั่งทางปกครอง ไม่ว่าการทุจริตนั้นจะเกิดจากการกระทําของผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งหรือไม่ก็ตาม

คําสําคัญ : ข้าราชการส่วนท้องถิ่น/พนักงานส่วนตําาบล/คําสั่งทางปกครองที่มีลักษณะผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง/การทุจริตผลการสอบ/การปลอมแปลงเอกสาร/การสอบแข่งขัน

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ. 3/2566

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง