เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.4

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง 

สวัสดีครับ ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ในตอนนี้จะขอนำเสนอในเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง ครับ

ระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง ถือว่าเป็นอีกเงื่อนไขการฟ้องคดีที่มีความสำคัญต่อการฟ้องคดีต่อศาลปกครองครับ เพราะหากยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี ศาลปกครองก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยในเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองนี้ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ตามมาตรา 49 มาตรา 51 และมาตรา 52 นอกเหนือจากนั้น กรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ ระยะเวลาการฟ้องคดีดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น

กรณีระยะเวลาการฟ้องคดี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ 4 กรณี คือ

กรณีที่ 1. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) กรณีการเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครอง กำหนดให้ยื่นฟ้องคดีภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) กรณีหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนั้นล่าช้าเกินสมควร ให้ยื่นฟ้องคดีนับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผล เว้นแต่จะมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

กรณีที่ 2. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) เกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

กรณีที่ 3. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) เกี่ยวกับข้อพิพาทในสัญญาทางปกครอง ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 5 ปี นับแต่วันรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

กรณีที่ 4. การฟ้องคดีตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นกรณีการฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะบุคคล ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้

การฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินโดยที่ดินบางส่วนได้ทับที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีในฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณะภายในท้องที่ของตนซึ่งรวมถึงที่สาธารณะอันเป็นที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันด้วย  ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับคุ้มครองประโยชน์สาธารณะจะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ตามมาตรา 52

การฟ้องคดีเกี่ยวกับสถานะของบุคคล โดยสถานะบุคคล หมายถึง สถานะตามกฎหมายที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิในการเป็นบุคคลหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบุคคลโดยบุคคลจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธินั้นหรือไม่ต้องพิจารณาจากความเป็นบุคคลของผู้นั้นเป็นหลัก สถานะดังกล่าวอาจจะเป็นสถานะของบุคคลในประเทศชาติ เช่น สัญชาติของบุคคล

ต่อมา เป็นกรณีการฟ้องคดีที่เป็นประโยชน์แก่สวนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นกรณีที่หากศาลเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเอง หรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลจะรับไว้พิจารณาก็ได้ และคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาในกรณีเช่นนี้ย่อมเป็นที่สุด ครับ

การฟ้องคดีที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ยกตัวอย่าง เช่น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีประกอบกิจการโรงงานก่อให้เกิดสิ่งปฏิกูล และมลภาวะทางเสียงอันเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนรำคาญ และเสียสุขภาพ ผู้ฟ้องคดีได้ ร้องเรียนต่อสำนักงานเขตและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแต่มิได้รับการเยียวยาแก้ไข ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แต่เมื่อปรากฏว่าเหตุเดือดร้อนรำคาญยังคงมีอยู่จนถึงวันฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแก้ไขความเดือดร้อนรำคาญดังกล่าว อีกทั้งการไม่ปรับปรุงแก้ไขโรงงานอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนจำนวนมาก การรับคำฟ้องไว้พิจารณาจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

การฟ้องคดีที่มีเหตุจำเป็นอื่น เช่น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือต่อผู้ถูกฟ้องคดีขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วมีเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีติดต่อและรับว่าจะดำเนินการแก้ไขเยียวยาให้กับผู้ฟ้องคดีมาโดยตลอด ทำให้เชื่อว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะดำเนินการให้อันเป็นผลให้ผู้ฟ้องคดียื่นเรื่องร้องทุกข์เลยกำหนดเวลา จึงเป็นกรณีจำเป็นที่ต้องรับไว้พิจารณาตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

โดยสรุปครับ การฟ้องคดีปกครองต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลภายในระยะเวลาการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 มาตรา 51 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 นอกเหนือจากนั้น กรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ ระยะเวลาการฟ้องคดีดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น หากยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ศาลปกครองก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณาครับ

สำหรับสาระความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรติดตามรับชม ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ได้ ในตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง

ผิดสัญญาทางปกครอง เอกชนมีสิทธิได้รับค่าการงานที่ทำไปหรือไม่



https://www.youtube.com/watch?v=BJM-83XHJyw

ผิดสัญญาทางปกครอง เอกชนมีสิทธิได้รับค่าการงานที่ทำไปหรือไม่

            สวัสดีครับเรื่องเล่าคดีปกครองกับทนายพฤกษ์ คดีปกครอง ในตอนนี้จะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับ กรณีมีการผิดสัญญาทางปกครองซึ่งคู่สัญญาฝั่งหน่วยงานของรัฐได้บอกเลิกสัญญา และริบหลักประกันสัญญาไว้เป็นค่าปรับ คู่สัญญาฝั่งบริษัทเอกชนจะสามารถดำเนินการอย่างใดได้บ้าง

            ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เนื่องจากเทศบาลได้จัดทำโครงการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนในท้องที่ด้วยการติดกล้องวงจรปิดหรือกล้อง cctv โดยผู้ฟ้องคดีเป็นบริษัทเอกชน ซึ่งชนะการสอบราคาและได้ทำสัญญาซื้อขายกล้องวงจรปิดหรือกล้อง cctv พร้อมติดตั้งกับเทศบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดและความปลอดภัยในท้องที่ ซึ่งถือเป็นการจัดทำบริการสาธารณะในอำนาจหน้าที่ของเทศบาล สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบกล้อง cctv พร้อมติดตั้งให้แก่เทศบาล โดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้รายงานความเห็นต่อนายกเทศมนตรีว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและรายละเอียดแนบท้ายสัญญาอย่างครบถ้วน จึงไม่ทำการตรวจรับงานในครั้งนี้ เทศบาลเห็นว่าผู้ฟ้องคดีผิดสัญญาจึงมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันสัญญาไว้เป็นค่าปรับ โดยสงวนสิทธิ์ไม่รับกล้องวงจรปิดที่ผู้ฟ้องคดีนำมาติดตั้งไว้ และให้ผู้ฟ้องคดีนำกล้องวงจรปิดที่เกี่ยวข้องกับคืนไป เนื่องจากเป็นทรัพย์ที่รื้อถอนได้ เพื่อให้แต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ากล้องวงจรปิดที่ส่งมอบเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาแล้ว การที่เทศบาลไม่ตรวจรับมอบงานเป็นการผิดสัญญา ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือทวงถามให้เทศบาลชำระเงิน แต่เทศบาลเพิกเฉย จึงฟ้องคดีต่อศาลศาลปกครอง เพื่อขอให้เทศบาลชำระค่ากล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไปแล้วให้แก่ผู้ฟ้องคดี

            ในคดีนี้ศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบกล้องวงจรปิดพร้อมอุปกรณ์และมีการดำเนินการเข้าทดสอบตามวันเวลาที่เทศบาลกำหนด โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมทำการตรวจสอบ ต่อมา เทศบาลได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีเข้าดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีจึงได้ทำการติดตั้งกล้องวงจรปิดและมีหนังสือขอส่งมอบงาน โดยมีการแก้ไขและส่งมอบงานครั้งที่ 2 แต่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ภายหลังการตรวจสอบแล้วได้รายงานผลการตรวจสอบว่า ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติไม่เป็นไปตามสัญญา เทศบาลจึงมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันสัญญาไว้เป็นค่าปรับ และให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการนำกล้องวงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกลับคืนไป ดังนั้น ในกรณีนี้การที่ผู้ฟ้องคดีส่งมอบกล้องวงจรปิดพร้อมติดตั้งไม่ครบถ้วนตามที่ระบุในสัญญาผู้ฟ้องคดีจึงเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญา เทศบาลมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งการบอกเลิกสัญญาส่งผลให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม อย่างไรก็ดีในการไต่สวนพยานผู้เชี่ยวชาญของศาลปกครองและจากรายงานของพยานผู้เชี่ยวชาญระบุว่ากล้องวงจรปิดของผู้ฟ้องคดีสามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งถ้อยคำของพยานซึ่งเป็นผู้ใช้กล้องวงจรปิดระบุว่าสามารถมองเห็นภาพทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จึงเห็นได้ว่า กล้องวงจรปิดตามสัญญาดังกล่าวนั้นใช้งานได้ เทศบาลจึงต้องใช้ค่าการงานในการติดตั้งกล้องวงจรปิดในส่วนที่สามารถใช้งานได้ให้แก่ผู้ฟ้องคดี และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า จากการตรวจสอบอุปกรณ์กล้องวงจรปิดตามสัญญาจำนวน 14 รายการ เป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีปัญหา 11 รายการ และพบปัญหาการติดตั้งและใช้งาน 3 รายการ จึงพิพากษาให้เทศบาลชำระเงินตามสัญญาในส่วนของอุปกรณ์ที่ไม่มีปัญหาในการติดตั้งและใช้งาน

            โดยสรุป จากเรื่องเล่าคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองในตอนนี้บริษัทเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญาหากมีการดำเนินการที่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องตามสัญญาโดยเป็นฝ่ายผิดสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายคือหน่วยงานของรัฐมีสิทธิที่จะไม่ตรวจรับงานตามสัญญาทางปกครองและบอกเลิกสัญญาได้โดยชอบ ซึ่งการเลิกสัญญาดังกล่าวส่งผลให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยในการกลับคืนสู่ฐานะเดิมนี้หมายถึงฐานะเดิมก่อนทำสัญญาหรือใกล้เคียงที่สุดที่สามารถทำได้ เช่นกรณีเกี่ยวกับส่วนที่เป็นการงานที่ได้กระทำให้ตามสัญญาและยอมให้ใช้ประโยชน์ซึ่งการที่จะชดใช้คืนให้ทำได้ด้วยการใช้เงินตามส่วนของค่างานนั้น หน่วยงานของรัฐจึงต้องชดใช้ค่าการงานที่ใช้ประโยชน์ได้ตามสัญญา

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายช่วยเหลือคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง