การพิจารณาเบี้ยปรับ กรณีผู้รับทุนถึงแก่ความตาย | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การพิจารณาเบี้ยปรับกรณีผู้รับทุนถึงแก่ความตาย

สัญญาทางปกครอง (สัญญาให้ทุนการศึกษา)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 383 วรรคหนึ่ง)

เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทําผิดสัญญารับทุนการศึกษาตามโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2540 แจ้งความประสงค์ต่อสถาบันส่งเสริมการสอน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ผู้ฟ้องคดี) ว่า ต้องการอยู่ต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และขอชดใช้เงิน แทนการกลับมาปฏิบัติงานชดใช้ทุน และเมื่อผู้ฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชําระเงิน ทุนการศึกษาเนื่องจากผิดเงื่อนไขสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีหนังสือขอผ่อนชําระการชดใช้เงินคืน เป็นรายเดือน และได้แจ้งเหตุผลว่ากําลังป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม จําเป็นต้องใช้เงิน พร้อมทั้งแนบเอกสารหลักฐานการตรวจมาให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ผ่อนชําระเงินทั้งหมด 9 งวด เป็นเงินจํานวนทั้งสิ้น 71,000 บาท แต่ต่อมาได้ถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็งเต้านม ปรากฏหลักฐาน ตามสําเนาใบมรณบัตร ออก ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เห็นได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีเจตนาชดใช้เงินแทนการกลับมาปฏิบัติราชการ ไม่มีเจตนาไม่ชดใช้เงิน แต่การที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่สามารถผ่อนชําระเงินต่อไปได้เป็นเพราะป่วยด้วยโรคมะเร็ง ต้องใช้เงินในการ รักษาตัว และถึงแก่ความตายด้วยโรคดังกล่าวในที่สุด เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของผู้ฟ้องคดี ทุกอย่างไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ประกอบกับเหตุผลแล้วเห็นว่า เงินเบี้ยปรับ ตามสัญญาที่กําหนดไว้สองเท่าของจํานวนเงินทุน เป็นจํานวนที่สูงเกินส่วน เห็นสมควรลดเบี้ยปรับ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้แก่ผู้ฟ้องคดีลงเหลือเพียงหนึ่งเท่าของจํานวนทุนที่จะต้องชดใช้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนอัตราดอกเบี้ย ตามสัญญาที่กําหนดไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นอัตราที่สูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในปัจจุบัน เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของผู้ฟ้องคดีทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เพียงแต่ทางได้เสียในเชิง ทรัพย์สินแล้ว เห็นว่า จํานวนดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาเป็นจํานวนที่สูงเกินส่วน เห็นควรลดดอกเบี้ยลง เหลือร้อยละ 7.5 ต่อปี ทั้งนี้ ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน

สําหรับกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงแก่ความตาย จึงไม่ต้องรับผิด ตามสัญญาพิพาทนั้น เห็นว่า การถึงแก่ความตายที่ทําให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญา จะต้อง เป็นการถึงแก่ความตายในระหว่างที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ศึกษาหรือปฏิบัติงานชดใช้ทุน เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มิได้ถึงแก่ความตายระหว่างศึกษา รวมทั้งมิได้ปฏิบัติงานชดใช้ทุนเนื่องจากถึงแก่ความตายด้วยโรค มะเร็งเต้านมในระหว่างการผ่อนชําระเงินชดใช้ทุน กรณีของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาแต่อย่างใด

โดยสรุป การพิจารณาเบี้ยปรับกรณีผู้รับทุนถึงแก่ความตาย (ผู้รับทุนที่ถึงแก่ความตายในระหว่าง การผ่อนชําระเงินชดใช้ทุน แม้ไม่เข้าเงื่อนไขที่ไม่ต้องรับผิดตามสัญญา แต่ถือเป็นเหตุให้ศาลลดเบี้ยปรับลงได้)

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.310/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง 

ผิดสัญญาทางปกครอง เอกชนมีสิทธิได้รับค่าการงานที่ทำไปหรือไม่

ผิดสัญญาทางปกครอง เอกชนมีสิทธิได้รับค่าการงานที่ทำไปหรือไม่

            สวัสดีครับเรื่องเล่าคดีปกครองกับทนายพฤกษ์ คดีปกครอง ในตอนนี้จะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับ กรณีมีการผิดสัญญาทางปกครองซึ่งคู่สัญญาฝั่งหน่วยงานของรัฐได้บอกเลิกสัญญา และริบหลักประกันสัญญาไว้เป็นค่าปรับ คู่สัญญาฝั่งบริษัทเอกชนจะสามารถดำเนินการอย่างใดได้บ้าง

            ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เนื่องจากเทศบาลได้จัดทำโครงการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนในท้องที่ด้วยการติดกล้องวงจรปิดหรือกล้อง cctv โดยผู้ฟ้องคดีเป็นบริษัทเอกชน ซึ่งชนะการสอบราคาและได้ทำสัญญาซื้อขายกล้องวงจรปิดหรือกล้อง cctv พร้อมติดตั้งกับเทศบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดและความปลอดภัยในท้องที่ ซึ่งถือเป็นการจัดทำบริการสาธารณะในอำนาจหน้าที่ของเทศบาล สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบกล้อง cctv พร้อมติดตั้งให้แก่เทศบาล โดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้รายงานความเห็นต่อนายกเทศมนตรีว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและรายละเอียดแนบท้ายสัญญาอย่างครบถ้วน จึงไม่ทำการตรวจรับงานในครั้งนี้ เทศบาลเห็นว่าผู้ฟ้องคดีผิดสัญญาจึงมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันสัญญาไว้เป็นค่าปรับ โดยสงวนสิทธิ์ไม่รับกล้องวงจรปิดที่ผู้ฟ้องคดีนำมาติดตั้งไว้ และให้ผู้ฟ้องคดีนำกล้องวงจรปิดที่เกี่ยวข้องกับคืนไป เนื่องจากเป็นทรัพย์ที่รื้อถอนได้ เพื่อให้แต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ากล้องวงจรปิดที่ส่งมอบเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาแล้ว การที่เทศบาลไม่ตรวจรับมอบงานเป็นการผิดสัญญา ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือทวงถามให้เทศบาลชำระเงิน แต่เทศบาลเพิกเฉย จึงฟ้องคดีต่อศาลศาลปกครอง เพื่อขอให้เทศบาลชำระค่ากล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไปแล้วให้แก่ผู้ฟ้องคดี

            ในคดีนี้ศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบกล้องวงจรปิดพร้อมอุปกรณ์และมีการดำเนินการเข้าทดสอบตามวันเวลาที่เทศบาลกำหนด โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมทำการตรวจสอบ ต่อมา เทศบาลได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีเข้าดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีจึงได้ทำการติดตั้งกล้องวงจรปิดและมีหนังสือขอส่งมอบงาน โดยมีการแก้ไขและส่งมอบงานครั้งที่ 2 แต่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ภายหลังการตรวจสอบแล้วได้รายงานผลการตรวจสอบว่า ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติไม่เป็นไปตามสัญญา เทศบาลจึงมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันสัญญาไว้เป็นค่าปรับ และให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการนำกล้องวงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกลับคืนไป ดังนั้น ในกรณีนี้การที่ผู้ฟ้องคดีส่งมอบกล้องวงจรปิดพร้อมติดตั้งไม่ครบถ้วนตามที่ระบุในสัญญาผู้ฟ้องคดีจึงเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญา เทศบาลมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งการบอกเลิกสัญญาส่งผลให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม อย่างไรก็ดีในการไต่สวนพยานผู้เชี่ยวชาญของศาลปกครองและจากรายงานของพยานผู้เชี่ยวชาญระบุว่ากล้องวงจรปิดของผู้ฟ้องคดีสามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งถ้อยคำของพยานซึ่งเป็นผู้ใช้กล้องวงจรปิดระบุว่าสามารถมองเห็นภาพทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จึงเห็นได้ว่า กล้องวงจรปิดตามสัญญาดังกล่าวนั้นใช้งานได้ เทศบาลจึงต้องใช้ค่าการงานในการติดตั้งกล้องวงจรปิดในส่วนที่สามารถใช้งานได้ให้แก่ผู้ฟ้องคดี และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า จากการตรวจสอบอุปกรณ์กล้องวงจรปิดตามสัญญาจำนวน 14 รายการ เป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีปัญหา 11 รายการ และพบปัญหาการติดตั้งและใช้งาน 3 รายการ จึงพิพากษาให้เทศบาลชำระเงินตามสัญญาในส่วนของอุปกรณ์ที่ไม่มีปัญหาในการติดตั้งและใช้งาน

            โดยสรุป จากเรื่องเล่าคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองในตอนนี้บริษัทเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญาหากมีการดำเนินการที่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องตามสัญญาโดยเป็นฝ่ายผิดสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายคือหน่วยงานของรัฐมีสิทธิที่จะไม่ตรวจรับงานตามสัญญาทางปกครองและบอกเลิกสัญญาได้โดยชอบ ซึ่งการเลิกสัญญาดังกล่าวส่งผลให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยในการกลับคืนสู่ฐานะเดิมนี้หมายถึงฐานะเดิมก่อนทำสัญญาหรือใกล้เคียงที่สุดที่สามารถทำได้ เช่นกรณีเกี่ยวกับส่วนที่เป็นการงานที่ได้กระทำให้ตามสัญญาและยอมให้ใช้ประโยชน์ซึ่งการที่จะชดใช้คืนให้ทำได้ด้วยการใช้เงินตามส่วนของค่างานนั้น หน่วยงานของรัฐจึงต้องชดใช้ค่าการงานที่ใช้ประโยชน์ได้ตามสัญญา

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายช่วยเหลือคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง