ผู้มีอํานาจสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตําแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม | เรื่องเด่น คดีปกครอง

ผู้มีอํานาจสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตําแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม

การปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 มาตรา 12 (3) มาตรา 13 วรรคสี่ และวรรคห้า และมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) และ (7)

คดีนี้ นายอําเภอเมืองเชียงใหม่ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้มีประกาศอําเภอเมืองเชียงใหม่ ลงวันที่ 26 มกราคม 2554 ให้มีการรับสมัครผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ตําบล ห. อําเภอ ม. จังหวัด ช. โดยมีผู้สมัครจํานวน 2 ราย คือ นาย ย. อดีตผู้ใหญ่บ้าน และผู้ฟ้องคดี ต่อมา วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้รับหนังสือคัดค้านจากนาย ย. ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะผู้ฟ้องคดีไม่มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้มีหนังสือเชิญคณะกรรมการตรวจสอบและพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เพื่อพิจารณาทบทวนคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดี ซึ่งที่ประชุมของคณะกรรมการส่วนใหญ่มีมติให้ดําเนินการ เลือกผู้ใหญ่บ้านในวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2554 และให้มีหนังสือหารือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เชียงใหม่ ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้มีการแต่งตั้ง ให้ผู้ฟ้องคดีดํารงตําแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ตอบหนังสือหารือข้างต้น โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งได้สรุปผล การสอบสวนข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีมิได้มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตหมู่ที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีคําสั่งลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 ให้ผู้ฟ้องคดีผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 พ้นจากตําแหน่ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้ใหญ่บ้านตามมาตรา 12 (3) ประกอบกับมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ทั้งนี้ เมื่อการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านตามผลการเลือกตั้ง เป็นอํานาจของนายอําเภอ ตามนัยมาตรา 13 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 การที่ความปรากฏในภายหลังว่า ผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการเลือก เป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม มิให้สมัครรับเลือกผู้ใหญ่บ้าน ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น กรณีย่อมเป็นอํานาจของนายอําเภอที่จะเป็นผู้ออกคําสั่ง ให้ผู้ใหญ่บ้านนั้นพ้นจากตําแหน่ง มิใช่อํานาจของผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากการที่ผู้ว่าราชการจังหวัด จะมีอํานาจในการสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตําแหน่งนั้น จะต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายกําหนดไว้ชัดเจนดังเช่นมาตรา 13 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านได้รับเลือกมาโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม หรือกรณีที่ผู้ใหญ่บ้านบกพร่องในหน้าที่หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตําแหน่งตามบทบัญญัติมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (7) แห่งพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นคนละกรณีกับกรณีที่เป็นเหตุที่พิพาท ตามฟ้องที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ใหญ่บ้าน

ดังนั้น คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ให้ผู้ฟ้องคดี พ้นจากตําแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 เนื่องจากขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามของการเป็น ผู้ใหญ่บ้าน ตามมาตรา 12 (3) ประกอบมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะ ปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 จึงชอบด้วยกฎหมาย

โดยสรุป เมื่อการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นอํานาจของนายอําเภอ การที่ปรากฏในภายหลังว่า ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกผู้ใหญ่บ้าน จึงย่อมเป็นอํานาจของนายอําเภอที่เป็นผู้ออกคําสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านนั้นพ้นจากตําแหน่งเช่นกัน

คําสําคัญ : คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ใหญ่บ้าน/การถอดถอนผู้ใหญ่บ้าน/อํานาจ นายอําเภอ/อํานาจผู้ว่าราชการจังหวัด

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 98/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

หลักฐานการเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การนําหลักฐานการชําระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านมาเบิกค่าเช่าบ้าน ข้าราชการ

สิทธิประโยชน์และสวัสดิการของบุคลากรภาครัฐ : คําสั่งไม่อนุมัติให้นําหลักฐานการผ่อนชําระราคาบ้านมาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 (มาตรา 4 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 17)
  1. พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านตุลาการศาลปกครอง พ.ศ. 2544 (มาตรา 3 วรรคหนึ่ง)

ผู้ฟ้องคดีดํารงตําแหน่งตุลาการศาลปกครองนครราชสีมา ต่อมา ได้รับคําสั่งให้ไป ช่วยทํางานชั่วคราวในตําแหน่งตุลาการศาลปกครองกลาง โดยผู้ฟ้องคดีได้รับอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้าน ข้าราชการในการเช่าอพาร์ทเมนท์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และหลังจากศาลปกครองได้ย้ายมาตั้งที่ทําการที่ถนนแจ้งวัฒนะ ผู้ฟ้องคดีได้เช่าห้องชุดซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่อําเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และได้รับอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ จากนั้น ผู้ฟ้องคดีได้กู้เงินโครงการสวัสดิการข้าราชการ เพื่อซื้อห้องชุดในเขตท้องที่อําเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นที่อยู่อาศัย จึงได้นําหลักฐาน การผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระค่าบ้านดังกล่าวมาขอเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่า บ้านหลังดังกล่าวไม่ได้ตั้งอยู่ในท้องที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นท้องที่ที่ประจําสํานักงานใหม่ จึงมีคําสั่งไม่อนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีนําหลักฐานกรผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านที่ค้างชําระมาเบิกค่าเช่าบ้าน ข้าราชการ ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวและนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า กรณีที่ผู้ฟ้องคดี ได้ทําสัญญาเช่าซื้อหรือทําสัญญาเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงแต่บ้านหลังดังกล่าวมิได้อยู่ในท้องที่ที่ไปประจําสํานักงานใหม่ ซึ่งได้มีการนิยามคําว่า “ท้องที่” ไว้แล้ว ในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิ นําหลักฐานการชําระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านมาขอเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ ได้ตามมาตรา 17 แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ไม่อนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีนําหลักฐานการผ่อนชําระราคาบ้านมาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ และคําวินิจฉัย อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ความเห็นแย้ง พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 มีเจตนารมณ์ที่จะขยายสิทธิการเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการให้รวมถึงการนําค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านด้วย มิใช่ลดสิทธิให้ต่ำกว่าเดิม อันเป็นการสนับสนุนให้ข้าราชการมีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตนเอง ข้าราชการย่อมมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านหรือค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชําระเงินกู้เพียงอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้น การเปลี่ยนสิทธิเบิกจากค่าเช่าบ้านเป็นค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านจึงไม่ทําให้ ทางราชการต้องรับภาระเพิ่มแต่อย่างใด แต่ในทางตรงกันข้าม ยังเป็นการลดภาระของทางราชการ ที่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านให้ข้าราชการจนเกษียณอายุราชการ การที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกําหนดให้ เบิกค่าเช่าบ้านต่างท้องที่ได้แต่ไม่ให้เบิกค่าเช่าซื้อบ้านต่างท้องที่ ย่อมเป็นการลดสิทธิของข้าราชการให้ลดน้อยลงกว่าเดิม จึงขัดกับเจตนารมณ์ดังกล่าวและเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างผู้เช่าบ้านกับผู้เช่าซื้อหรือผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีสิทธิ นําหลักฐานการชาระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านมาขอเบิกค่าเช่าบ้านได้

โดยสรุป การนําหลักฐานการชําระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านมาเบิกค่าเช่าบ้าน ข้าราชการ จะต้องเป็นบ้านที่อยู่ในท้องที่ที่ไปประจําสํานักงานใหม่

คําสําคัญ : สิทธิประโยชน์และสวัสดิการ/ค่าเช่าบ้าน/ค่าเช่าซื้อ ท้องที่ที่ไปประจําสํานักงานใหม่

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 689/2565 (ประชุมใหญ่)

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง 

หน่วยงานละเลยไม่ปรับพื้นถนน ทำให้มีผู้ประสบอุบัติเหตุ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

หน่วยงานของรัฐละเลยไม่ดูแลพื้นถนน ทำให้มีผู้ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย

ละเมิด

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 223 มาตรา 420 มาตรา 438 มาตรา 442 มาตรา 443 มาตรา 1461 วรรคสอง มาตรา 1563 มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง มาตรา 1629 มาตรา 1649 วรรคสอง)
  2. ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 (ข้อ 101 วรรคสอง)

คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นาง น. ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านพักไปตามถนน ซอยสมิตตะโยธิน ตําบลหมากแข้ง อําเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เมื่อถึงบริเวณจุดตัด กับทางรถไฟซึ่งเป็นบริเวณที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดี) กําลังทําการซ่อมบํารุงทางรถไฟ รถจักรยานยนต์ที่นาง น. ได้ขับขี่มาประสบอุบัติเหตุล้มลง ทําให้นาง น. ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ในเวลาต่อมา ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าถนนบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งมีการซ่อมบํารุงทางรถไฟอยู่นั้น มีลักษณะ เป็นหลุมหรือร่องรางรถไฟ ไม่มีเส้นแบ่งช่องจราจร หินคลุกบริเวณชิดขอบรางรถไฟมีการยุบตัว โดยพื้นผิวบริเวณที่ติดกับสันรางรถไฟอยู่ในระดับต่ํากว่าสันรางรถไฟ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทราบอยู่แล้วว่า ถนนบริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นหินคลุกอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาได้ ผู้ถูกฟ้องคดี จึงควรต้องดําเนินการปรับพื้นถนนบริเวณดังกล่าวให้มีความพร้อมสําหรับการใช้งานได้โดยสะดวก และเป็นไปเพื่อความปลอดภัยสําหรับประชาชนที่ต้องขับขี่รถผ่านถนนบริเวณดังกล่าวมากกว่าที่เป็นอยู่ หรือดําเนินการติดตั้งหรือวางสัญญาณเตือนโดยระบุระยะทางที่มีการซ่อมบํารุงทางรถไฟดังกล่าว เพื่อเตือนให้ผู้ใช้เส้นทางลดความเร็วและเตรียมความพร้อม ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถกระทําได้ โดยไม่ยุ่งยากหรือพ้นวิสัยที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะดําเนินการได้ตามนัยมาตรา 9 (4) และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 อย่างไรก็ตาม แม้ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติได้ว่ามีการจัดทําป้ายสัญญาณหรือเครื่องหมายแจ้งเตือนหรือไม่ แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดี ทราบอยู่แล้วว่าในขณะเกิดเหตุพื้นผิวถนนบริเวณที่เกิดเหตุอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ประชาชนที่สัญจรผ่านถนนบริเวณดังกล่าวได้ แต่ไม่ดําเนินการปรับพื้นถนนบริเวณดังกล่าวให้มีความพร้อม สําหรับการใช้งานได้โดยสะดวก และเป็นไปเพื่อความปลอดภัยสําหรับประชาชนที่ต้องขับขี่รถ ผ่านถนนบริเวณดังกล่าว ก็ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติแล้ว เมื่อการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวเป็นเหตุให้นาง น. ประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทําละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาท โดยธรรมของนาง น.

ข้อเท็จจริงปรากฏว่านาง น. ได้ใช้เส้นทางดังกล่าวเป็นประจําและเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี นาง น. จึงย่อมทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุกําลังดําเนินการซ่อมบํารุงทางรถไฟ และย่อมรู้ ถึงสภาพของพื้นถนนในบริเวณดังกล่าวเป็นอย่างดีว่าบริเวณใดที่มีพื้นถนนไม่เรียบ และย่อมต้องทราบว่า พื้นถนนที่ติดกับสันรางรถไฟจะอยู่ในระดับที่ต่ํากว่าสันรางรถไฟ นอกจากนั้น ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุนาง น. ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่ได้สวมหมวกที่จัดทําขึ้นโดยเฉพาะเพื่อป้องกัน อันตรายในขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งหากนาง น. ได้สวมใส่หมวกนิรภัยตามที่กฎหมายกําหนดไว้แล้ว ย่อมลดความรุนแรงที่เกิดจากอุบัติเหตุได้ และไม่น่าจะเกิดเหตุร้ายแรงจนถึงขนาดเสียชีวิตดังกล่าว การเสียชีวิตของนาง น. จึงเป็นผลมาจากความประมาทของนาง น. รวมอยู่ด้วย จึงเป็นกรณีที่นาง น. ผู้ตายมีส่วนประมาทเลินเล่อหรือส่วนผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่มาก จึงเห็นควรนําพฤติการณ์ในส่วนนี้ของนาง น. มาคํานวณหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จํานวนสองในสามส่วนตามนัยมาตรา 442 ประกอบกับมาตรา 223 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้มีสิทธิรับมรดก ของนาง น. ตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีทั้ง ย่อมมีหน้าที่ในการจัดการท่าศพตามมาตรา 1649 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมาย เดียวกัน ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนในส่วนของค่าปลงศพและค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้เรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพซึ่งเป็นค่าใช้จ่าย ในการจัดงานบําเพ็ญกุศลและฌาปนกิจศพนาง น. จํานวน 7 วัน เป็นเงินจํานวน 792,000 บาท โดยไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงค่าใช้จ่ายตามที่กล่าวอ้าง มีเพียงการชี้แจงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาพทางสังคมและครอบครัวของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่แล้ว การที่ศาลปกครองชั้นต้นกําหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้วันละ 50,000 บาท จํานวน 7 วัน รวมเป็นเงินจํานวน 350,000 บาท จึงสูงเกินส่วน เห็นควรกําหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้วันละ 30,000 บาท จํานวน 7 วัน รวมเป็นเงินจํานวน 200,000 บาท

สําหรับค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น นั้น เมื่อพิจารณาค่าเดินทางไปกลับระหว่างจังหวัดชลบุรีกับจังหวัดอุดรธานีของผู้ฟ้องคดีที่ 2 และค่าเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพมหานคร กับจังหวัดอุดรธานีของผู้ฟ้องคดีที่ 3 รวมทั้งค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุแล้ว เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวถือเป็นค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่นที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ตามที่จ่ายจริง ซึ่งแม้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 จะมิได้แสดงเอกสารหลักฐานประกอบก็ตาม แต่เมื่อพิจารณา ระยะทางระหว่างจังหวัดชลบุรีกับจังหวัดอุดรธานีซึ่งมีระยะทางประมาณ 645 กิโลเมตร และระหว่าง กรุงเทพมหานครกับจังหวัดอุดรธานีซึ่งมีระยะทางประมาณ 564 กิโลเมตร โดยคํานวณค่าใช้จ่าย ในส่วนนี้เฉลี่ยกิโลเมตรละประมาณ 2 บาท และค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเป็นเงินจํานวน 3,000 บาท ก็เป็นจํานวนเงินพอสมควร จึงเชื่อได้ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริง การที่ศาลปกครองชั้นต้นกําหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้รวมเป็นเงินจํานวน 7,500 บาท จึงเหมาะสม และเป็นธรรมแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ได้แก่ ค่าขาดรายได้ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ขณะจัดงานศพนาง น. ค่าที่พักญาติที่มาร่วมงานศพ และดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ ที่นํามาใช้จ่ายในงานศพ นั้น เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทําละเมิด ของผู้ถูกฟ้องคดี ศาลจึงไม่อาจกําหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ให้ได้

สําหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีคําขอให้ศาลกําหนดค่าเสียหายทางจิตใจที่ต้องสูญเสีย มารดาจนทําให้เจ็บป่วยและจําเป็นจะต้องทําการรักษาตัว ค่าเดินทาง และค่ารักษาพยาบาลของผู้ฟ้องคดี ที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 เป็นเงินจํานวน 1,000,000 บาท นั้น เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดี ละเลยต่อหน้าที่เป็นเหตุให้นาง น. ถึงแก่ความตายนั้น เป็นการกระทําละเมิดต่อชีวิตของนาง น. เท่านั้น มิใช่การกระทําละเมิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิของผู้ฟ้องคดีที่ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของนาง น. แต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 จึงชอบที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 และมาตรา 445 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันได้แก่ ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอื่น ค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย ค่าขาดประโยชน์ทํามาหาได้ ก่อนตาย ค่าขาดไร้อุปการะ และค่าขาดแรงงานเท่านั้น ส่วนค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่น อันมิใช่ตัวเงิน นั้น เมื่อพิจารณามาตรา 446 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน คือ ผู้ที่ถูกกระทําละเมิดต่อร่างกาย อนามัย เสรีภาพ หรือหญิงผู้ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทําผิดอาญาอันเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนเท่านั้น ทายาทของผู้ถูกกระทําละเมิดจนถึงแก่ความตายหาได้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินแต่อย่างใด ศาลจึงไม่อาจกําหนดค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายทางจิตใจให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ตามคําขอได้

สําหรับค่าสูญเสียโอกาสที่จะทํามาหารายได้ของนาง น.เป็นระยะเวลา 10 ปี นั้น เห็นว่า เป็นรายได้ในอนาคตที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่คาดหมายว่านาง น.จะได้รับหากยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่มีสิ่งใด ที่จะยืนยันได้อย่างแน่นอนว่าหากนาง น. ยังคงมีชีวิตอยู่จะมีรายได้จากการทําตาข่ายเป็นเงินจํานวน ตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่กล่าวอ้าง ศาลจึงไม่อาจกําหนดคําบังคับในส่วนนี้ให้ได้

เมื่อได้พิจารณามาแล้วข้างต้นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่รวมเป็นเงินจํานวน 217,500 บาท แต่โดยที่นาง น. ผู้ตาย มีส่วนประมาทเลินเล่อ หรือส่วนผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีและความร้ายแรง แห่งละเมิด ประกอบกับพฤติการณ์และการกระทําของนาง น. ตามมาตรา 442 ประกอบกับมาตรา 223 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เห็นควรนําส่วนความประมาทหรือความผิด ของนาง น. มาหักออกจากความรับผิดของผู้ถูกฟ้องคดีจํานวนสองในสามส่วนของค่าสินไหมทดแทน ที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิด คงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ เป็นเงินจํานวน 72,500 บาท

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีคําขอในชั้นอุทธรณ์คําพิพากษาให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันกระทําละเมิดจนกว่าจะชําระเสร็จ นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในชั้นการพิจารณาคดีนี้ของศาลปกครองชั้นต้น ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ได้มีคําขอท้ายคําฟ้องหรือคําฟ้องเพิ่มเติมขอให้ศาลกําหนดคําบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีชําระดอกเบี้ยนับแต่วันกระทําละเมิดจนกว่าจะชําระเสร็จให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่แต่อย่างใด การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีคําขอ ดังกล่าวในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลปกครองชั้นต้น อีกทั้งมิใช่ ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือปัญหาเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จะยกปัญหาข้อนั้นขึ้นกล่าวในคําอุทธรณ์ได้ จึงเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามตามข้อ 101 วรรคสอง แห่งระเบียบฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ

โดยสรุป การกําหนดค่าสินไหมทดแทนกรณีผู้เสียหายมีส่วนผิด ในการที่ผู้ตายใช้เส้นทางที่เกิดเหตุ เป็นประจําและเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ย่อมทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุกําลังดําเนินการซ่อมบํารุง และพื้นถนนไม่เรียบ อีกทั้งผู้ตายยังไม่สวมหมวกกันน็อก การเสียชีวิตจึงเป็นผลมาจากความประมาท ของผู้ตายรวมอยู่ด้วย จึงควรหักออกจากค่าสินไหมทดแทน

คําสําคัญ : ละเมิดต่อบุคคลภายนอก/ละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่/การกําหนดค่าสินไหมทดแทน/ ผู้เสียหายมีส่วนผิด/ค่าปลงศพ/ค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น/ค่าขาดรายได้/ค่าสูญเสียโอกาสที่จะทํามาหารายได้/ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน/ข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลปกครองชั้นต้น

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อผ. 128/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายคดีปกครอง

ศาลปกครองชั้นต้นมีคําพิพากษาโดยพิจารณาจากคําฟ้องเพียงขั้นตอนเดียว | เรื่องเด่น คดีปกครอง

ศาลปกครองชั้นต้นมีคําพิพากษาโดยพิจารณาจากคําฟ้องเพียงขั้นตอนเดียว

วิธีพิจารณาคดีปกครอง : หลักฟังความทุกฝ่าย

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (มาตรา 55 และมาตรา 57 วรรคสอง)
  2. ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 (ข้อ 112 วรรคหนึ่ง (2))

คดีนี้แม้ศาลปกครองชั้นต้นจะได้มีคําสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณามีคําสั่งรับคําฟ้อง และมีการส่งสําเนาคําฟ้องพร้อมพยานหลักฐานให้ผู้ถูกฟ้องคดีทราบ แต่ก็มิได้มีคําสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทําคําให้การและมิได้ส่งพยานหลักฐานให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีโอกาสคัดค้าน และโต้แย้ง ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณาเพียงขั้นตอนเดียว โดยพิจารณาจากคำฟ้องและพยานหลักฐานประกอบคําฟ้องแล้วดําเนินการพิจารณาจนมีคําพิพากษา จึงไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยการฟังความทุกฝ่าย ที่ศาลต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ทราบถึงข้ออ้างหรือข้อแย้งของแต่ละฝ่าย และให้คู่กรณีแสดงพยานหลักฐานของฝ่ายตนเพื่อยืนยันหรือหักล้างข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายได้ และไม่เป็นไปตามมาตรา 55 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 57 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และเมื่อศาลปกครองชั้นต้นดําเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือระเบียบนี้ในส่วนที่ว่าด้วยการแสวงหาข้อเท็จจริง จึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคําสั่งยกคําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น และส่งสํานวนคืนไปยังศาลปกครองชั้นต้นเพื่อมีคําพิพากษาหรือคําสั่งใหม่ตามข้อ 112 วรรคหนึ่ง (2) แห่งระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ

โดยสรุป การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคําพิพากษาโดยพิจารณาจากคําฟ้องเพียงขั้นตอนเดียว เป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยการฟังความทุกฝ่าย

คําสําคัญ : การย้อนสํานวน/หลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง/หลักฟังความทุกฝ่าย/การแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลปกครอง

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 331/2565 (ประชุมใหญ่)

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายคดีปกครอง

หน่วยงานของรัฐก่อสร้างทางรุกล้ำที่ดินเอกชน ฟ้องศาลปกครองได้หรือไม่ 

หน่วยงานของรัฐก่อสร้างทางรุกล้ำที่ดินประชาชน ฟ้องศาลปกครองได้หรือไม่ 

เรื่องเล่าคดีปกครองกับทนายพฤกษ์ คดีปกครอง ในตอนนี้จะนำเสนอในเรื่องเกี่ยวกับการที่หน่วยงานของรัฐ ปรับปรุงทางและสร้างท่อระบายน้ำเพื่อประโยชน์ในการระบายน้ำช่วงหน้าฝน โดยการปรับปรุงและก่อสร้างดังกล่าวมีการรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอยู่ ดังนั้น การที่หน่วยงานรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน สามารถใช้สิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้รื้อถอนทางหรือท่อระบายน้ำนั้นออกจากที่ดินของตนได้หรือไม่

สำหรับข้อเท็จจริงจากเรื่องเล่าคดีนี้ มีอยู่ว่า กรมทางหลวงโดยแขวงทางหลวง ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ดำเนินโครงการปรับปรุงทางและสร้างระบบระบายน้ำใต้ทางเท้าของทางหลวงแผ่นดิน ในการดำเนินการตามโครงการของบริษัทเอกชนดังกล่าวมีการปรับปรุงทางและสร้างระบบระบายน้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน เห็นว่ามีการก่อสร้างทางและระบบระบายน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของตน ตลอดแนวยาวของที่ดิน ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือขอให้สำนักทางหลวงดำเนินการแก้ไขปัญหาก่อสร้างทางและระบบระบายน้ำดังกล่าว ต่อมามีการตรวจสอบที่ดินและพบว่าเขตทางหลวงบางช่วงมีการรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านรายอื่นๆจริง จึงมีการลดระยะเขตทางให้ตรงกับความเป็นจริงและให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณากำหนดค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเขตทาง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่กรมทางหลวงก่อสร้างทางเท้าและท่อระบายน้ำลุกลามเข้ามาในที่ดินของตนเป็นการกระทำละเมิดทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถใช้ที่ดินในส่วนที่มีการปรับได้ จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้รื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดี

ในกรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาเห็นว่า การที่กรมทางหลวงโดยแขวงทางหลวงได้ทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัทเอกชนทำการปรับปรุงทางและทำท่อระบายน้ำใต้ทางเท้า โดยปรับปรุงทางและท่อระบายน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี และเมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าการดำเนินการตามสัญญาว่าจ้างของเอกชนมีการรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีจริง เมื่อกรมทางหลวงยังไม่ได้ดำเนินการเวนคืนที่ดินส่วนที่รุกล้ำนั้น ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้ง ยังไม่มีการตกลงซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าว และไม่มีหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้อุทิศที่ดินส่วนที่ถูกรุกล้ำนั้นให้เป็นทางสาธารณะประโยชน์ กรณีนี้ถือเป็นการกระทำละเมิดทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เมื่อผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ให้ที่ดินกลับไปสู่สภาพเดิม และไม่ประสงค์ที่จะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่กรมทางหลวง ประกอบกับเมื่อพิจารณาทางเท้าและท่อระบายน้ำที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ของผู้ฟ้องคดี โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความจำเป็น และประโยชน์สาธารณะแล้ว การทำให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่สภาพเดิมโดยรื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำที่รุกล้ำไม่ได้กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เนื่องจากแม้จะรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำไปแล้ว ก็ยังคงเหลือทางเท้าและท่อระบายน้ำกว้างเพียงพอที่ประชาชนจะใช้ประโยชน์ได้ จึงพิพากษาให้กรมทางหลวงดำเนินการรื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี

โดยสรุป จากเรื่องเล่าในตอนนี้ การที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่จะก่อสร้าง ปรับปรุงขยายถนน หรือทางระบายน้ำ ซึ่งมีแนวเขตติดกันกับที่ดินของเอกชน หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ จะต้องทำการสำรวจตรวจสอบหลักเขตหรือแนวที่ดินให้มีความชัดเจนก่อนที่จะทำสัญญาจ้างก่อสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระหว่างการก่อสร้างหรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ ดังนั้น หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ไม่สามารถอ้างว่าการดำเนินการก่อสร้างหรือปรับปรุงทางดังกล่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ หากเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยที่ยังไม่มีการเวนคืนตามกฎหมาย หรือมีข้อตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง

– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547

– Line: @prueklaw 

#สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง 

ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเพราะตกสำรวจ ใครต้องรับผิดชอบ



https://www.youtube.com/watch?v=67SY6wWWJNw

ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเพราะตกสำรวจ ใครต้องรับผิดชอบ

สวัสดีครับ เรื่องเล่าคดีปกครอง กับทนายพฤกษ์ คดีปกครอง ที่จะนำมาเสนอในวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสำรวจข้อมูลราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีน้ำท่วมซึ่งมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือและการเยียวยาจากภาครัฐ

กรณีอุทกภัยหรือเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากที่จะต้องยอมรับและช่วยเหลือตนเองรวมทั้งช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้ว สิ่งที่ประชาชนคาดหวังและนึกถึงเป็นลำดับต่อมาก็คือความช่วยเหลือและการเยียวยาจากภาครัฐ ซึ่งความช่วยเหลือนั้นต้องเป็นความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

คดีปกครองที่จะนำมาเล่าในตอนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินเยียวยาช่วยเหลือน้ำท่วม โดยมีเหตุมาจากการเกิดน้ำท่วมในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของ อบต. และจังหวัดได้มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) นายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแล อบต. และเป็นประธานคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ ได้สั่งการให้ อบต. สำรวจครัวเรือนที่ประสบอุทกภัยเพื่อให้การช่วยเหลือ หลังจากนั้นได้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือให้ผู้ประสบอุทกภัยตามบัญชีรายชื่อที่สำรวจ แต่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ประสบอุทกภัยและอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือกลับไม่มีรายชื่อในแบบสำรวจ ผู้ฟ้องคดีก็เลยทวงถามไปทาง อบต. และได้รับการแจ้งกลับมาว่า มีการจ่ายเงินช่วยเหลือกันไปเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ตนก็เป็นผู้ประสบอุทกภัยมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือแต่ อบต. สำรวจรายชื่อตกหล่นทำให้ตนเสียสิทธิ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยฟ้องให้ นายก อบต. และ อบต. ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

โดยคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีได้อ้างว่า เนื่องจากในการสำรวจรายชื่อผู้ประสบอุทกภัยมีระยะเวลาในการสำรวจกระชั้นชิดและมีเจ้าหน้าที่ออกสำรวจไม่เพียงพอ รวมทั้งได้มีการประกาศแจ้งเสียงตามสายเพื่อให้ผู้เดือดร้อนไปแจ้งรายชื่อแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีมิได้ไปแจ้งสิทธิ

ในคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อการสั่งการของนายอำเภอเป็นการสั่งการโดยมีกฎหมายให้อำนาจกระทำได้ และเป็นการสั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย อบต. จึงมีหน้าที่สำรวจรายชื่อครัวเรือนที่ประสบอุทกภัยตามที่อำเภอมอบหมาย ถือได้ว่าเป็นหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ แม้ อบต. จะเพิ่งได้รับข้อสั่งการ แต่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบต. ย่อมต้องมีข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายในท้องที่ของตน โดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่แล้วก็น่าจะเพียงพอกับระยะเวลาดำเนินการ และไม่ใช่กรณีที่ราษฎรต้องแจ้งสิทธิของตนก่อน เมื่อ อบต. สำรวจและจัดเก็บรายชื่อไม่ถูกต้อง ทำให้รายชื่อของราษฎรที่อยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือตกสำรวจ จึงถือได้ว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ประสบอุทกภัยไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ จึงเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อบต. จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี

โดยสรุปเรื่องเล่าในตอนนี้ หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ความรับผิดชอบของตน นอกจากจะต้องให้ความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะหน้าแล้ว การสำรวจตรวจสอบข้อมูลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ผู้ประสบภัยก็ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลืออย่างถูกต้องครบถ้วน

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง

– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547

– Line: @prueklaw 

#สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง