การผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาทางปกครองเมื่อค่าปรับจะเกินร้อยละสิบ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง 0636364547

การผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาทางปกครองเมื่อค่าปรับจะเกินร้อยละสิบ 

สัญญาทางปกครอง : การใช้ดุลพินิจผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาทางปกครองกรณีค่าปรับจะเกินร้อยละ 10

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 131 (ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 183)

เมื่อคดีนี้เป็นข้อพิพาทตามสัญญาจ้างเหมาปรับปรุงทางเดินเท้าและปรับปรุงภูมิทัศน์ระหว่างเทศบาลนคร (ผู้ถูกฟ้องคดี) กับผู้ฟ้องคดี อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งมีข้อกําหนดในสัญญาเรื่องเบี้ยปรับด้วย การพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวกับเบี้ยปรับ ศาลจึงชอบที่จะ นําเอาบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนที่ว่าด้วยเบี้ยปรับมาใช้บังคับได้ โดยอนุโลม สําหรับข้อ 131 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหาร ราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 นั้น เป็นเพียงการกําหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการที่หน่วยงานของรัฐใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามอําเภอใจ โดยการนําเงินค่าปรับจํานวนร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้างมาเป็นหลักเกณฑ์หนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณาบอกเลิกสัญญาเท่านั้น แต่มิได้หมายความว่าค่าปรับตามสัญญาจะต้องจํากัดไว้ไม่เกินจํานวนร้อยละสิบ ของวงเงินค่าจ้างหรือค่าพัสดุ และหน่วยงานของรัฐจะต้องพิจารณาบอกเลิกสัญญาเมื่อจํานวนเงินค่าปรับเกินกว่าร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างหรือค่าพัสดุแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่ผู้รับจ้างมีหนังสือยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ แม้เงินค่าปรับจะเกินกว่าร้อยละสิบของวงเงินค่าจ้างหรือค่าพัสดุก็มิได้หมายความว่าหน่วยงานของรัฐจะผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาโดยมิได้พิจารณาถึงผลงานของผู้รับจ้างว่าจะสามารถทํางานให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่สมควรหรือไม่ เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงต้องใช้ดุลพินิจผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จําเป็น การพิจารณาค่าปรับที่เหมาะสมจึงต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของคู่สัญญาในการเคารพและปฏิบัติตามข้อสัญญา พฤติการณ์แวดล้อมอื่น ๆ รวมทั้งประโยชน์ของทางราชการและประโยชน์สาธารณะ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เหตุที่ผู้ฟ้องคดีทํางานล่าช้ากว่ากําหนดเวลาในสัญญา เกิดจากความไม่เอาใจใส่และไม่ตั้งใจทํางานของผู้ฟ้องคดีเอง ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งว่ายินยอมชําระค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น และประสงค์ที่จะดําเนินงานตามสัญญาต่อไปนั้น การจัดหาผู้รับจ้างใหม่ตามระเบียบของทางราชการย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดทําบริการสาธารณะให้ต้องเนิ่นช้าออกไป ประกอบกับไม่ได้มีอุปสรรคที่ร้ายแรงถึงขนาดที่จะไม่สามารถทํางานให้แล้วเสร็จได้ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาและให้ผู้ฟ้องคดีทํางานต่อไปแม้จะมีค่าปรับเกินกว่าร้อยละสิบของค่าจ้างตามสัญญา จึงชอบด้วยข้อ 131 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 อย่างไรก็ตาม การพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวต้องกระทําเพียงเท่าที่จําเป็นเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังสิ้นสุดสัญญา แม้ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ที่จะทํางานต่อจนแล้วเสร็จ และยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น แต่พฤติการณ์การทํางานของผู้ฟ้องคดีที่ยังคงทํางานล่าช้า ขาดแคลนแรงงาน ไม่สามารถกําหนดวันทํางานแล้วเสร็จที่แน่นอน ไม่สามารถทํางานให้แล้วเสร็จตามที่ให้คํามั่นไว้ และไม่จัดส่งแผนงานก่อสร้างแม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะได้มีหนังสือทวงถามเร่งรัดหลายครั้ง ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่าผู้ฟ้องคดีไม่สามารถทํางานให้แล้วเสร็จและผู้ถูกฟ้องคดีควรพิจารณาบอกเลิกสัญญากับผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาออกไปถึง 515 วัน นับแต่วันที่ครบกําหนดอายุสัญญาย่อมเป็นผลเสียทั้งต่อผู้ฟ้องคดีที่ต้องเสียค่าปรับเพิ่มขึ้นและยังเป็นผลเสียต่อผู้ถูกฟ้องคดีในการจัดทําบริการสาธารณะที่ต้องล่าช้าออกไปเกินสมควร จึงไม่ถือเป็นการใช้ดุลพินิจเท่าที่จําเป็นในการผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 131 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นฯ ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของผู้ถูกฟ้องคดีทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินแล้ว เห็นว่า ค่าปรับตามสัญญาเป็นค่าปรับที่สูงเกินส่วนเห็นควรลดค่าปรับให้แก่ผู้ฟ้องคดี ลงเหลือร้อยละ 50 ของจํานวนค่าปรับตามสัญญา

โดยสรุป การใช้ดุลพินิจผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญากรณีค่าปรับจะเกินร้อยละสิบ ข้อ 131 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 (ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 183) เป็นการกําหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการที่หน่วยงานของรัฐจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเพื่อไม่ให้เกิดกรณีการบอกเลิกสัญญาตามอําเภอใจ โดยการนําเงินค่าปรับจํานวนร้อยละสิบของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้างมาเป็นหลักเกณฑ์หนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณาบอกเลิกสัญญาเท่านั้น แต่มิได้หมายความว่าค่าปรับตามสัญญาจะต้องจํากัดไว้ไม่เกินจํานวนร้อยละสิบ และหน่วยงานของรัฐจะต้องบอกเลิกสัญญาเมื่อจํานวนเงินค่าปรับเกินกว่าร้อยละสิบ ทุกกรณีไปแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่ผู้รับจ้างมีหนังสือยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ แม้เงินค่าปรับจะเกินกว่าร้อยละสิบ นั้น ก็มิได้หมายความว่าหน่วยงานของรัฐจะผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องพิจารณาถึงผลงานของผู้รับจ้างว่าจะสามารถทํางานให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่สมควรหรือไม่ เนื่องจากการใช้ดุลพินิจผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวต้องกระทําเท่าที่จําเป็น โดยพิจารณาถึงข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของคู่สัญญาในการเคารพและปฏิบัติตามข้อสัญญาพฤติการณ์แวดล้อมอื่น ๆ รวมทั้งประโยชน์ของทางราชการและประโยชน์สาธารณะเป็นกรณีไปเป็นสําคัญ 

คําสําคัญ : สัญญาทางปกครอง,สัญญาจ้างเหมาปรับปรุงทางเดินเท้าและปรับปรุงภูมิทัศน์,สัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค,ค่าปรับ,ค่าปรับเกินร้อยละสิบ,ค่าปรับสูงเกินส่วน,การพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาทางปกครอง,ดุลพินิจ,การใช้ดุลพินิจตามอําเภอใจ

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.324/2566

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง