เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีซ้ำ | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.6

การฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ และการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

สวัสดีครับทนายพฤกษ์คดีปกครอง Podcast ในตอนนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฟ้องคดีปกครอง ในเรื่อง ฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ และการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาตรวจรับคำฟ้องของศาลปกครองครับ

การฟ้องซ้อน เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว และในคดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลปกครองอีก ซึ่งตามข้อ 36 (1) แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 บัญญัติว่า นับแต่เวลาที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว คดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาและผลแห่งการนี้ ห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีก

หลักการสำคัญของการฟ้องซ้อน
(1) ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว
(2) ในคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
(3) ผู้ฟ้องคดีคนเดียวกันยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีก

ซึ่งเรื่องเดียวกัน หมายถึง เรื่องที่อาศัยเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีที่มีอยู่ก่อนฟ้อง หรือสืบเนื่องมาจากมูลกรณีเดียวกันกับคดีก่อน แม้จะเปลี่ยนแปลงข้ออ้างหรือสภาพแห่งข้อหาหรือข้อเรียกร้องให้รับผิดต่างกัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะกฎหมายประสงค์ที่จะให้สิทธิหรือมูลฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้นได้ฟ้องให้เสร็จสิ้นในคดีเดียวกัน หากมีข้อขาดตกบกพร่อง ก็อาจขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องจะฟ้องเป็นคดีใหม่อีกไม่ได้

การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ เป็นกรณีที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นใดแห่งคดีแล้วมีการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยแล้ว ซึ่งตามข้อ 96 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 บัญญัติว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น เว้นแต่
(1) การแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยตามข้อ 95
(2) การพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ตามมาตรา 75
(3) การพิจารณาใหม่แห่งคดีที่สำนวนคดีหรือเอกสารในสำนวนคดีสูญหายหรือบุบสลายตามข้อ 21
(4) การยื่น การรับ หรือไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา 73
(5) การดำเนินการเกี่ยวกับการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวในระหว่างการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งคำอุทธรณ์อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น ตามข้อ 104 หรือ ข้อ 106
(6) การที่ศาลปกครองสูงสุดส่งคดีคืนไปยังศาลปกครองชั้นต้นที่ได้พิจารณาและพิพากษาหรือมีคำสั่งคดีนั้นเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่หรือพิจารณาและพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ ตามข้อ 112(7) การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง

หลักการสำคัญของการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
(1) ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว
(2) ห้ามศาลดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น
(3) ห้ามดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น

การฟ้องซ้ำ เป็นกรณีที่ศาลปกครองได้พิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดถึงที่สุดแล้ว และคู่กรณีเดียวกันได้นำคดีเดียวกันที่ศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วมาฟ้องต่อศาลอีก โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีก่อนที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ซึ่งตามข้อ 97 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 บัญญัติว่า คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่กรณีเดียวกันฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน

หลักการสำคัญของการฟ้องซ้ำ
(1) คดีมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดถึงที่สุดแล้ว
(2) คู่กรณีเดียวกันในคดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดนั้นฟ้องกันอีก
(3) ฟ้องในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน

โดยสรุป ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองหากการฟ้องคดีนั้นเป็นการฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำ ศาลก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

สำหรับสาระความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรติดตามรับชม ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ได้ ในตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีค่าธรรมเนียมศาล | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.5



https://www.youtube.com/watch?v=bS6fMKJ2VmY

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีค่าธรรมเนียมศาล

สวัสดีครับทนายพฤกษ์คดีปกครอง Podcast ในตอนนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมศาลในคดีปกครอง ซึ่งเรื่องค่าธรรมเนียมศาลนี้ก็ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาตรวจรับคำฟ้องของศาลปกครองครับ

ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยทั่วไปแล้วไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่กรณีการฟ้องคดีที่มีคำขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์ อันเนื่องมาจากคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่น หรือคดีพิพาทที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) และ (4) ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีต่อศาล ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดสำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ตามมาตรา 45 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมศาล กรณีการฟ้องคดีปกครอง ขอให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) สำหรับทุนทรัพย์ไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 2 แต่ไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับทุนทรัพย์ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ให้เสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 0.1

ในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระค่าธรรมเนียมศาลก็อาจมีคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลยื่นต่อศาล โดยมาตรา 45/1 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า การฟ้องคดีที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา 45 วรรคสี่ หากคู่กรณีได้ยื่นคำขอต่อศาลโดยอ้างว่าไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล หรือโดยสถานะของผู้ขอถ้าไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร ถ้าศาลเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะรับฟ้องไว้พิจารณา หรือในกรณีอุทธรณ์ซึ่งศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรที่จะอุทธรณ์ได้ แล้วแต่กรณี และศาลได้ไต่สวนแล้วเห็นว่ามีเหตุตามคำขอจริงก็ให้ศาลอนุญาตให้คู่กรณีนั้นดำเนินคดี โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดโดยเฉพาะบางส่วน คำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้เป็นที่สุด

ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าว ผู้มีสิทธิยื่นคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ได้แก่คู่กรณีที่ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระค่าธรรมเนียมศาล หรือโดยสถานะของผู้ขอถ้าไม่ได้รับยกเว้นได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร โดยในการยื่นคำขอต้องทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลปกครองชั้นต้นพร้อมกับคำฟ้องหรือคำอุทธรณ์แล้วแต่กรณี หรือถ้าไม่ได้ยื่นพร้อมกับคำฟ้องหรือคำอุทธรณ์อาจยื่นคำขอต่อศาลปกครองชั้นต้นในภายหลังก็ได้

เมื่อได้ยื่นคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลแล้ว กรณีศาลมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด คำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้เป็นที่สุดอุทธรณ์ไม่ได้ แต่กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเฉพาะบางส่วน หรือมีคำสั่งให้ยกคำขอผู้ยื่นคำขอมีสิทธิดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

ประการที่ 1 การยื่นคำขอให้พิจารณาคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลใหม่ เพื่ออนุญาตให้นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าไม่มีทรัพย์สินเพียงพอหรือโดยสถานะถ้าไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร โดยยื่นคำร้องต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่ง และเมื่อศาลมีคำสั่งเช่นใดก็ให้เป็นที่สุด

ประการที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด

โดยในการดำเนินการนี้ ผู้ยื่นคำขออาจใช้สิทธิขอพิจารณาคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลใหม่หรือยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเมื่อใช้สิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วใช้สิทธิอีกประการไม่ได้

สำหรับในเรื่องค่าธรรมเนียมศาลนี้ กรณีคดีที่ต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมศาลก็อาจมีสิทธิได้รับการคืนค่าธรรมเนียมศาล แบ่งได้ 3 กรณี ดังนี้

  1. กรณีศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลก็จะมีคำคำสั่งให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
  2. กรณีถอนคำฟ้อง เมื่อศาลอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีถอนคำฟ้อง และสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลก็จะสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาล
  3. กรณีศาลมีคำพิพากษาให้ชนะคดีทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งตามมาตรา 72 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีให้ศาลปกครองมีคำสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของการชนะคดี ดังนั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ศาลก็จะมีคำสั่งในเรื่องการคืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนของการชนะคดีไว้ในคำพิพากษาด้วย

โดยสรุปครับ ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยทั่วไปจะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่คดีที่มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งหากไม่ดำเนินการชำระให้ถูกต้องครบถ้วนศาลก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา แต่ทั้งนี้หากผู้ฟ้องคดีไม่มีทรัพย์สินเพียงพอจะชำระก็สามารถมีคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้ตามรายละเอียดที่ได้กล่าวมาแล้วครับ

สำหรับสาระความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรติดตามรับชม ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ได้ ในตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.4



https://www.youtube.com/watch?v=Ueqp_yIVKfs

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง 

สวัสดีครับ ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ในตอนนี้จะขอนำเสนอในเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง ครับ

ระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง ถือว่าเป็นอีกเงื่อนไขการฟ้องคดีที่มีความสำคัญต่อการฟ้องคดีต่อศาลปกครองครับ เพราะหากยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี ศาลปกครองก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยในเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองนี้ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ตามมาตรา 49 มาตรา 51 และมาตรา 52 นอกเหนือจากนั้น กรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ ระยะเวลาการฟ้องคดีดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น

กรณีระยะเวลาการฟ้องคดี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ 4 กรณี คือ

กรณีที่ 1. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) กรณีการเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครอง กำหนดให้ยื่นฟ้องคดีภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) กรณีหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนั้นล่าช้าเกินสมควร ให้ยื่นฟ้องคดีนับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผล เว้นแต่จะมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

กรณีที่ 2. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) เกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

กรณีที่ 3. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) เกี่ยวกับข้อพิพาทในสัญญาทางปกครอง ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 5 ปี นับแต่วันรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

กรณีที่ 4. การฟ้องคดีตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นกรณีการฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะบุคคล ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้

การฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินโดยที่ดินบางส่วนได้ทับที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีในฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณะภายในท้องที่ของตนซึ่งรวมถึงที่สาธารณะอันเป็นที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันด้วย  ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับคุ้มครองประโยชน์สาธารณะจะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ตามมาตรา 52

การฟ้องคดีเกี่ยวกับสถานะของบุคคล โดยสถานะบุคคล หมายถึง สถานะตามกฎหมายที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิในการเป็นบุคคลหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบุคคลโดยบุคคลจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธินั้นหรือไม่ต้องพิจารณาจากความเป็นบุคคลของผู้นั้นเป็นหลัก สถานะดังกล่าวอาจจะเป็นสถานะของบุคคลในประเทศชาติ เช่น สัญชาติของบุคคล

ต่อมา เป็นกรณีการฟ้องคดีที่เป็นประโยชน์แก่สวนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นกรณีที่หากศาลเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเอง หรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลจะรับไว้พิจารณาก็ได้ และคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาในกรณีเช่นนี้ย่อมเป็นที่สุด ครับ

การฟ้องคดีที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ยกตัวอย่าง เช่น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีประกอบกิจการโรงงานก่อให้เกิดสิ่งปฏิกูล และมลภาวะทางเสียงอันเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนรำคาญ และเสียสุขภาพ ผู้ฟ้องคดีได้ ร้องเรียนต่อสำนักงานเขตและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแต่มิได้รับการเยียวยาแก้ไข ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แต่เมื่อปรากฏว่าเหตุเดือดร้อนรำคาญยังคงมีอยู่จนถึงวันฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแก้ไขความเดือดร้อนรำคาญดังกล่าว อีกทั้งการไม่ปรับปรุงแก้ไขโรงงานอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนจำนวนมาก การรับคำฟ้องไว้พิจารณาจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

การฟ้องคดีที่มีเหตุจำเป็นอื่น เช่น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือต่อผู้ถูกฟ้องคดีขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วมีเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีติดต่อและรับว่าจะดำเนินการแก้ไขเยียวยาให้กับผู้ฟ้องคดีมาโดยตลอด ทำให้เชื่อว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะดำเนินการให้อันเป็นผลให้ผู้ฟ้องคดียื่นเรื่องร้องทุกข์เลยกำหนดเวลา จึงเป็นกรณีจำเป็นที่ต้องรับไว้พิจารณาตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

โดยสรุปครับ การฟ้องคดีปกครองต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลภายในระยะเวลาการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 มาตรา 51 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 นอกเหนือจากนั้น กรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ ระยะเวลาการฟ้องคดีดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น หากยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ศาลปกครองก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณาครับ

สำหรับสาระความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรติดตามรับชม ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ได้ ในตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลปกครอง | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.3



https://www.youtube.com/watch?v=pGlxsW4Xv3E

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

สวัสดีครับ รายการ ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ในตอนนี้จะขอนำเสนอในเรื่องเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด ครับ

การดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า ในกรณีที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้นหรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด สามารถแยกพิจารณาออกได้ดังนี้

กรณีแรก เป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายไว้โดยเฉพาะ

เช่น การอุทธรณ์ เป็นกรณีที่หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องดำเนินการโต้แย้งคัดค้านคำสั่งทางปกครองให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจึงจะนำคดีมาฟ้องคดีต่อศาล และการร้องทุกข์ เป็นกรณีที่เปิดโอกาสให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้โต้แย้งถึงเหตุคับข้องใจในการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพื่อผู้บังคับบัญชาจะได้มีโอกาสทบทวน และแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือชี้แจงเหตุผลก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยกรณีนี้หากมีกฎหมายกำหนดเรื่องการอุทธรณ์หรือโต้แย้งไว้โดยเฉพาะก็จะใช้ระยเวลาและการดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายเฉพาะกำหนดไว้

กรณีที่สอง เป็นกรณีที่กฎหมายไม่ได้กำหนดขั้นตอนหรือวิธีการอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ

ในกรณีที่เป็นคำสั่งทางปกครอง เช่น คำสั่งไม่อนุญาต คำวินิจฉัยอุทธรณ์ และเป็นคำสั่งที่มิได้ออกโดยคณะกรรมการหรือรัฐมนตรี จะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 48 ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว  ดังนั้น คำสั่งทางปกครองที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะในเรื่องขั้นตอน และระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้ง จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและระยะเวลาตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

กรณีที่สาม กรณีคำสั่งทางปกครองที่ไม่ต้องอุทธรณ์

มาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติว่า คำสั่งทางปกครองของบรรดาคณะกรรมการต่างๆ ไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายหรือไม่ ให้คู่กรณีมีสิทธิโต้แย้งต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น แต่ถ้าคณะกรรมการดังกล่าวเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท สิทธิการอุทธรณ์และกำหนดเวลาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา จากบทบัญญัติดังกล่าวคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยคณะกรรมการต่างๆ ไม่อยู่ภายใต้บังคับให้ต้องอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เนื่องจากคณะกรรมการต่างๆ เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจทางปกครองโดยเฉพาะ และไม่อยู่ในระบบสายการบังคับบัญชา คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการจึงเป็นที่สุดไม่มีองค์กรใดที่สูงกว่าที่จะพิจารณาคำอุทธรณ์ได้ ดังนั้น คู่กรณีจึงต้องโต้แย้งคำสั่งทางปกครองนั้นโดยฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยตรง เว้นแต่จะมีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้มีการโต้แย้งคำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการได้

นอกจากนี้ มาตรา 44 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าคำสั่งทางปกครองใดที่มิได้ออกโดยรัฐมนตรีเท่านั้นที่ต้องอุทธรณ์ เนื่องจากรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายเฉพาะฉบับใดก็ถือว่าสูงสุดตามกฎหมายฉบับนั้นๆ ดังนั้น คู่กรณีจึงต้องโต้แย้งคำสั่งทางปกครองดังกล่าวต่อศาลปกครองโดยตรง

กรณีที่ 4 เป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้ฟ้องคดีต่อศาล

ในบางกรณีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะกรณีหากผู้ฟ้องคดีไม่พอใจผลของคำสั่ง ให้มีสิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนก่อนการฟ้องคดีปกครอง เช่น มาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กำหนดให้ฝ่ายที่ไม่พอใจในคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินต้องดำเนินการฟ้องต่อศาลภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง  ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้นำคดีมาฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธินำข้อพิพาทเกี่ยวกับการขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีมาฟ้องต่อศาลตามมาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน การที่ผู้ฟ้องคดีทำการคัดค้านและยื่นอุทธรณ์มิได้มีผลเป็นการอุทธรณ์ตามกฎหมายแต่อย่างใด สิทธิในการฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีหมดไปเมื่อพ้นระยะเวลาหกสิบวันแล้ว

โดยสรุป ในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากนำคดีฟ้องต่อศาลปกครองโดยยังไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ศาลก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา หรือบางกรณีกฎหมายมิได้กำหนดให้อุทธรณ์แต่ให้นำคดียื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้เลย หากผู้ฟ้องคดีไปดำเนินการอุทธรณ์อาจทำให้ระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองล่วงพ้นไป

สำหรับสาระความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรติดตามรับชม Youtube ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ได้ ในตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีผู้มีสิทธิฟ้องคดี | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.2



https://www.youtube.com/watch?v=0lKl8WJF434

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง

สวัสดีครับ รายการ ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ในตอนนี้จะขอนำเสนอในเรื่องเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีผู้มีสิทธิฟ้องคดี ครับ

ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง นอกเหนือจากการพิจารณาว่าคดีนั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ สิ่งสำคัญประการต่อมาที่ต้องพิจารณา ก็คือเรื่องเงื่อนไขเกี่ยวกับการฟ้องคดีปกครอง โดยเงื่อนไขในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ศาลปกครองจะต้องพิจารณาก่อนว่า คดีที่ฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ศาลจะสามารถรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาได้หรือไม่ ซึ่งเงื่อนไขเกี่ยวกับการฟ้องคดีปกครองที่เราจะมาพูดถึงกันในตอนนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ครับ

ในเรื่องผู้มีสิทธิฟ้องคดีนั้น บทบัญญัติมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติว่า ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอานาจศาลปกครองตามมาตรา 9 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา 72 ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าวสามารถพิจารณาการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ได้ 3 ประการ โดย

ประการที่ 1 ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในเรื่องนั้น แยกพิจารณาได้ 2 กรณี

(1) ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย

ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองในกรณีนี้ คือ ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำ หรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายตามความหมายนี้ แม้เพียงสิทธิประโยชน์หรือสถานภาพทางกฎหมายของตนถูกกระทบกระเทือนจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งถือว่ามีประโยชน์เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสีย ก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้

(2) ผู้ที่อาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยง

ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองในกรณีนี้ คือ ผู้ที่อยู่ในสถานะที่อาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ โดยไม่จำต้องรอให้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากเหตุดังกล่าวก่อน

ประการที่ 2 ความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนั้นเกิดจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 9 วรรคหนึ่ง โดยความเดือดร้อนเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนั้น นอกจากจะเกิดจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว ยังรวมถึงการมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 9 ด้วย กล่าวคือ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คือมีประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียดังกล่าวถูกกระทบกระเทือน จากมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (6)

ประการที่ 3 การแก้ไขเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนั้นต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 72 คือ กรณีคำขอให้ศาลกำหนดคำบังคับ นั้น ต้องเป็นคำบังคับที่ศาลสามารถกำหนดคำบังคับให้ได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้ง

ผู้มีสิทธิฟ้องคดีนอกจากผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรือผู้ที่อาจจะเดือนร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังรวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีสิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

โดยตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า กฎ หรือการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้มีสิทธิเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองได้ ในการเสนอความเห็นดังกล่าวผู้ตรวจการแผ่นดินมีสิทธิและหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ในการฟ้องคดีและดำเนินคดีนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินอาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้ตามข้อ 28 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ

จากที่ได้กล่าวมาเกี่ยวกับเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญครับ เพราะการฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดี ศาลก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาครับ

สำหรับสาระความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรติดตามรับชม Youtube ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ได้ ในตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง

คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.1



https://www.youtube.com/watch?v=lvsc68g_lyE

คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

สวัสดีครับ รายการ ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ในตอนนี้จะขอนำเสนอในเรื่อง คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติประเภทของคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เป็น 6 ประเภทคดี ได้แก่

ประเภทคดีที่ 1. คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1))

คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) นี้ เป็นกรณีหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจ นอกเหนืออำนาจ  ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  ไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น  ไม่สุจริต มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ซึ่งอาจแบ่งพิจารณาได้ 3 กรณี คือ

  1. กรณีคดีพิพาทอันเกิดจากการออกกฎโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 3 ได้ให้ความหมายของ “กฎ” ไว้ว่า “กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลโดยเป็นการเฉพาะ

  1. กรณีคดีพิพาทอันเกิดจากการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ได้ให้ความหมายของ “คำสั่งทางปกครอง” หมายถึง การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

  1. กรณีคดีพิพาทอันเกิดจากการกระทำอื่นใด

ซึ่งการกระทำอื่นหมายถึง การใช้อำนาจทางปกครองตามกฏหมายโดยเป็นการกระทำทางปกครองที่เรียกว่า ปฏิบัติการทางปกครอง คือการใช้อำนาจตามกฏหมายเพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการออกกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฏหมายที่มีลักษณะเป็นนิติกรรมทางปกครอง

ประเภทคดีที่ 2. คดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2)) ซึ่งคดีพิพาทดังกล่าวสามารถแบ่ง พิจารณาได้ดังนี้

กรณีคดีพิพาทเกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งการละเลยต่อหน้าที่ หมายความว่า มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ แต่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกลับเพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

ต่อมา เป็นกรณีคดีพิพาทเกี่ยวกับปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร หมายความว่า กฎหมายกำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติและได้ปฏิบัติหน้าที่นั้นแล้ว แต่ใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่นั้นนานกว่าที่พึงจะปฏิบัติ

ประเภทคดีที่ 3. คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3)

การกระทำละเมิด คือ การกระทำใดๆ ต่อบุคคลอื่นโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 อย่างไรก็ตาม คดีละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 2 ประการ คือ (1) เป็นคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และ

(2) เป็นคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

ประเภทคดีที่ 4. คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4))

ประเภทคดีที่ 5. คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้บังคับให้บุคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (5))

กรณีนี้เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าหากมีข้อเท็จจริงใดเกิดขึ้นแล้ว หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคลต้องกระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นข้อเท็จจริงที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น

ประเภทที่ 6. คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (6))

เช่น กรณีข้อพิพาทอันเกิดจากสัญญาทางปกครอง คู่สัญญาอาจมีการกำหนดให้มีการระงับข้อพิพาทนั้นด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 กำหนดให้การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาด และเมื่อข้อพิพาทจากสัญญาทางปกครองเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีปกครอง  ดังนั้น การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (6) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545

สำหรับคดีพิพาทที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้แก่

  1. การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร
  2. การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฏหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายธุรการ
  3. คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงานกลาง ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือศาลชำนัญพิเศษอื่นๆ

จากที่ได้กล่าวมาเกี่ยวกับคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญครับ เพราะก่อนการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง นั้น เราควรต้องพิจารณาก่อนว่าข้อพิพาทดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้น อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ เพราะหากเป็นคดีพิพาทที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

สำหรับสาระความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรติดตามรับชม ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ได้ ในตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง

ผิดสัญญาทางปกครอง เอกชนมีสิทธิได้รับค่าการงานที่ทำไปหรือไม่



https://www.youtube.com/watch?v=BJM-83XHJyw

ผิดสัญญาทางปกครอง เอกชนมีสิทธิได้รับค่าการงานที่ทำไปหรือไม่

            สวัสดีครับเรื่องเล่าคดีปกครองกับทนายพฤกษ์ คดีปกครอง ในตอนนี้จะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับ กรณีมีการผิดสัญญาทางปกครองซึ่งคู่สัญญาฝั่งหน่วยงานของรัฐได้บอกเลิกสัญญา และริบหลักประกันสัญญาไว้เป็นค่าปรับ คู่สัญญาฝั่งบริษัทเอกชนจะสามารถดำเนินการอย่างใดได้บ้าง

            ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เนื่องจากเทศบาลได้จัดทำโครงการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนในท้องที่ด้วยการติดกล้องวงจรปิดหรือกล้อง cctv โดยผู้ฟ้องคดีเป็นบริษัทเอกชน ซึ่งชนะการสอบราคาและได้ทำสัญญาซื้อขายกล้องวงจรปิดหรือกล้อง cctv พร้อมติดตั้งกับเทศบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดและความปลอดภัยในท้องที่ ซึ่งถือเป็นการจัดทำบริการสาธารณะในอำนาจหน้าที่ของเทศบาล สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบกล้อง cctv พร้อมติดตั้งให้แก่เทศบาล โดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้รายงานความเห็นต่อนายกเทศมนตรีว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและรายละเอียดแนบท้ายสัญญาอย่างครบถ้วน จึงไม่ทำการตรวจรับงานในครั้งนี้ เทศบาลเห็นว่าผู้ฟ้องคดีผิดสัญญาจึงมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันสัญญาไว้เป็นค่าปรับ โดยสงวนสิทธิ์ไม่รับกล้องวงจรปิดที่ผู้ฟ้องคดีนำมาติดตั้งไว้ และให้ผู้ฟ้องคดีนำกล้องวงจรปิดที่เกี่ยวข้องกับคืนไป เนื่องจากเป็นทรัพย์ที่รื้อถอนได้ เพื่อให้แต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ากล้องวงจรปิดที่ส่งมอบเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาแล้ว การที่เทศบาลไม่ตรวจรับมอบงานเป็นการผิดสัญญา ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือทวงถามให้เทศบาลชำระเงิน แต่เทศบาลเพิกเฉย จึงฟ้องคดีต่อศาลศาลปกครอง เพื่อขอให้เทศบาลชำระค่ากล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไปแล้วให้แก่ผู้ฟ้องคดี

            ในคดีนี้ศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบกล้องวงจรปิดพร้อมอุปกรณ์และมีการดำเนินการเข้าทดสอบตามวันเวลาที่เทศบาลกำหนด โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมทำการตรวจสอบ ต่อมา เทศบาลได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีเข้าดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีจึงได้ทำการติดตั้งกล้องวงจรปิดและมีหนังสือขอส่งมอบงาน โดยมีการแก้ไขและส่งมอบงานครั้งที่ 2 แต่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ภายหลังการตรวจสอบแล้วได้รายงานผลการตรวจสอบว่า ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติไม่เป็นไปตามสัญญา เทศบาลจึงมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันสัญญาไว้เป็นค่าปรับ และให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการนำกล้องวงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกลับคืนไป ดังนั้น ในกรณีนี้การที่ผู้ฟ้องคดีส่งมอบกล้องวงจรปิดพร้อมติดตั้งไม่ครบถ้วนตามที่ระบุในสัญญาผู้ฟ้องคดีจึงเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญา เทศบาลมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งการบอกเลิกสัญญาส่งผลให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม อย่างไรก็ดีในการไต่สวนพยานผู้เชี่ยวชาญของศาลปกครองและจากรายงานของพยานผู้เชี่ยวชาญระบุว่ากล้องวงจรปิดของผู้ฟ้องคดีสามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งถ้อยคำของพยานซึ่งเป็นผู้ใช้กล้องวงจรปิดระบุว่าสามารถมองเห็นภาพทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จึงเห็นได้ว่า กล้องวงจรปิดตามสัญญาดังกล่าวนั้นใช้งานได้ เทศบาลจึงต้องใช้ค่าการงานในการติดตั้งกล้องวงจรปิดในส่วนที่สามารถใช้งานได้ให้แก่ผู้ฟ้องคดี และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า จากการตรวจสอบอุปกรณ์กล้องวงจรปิดตามสัญญาจำนวน 14 รายการ เป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีปัญหา 11 รายการ และพบปัญหาการติดตั้งและใช้งาน 3 รายการ จึงพิพากษาให้เทศบาลชำระเงินตามสัญญาในส่วนของอุปกรณ์ที่ไม่มีปัญหาในการติดตั้งและใช้งาน

            โดยสรุป จากเรื่องเล่าคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองในตอนนี้บริษัทเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญาหากมีการดำเนินการที่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องตามสัญญาโดยเป็นฝ่ายผิดสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายคือหน่วยงานของรัฐมีสิทธิที่จะไม่ตรวจรับงานตามสัญญาทางปกครองและบอกเลิกสัญญาได้โดยชอบ ซึ่งการเลิกสัญญาดังกล่าวส่งผลให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยในการกลับคืนสู่ฐานะเดิมนี้หมายถึงฐานะเดิมก่อนทำสัญญาหรือใกล้เคียงที่สุดที่สามารถทำได้ เช่นกรณีเกี่ยวกับส่วนที่เป็นการงานที่ได้กระทำให้ตามสัญญาและยอมให้ใช้ประโยชน์ซึ่งการที่จะชดใช้คืนให้ทำได้ด้วยการใช้เงินตามส่วนของค่างานนั้น หน่วยงานของรัฐจึงต้องชดใช้ค่าการงานที่ใช้ประโยชน์ได้ตามสัญญา

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายช่วยเหลือคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

ทำท่อระบายน้ำแต่ไม่มีป้ายเตือน เมื่อเกิดอุบัติเหตุใครต้องรับผิดชอบ



https://www.youtube.com/watch?v=ESwAmr6c2Yw

ทำท่อระบายน้ำแต่ไม่มีป้ายเตือน เมื่อเกิดอุบัติเหตุใครต้องรับผิดชอบ

สวัสดีครับเรื่องเล่าคดีปกครองกับทนายพฤกษ์ คดีปกครอง ในตอนนี้จะนำเสนอในเรื่องเกี่ยวกับอุบัติเหตุจากการสัญจรในทางสาธารณะอันเนื่องมาจากการการก่อสร้างหรือซ่อมแซมท่อหรือทางระบายน้ำและไม่มีการติดตั้งป้ายหรือสัญญาณเตือน

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เหตุเกิดจากเทศบาลได้ทำสัญญาจ้างบริษัทเอกชนซ่อมแซมท่อระบายน้ำในพื้นผิวถนน ต่อมาในเวลากลางคืนที่มีการซ่อมแซมท่อระบายน้ำที่ชำรุดบกพร่องตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ชนเข้ากับฝาท่อระบายน้ำที่ผู้รับจ้างวางขวางทางจราจรไว้ ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้ฟ้องคดีต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก จึงขอให้เทศบาลและผู้รับจ้างชดใช้ค่าเสียหาย แต่ก็ไม่ได้รับชดใช้ จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้เทศบาลและผู้รับจ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิด

ซึ่งในคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า ผู้รับจ้างจากเทศบาลซึ่งมีหน้าที่ซ่อมแซมฝาท่อระบายน้ำตามสัญญาจ้างจะต้องดำเนินการจัดหาและติดตั้งสิ่งป้องกันอันตรายตามจุดต่างๆที่มีการซ่อมแซมให้เพียงพอ การไม่ติดตั้งสิ่งป้องกันอันตรายหรือเครื่องหมายสัญญาณไฟต่างๆ เพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้ทางให้ทราบว่ามีการซ่อมแซม จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามสัญญาโดยประมาทเลินเล่อ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ส่วนเทศบาลซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเอกชนถือเป็นการมอบหมายให้เอกชนผู้รับจ้างดำเนินกิจการทางปกครองแทน มิได้สอดส่องดูแลอย่างเพียงพอเพื่อให้เอกชนผู้รับจ้างมีการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญา เทศบาลจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ผู้รับจ้างกระทำต่อผู้ฟ้องคดี

สำหรับในคดีนี้มีประเด็นค่าสินไหมทดแทนที่ศาลปกครองสูงสุดได้กำหนดให้ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี โดยให้เทศบาลและเอกชนผู้รับจ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ได้แก่

  1. ค่ารักษาพยาบาล เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาการบาดเจ็บและฟื้นฟูซ่อมแซมอวัยวะที่กระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุอันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิด
  2. ค่าจ้างพยาบาลพิเศษเฝ้าไข้
  3. ค่าใช้จ่ายของญาติที่มาดูแลระหว่างเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล
  4. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างเจ็บป่วย
  5. ค่าเสียหายเพื่อการเสียความสามารถในการประกอบการงานทั้งในเวลาปัจจุบันและอนาคต
  6. ค่าทนทุกข์ทรมานจากอาการบาดเจ็บและการรักษาพยาบาลนั้น

อย่างไรก็ตามในคดีนี้นอกเหนือจากศาลปกครองสูงสุดจะได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการทำละเมิดของเทศบาลและผู้รับจ้างแล้ว ยังได้วินิจฉัยภาวะการขับขี่รถจักรยานยนต์ของผู้ฟ้องคดีด้วย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีขับขี่รถจักรยานยนต์มาด้วยความเร็วสูง หากผู้ฟ้องคดีชะลอรถจักรยานยนต์และไม่ขับขี่ด้วยความเร็วสูง ก็อาจไม่เกิดเหตุร้ายแรงถึงขนาดตามที่เกิดขึ้น การบาดเจ็บสาหัสจึงเป็นผลมาจากความผิดของผู้ฟ้องคดีรวมอยู่ด้วย แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีผลมาจากการละเลยต่อหน้าที่ของเทศบาลและเอกชนผู้รับจ้างมากกว่า จึงหักส่วนแห่งความประมาทของผู้ฟ้องคดีออกจากจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดให้ทั้งหมด

โดยสรุปจากเรื่องเล่าในตอนนี้นะครับ การละเลยต่อหน้าที่ตามสัญญาโดยประมาทเลินเล่อของเอกชนผู้รับจ้างตามสัญญา หากเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี เทศบาลซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างหากมิได้สอดส่องดูแลอย่างเพียงพอเพื่อให้เอกชนผู้รับจ้างมีการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญา เทศบาลจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ผู้รับจ้างได้กระทำนั้นด้วย

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง 

ความเสียหายจากการยกเลิกการประกวดราคาหน่วยงานต้องรับผิดหรือไม่



https://youtu.be/BaTwvMu3N6c

ความเสียหายจากการยกเลิกการประกวดราคาหน่วยงานต้องรับผิดหรือไม่

            เรื่องเล่าคดีปกครองกับทนายพฤกษ์ คดีปกครองในตอนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่หน่วยงานของรัฐยกเลิกการประกาศประกวดราคาเนื่องจากหน่วยงานของรัฐไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากให้มีการทำสัญญาต่อไปจะเป็นการขัดต่อกฎหมายและทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะ หน่วยงานของรัฐจึงยกเลิกการประกวดราคาอันมิใช่ความผิดของบริษัทเอกชน ทำให้บริษัทเอกชนผู้ที่ได้รับคัดเลือกจากการเข้าประกวดราคาต้องได้รับความเสียหาย หน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการยกเลิกการประกวดราคาหรือไม่

            ข้อเท็จจริงในกรณีนี้มีอยู่ว่า กรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศประกวดราคาจ้างกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อหาผู้รับจ้างมาทำการกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่ที่กำหนด และผู้รับจ้างจะต้องลงทุนก่อสร้างและเดินระบบกำจัดมูลฝอย ซึ่งมีมูลค่าโครงการเป็นเงินกว่าแปดพันล้าน ผู้ฟ้องคดีเป็นบริษัทเอกชนซึ่งมีคุณสมบัติและศักยภาพที่จะดำเนินการโครงการได้จึงเข้าร่วมเสนอราคา และผลการพิจารณาปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอย ภายหลังจากการประกาศผลการพิจารณาผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการเตรียมการเพื่อจัดทำโครงการดังกล่าวไปแล้วบางส่วน ต่อมา กรุงเทพมหานครมีหนังสือขอให้ขอขยายระยะเวลายื่นราคาออกไปอีก 180 วัน นับจากวันครบกำหนดยืนราคาเดิม โดยอ้างเหตุว่าต้องใช้เวลาในการพิจารณาตามขั้นตอนของทางราชการ โดยผู้ฟ้องคดียินยอมขยายเวลาการยืนราคาดังกล่าว และได้มีการขอขยายระยะเวลาการยืนราคาออกไปอีก 12 ครั้ง ซึ่งเป็นเวลารวม 510 วัน จากนั้นกรุงเทพมหานครมีหนังสือแจ้งยกเลิกการประกวดราคาโครงการกำจัดขยะมูลฝอยโดยให้เหตุผลว่า หากเซ็นสัญญาต่อไปจะขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และทำให้สัญญาเป็นโมฆะ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งยกเลิกการประกวดราคาแต่ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์จึงนำคดียื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย

            ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่กรุงเทพมหานครมีหนังสือแจ้งยกเลิกการประกวดราคาโดยให้เหตุผลว่า หากดำเนินการโครงการต่อไปจะขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เพราะวงเงินเกินหนึ่งพันล้านบาท ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการผ่านกระทรวงที่สังกัดและได้รับความเห็นชอบโครงการจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้งขออนุมัติในหลักการจากคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะดำเนินการ การที่กรุงเทพมหานครประกาศประกวดราคาโดยมิได้ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวซึ่งถือเป็นขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนด นั้น เกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ในสังกัด จนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเข้าประกวดราคาโดยสุจริตและเชื่อว่าเป็นประกาศประกวดราคาที่ชอบด้วยกฎหมายและจะได้เข้าทำสัญญาต่อไป การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ทำสัญญาเพราะมีคำสั่งยกเลิกการประกวดราคา ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ดังนั้น จึงถือว่า การที่กรุงเทพมหานครกระทำโดยประมาทเลินเล่อส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงให้แก่ผู้ฟ้องคดี

            โดยสรุป การที่หน่วยงานของรัฐจะดำเนินโครงการซึ่งเป็นกรณีที่ต้องมีขั้นตอนและวิธีการในการดำเนินการให้เป็นไปภายใต้บังคับของกฎหมาย หน่วยงานนั้นจะต้องดำเนินการประกวดราคาให้ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด กรณีการดำเนินการที่ไม่ได้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งอาจเกิดจากความประมาทของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้อง หน่วยงานของรัฐนั้นไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดกับบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประกวดราคาโดยสุจริตและได้รับความเสียหาย จากการยกเลิกการประกวดราคาอันที่ไม่ใช่ความผิดของบริษัทนั้นได้ หน่วยงานของรัฐจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงอันเป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดแก่บริษัทเอกชนที่ชนะการประกวดราคานั้น

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง 

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กำหนดเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ บางละมุง 2 ปลวกแดง (ช่วงปรับแก้ทิศทางและแนวเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กำหนดเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ บางละมุง 2 ปลวกแดง (ช่วงปรับแก้ทิศทางและแนวเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

ทนายความคดีปกครอง พร้อมให้คำปรึกษาคดีเกี่ยวกับโครงข่ายไฟฟ้า การฟ้องเรียกค่าทดแทนเพิ่ม การอุทธรณ์เงินค่าทดแทน การฟ้องคดีเกี่ยวกับการเวนคืนและการรอนสิทธิ การจัดทำคำร้องคัดค้านการกำหนดแนวเขต การฟ้องเพิกถอนประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การฟ้องเรียกค่าทดแทน ทนายความคดีโครงข่ายไฟฟ้า ปรึกษาคดี โทร. 063-6364547

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กำหนดเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ บางละมุง 2 ปลวกแดง (ช่วงปรับแก้ทิศทางและแนวเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
โทร. 063-6364547