หน่วยงานละเลยไม่ปรับพื้นถนน ทำให้มีผู้ประสบอุบัติเหตุ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

หน่วยงานของรัฐละเลยไม่ดูแลพื้นถนน ทำให้มีผู้ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย

ละเมิด

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 223 มาตรา 420 มาตรา 438 มาตรา 442 มาตรา 443 มาตรา 1461 วรรคสอง มาตรา 1563 มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง มาตรา 1629 มาตรา 1649 วรรคสอง)
  2. ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 (ข้อ 101 วรรคสอง)

คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นาง น. ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านพักไปตามถนน ซอยสมิตตะโยธิน ตําบลหมากแข้ง อําเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เมื่อถึงบริเวณจุดตัด กับทางรถไฟซึ่งเป็นบริเวณที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดี) กําลังทําการซ่อมบํารุงทางรถไฟ รถจักรยานยนต์ที่นาง น. ได้ขับขี่มาประสบอุบัติเหตุล้มลง ทําให้นาง น. ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ในเวลาต่อมา ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าถนนบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งมีการซ่อมบํารุงทางรถไฟอยู่นั้น มีลักษณะ เป็นหลุมหรือร่องรางรถไฟ ไม่มีเส้นแบ่งช่องจราจร หินคลุกบริเวณชิดขอบรางรถไฟมีการยุบตัว โดยพื้นผิวบริเวณที่ติดกับสันรางรถไฟอยู่ในระดับต่ํากว่าสันรางรถไฟ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทราบอยู่แล้วว่า ถนนบริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นหินคลุกอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาได้ ผู้ถูกฟ้องคดี จึงควรต้องดําเนินการปรับพื้นถนนบริเวณดังกล่าวให้มีความพร้อมสําหรับการใช้งานได้โดยสะดวก และเป็นไปเพื่อความปลอดภัยสําหรับประชาชนที่ต้องขับขี่รถผ่านถนนบริเวณดังกล่าวมากกว่าที่เป็นอยู่ หรือดําเนินการติดตั้งหรือวางสัญญาณเตือนโดยระบุระยะทางที่มีการซ่อมบํารุงทางรถไฟดังกล่าว เพื่อเตือนให้ผู้ใช้เส้นทางลดความเร็วและเตรียมความพร้อม ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถกระทําได้ โดยไม่ยุ่งยากหรือพ้นวิสัยที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะดําเนินการได้ตามนัยมาตรา 9 (4) และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 อย่างไรก็ตาม แม้ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติได้ว่ามีการจัดทําป้ายสัญญาณหรือเครื่องหมายแจ้งเตือนหรือไม่ แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดี ทราบอยู่แล้วว่าในขณะเกิดเหตุพื้นผิวถนนบริเวณที่เกิดเหตุอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ประชาชนที่สัญจรผ่านถนนบริเวณดังกล่าวได้ แต่ไม่ดําเนินการปรับพื้นถนนบริเวณดังกล่าวให้มีความพร้อม สําหรับการใช้งานได้โดยสะดวก และเป็นไปเพื่อความปลอดภัยสําหรับประชาชนที่ต้องขับขี่รถ ผ่านถนนบริเวณดังกล่าว ก็ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติแล้ว เมื่อการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวเป็นเหตุให้นาง น. ประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทําละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาท โดยธรรมของนาง น.

ข้อเท็จจริงปรากฏว่านาง น. ได้ใช้เส้นทางดังกล่าวเป็นประจําและเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี นาง น. จึงย่อมทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุกําลังดําเนินการซ่อมบํารุงทางรถไฟ และย่อมรู้ ถึงสภาพของพื้นถนนในบริเวณดังกล่าวเป็นอย่างดีว่าบริเวณใดที่มีพื้นถนนไม่เรียบ และย่อมต้องทราบว่า พื้นถนนที่ติดกับสันรางรถไฟจะอยู่ในระดับที่ต่ํากว่าสันรางรถไฟ นอกจากนั้น ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุนาง น. ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่ได้สวมหมวกที่จัดทําขึ้นโดยเฉพาะเพื่อป้องกัน อันตรายในขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งหากนาง น. ได้สวมใส่หมวกนิรภัยตามที่กฎหมายกําหนดไว้แล้ว ย่อมลดความรุนแรงที่เกิดจากอุบัติเหตุได้ และไม่น่าจะเกิดเหตุร้ายแรงจนถึงขนาดเสียชีวิตดังกล่าว การเสียชีวิตของนาง น. จึงเป็นผลมาจากความประมาทของนาง น. รวมอยู่ด้วย จึงเป็นกรณีที่นาง น. ผู้ตายมีส่วนประมาทเลินเล่อหรือส่วนผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่มาก จึงเห็นควรนําพฤติการณ์ในส่วนนี้ของนาง น. มาคํานวณหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จํานวนสองในสามส่วนตามนัยมาตรา 442 ประกอบกับมาตรา 223 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้มีสิทธิรับมรดก ของนาง น. ตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีทั้ง ย่อมมีหน้าที่ในการจัดการท่าศพตามมาตรา 1649 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมาย เดียวกัน ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนในส่วนของค่าปลงศพและค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้เรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพซึ่งเป็นค่าใช้จ่าย ในการจัดงานบําเพ็ญกุศลและฌาปนกิจศพนาง น. จํานวน 7 วัน เป็นเงินจํานวน 792,000 บาท โดยไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงค่าใช้จ่ายตามที่กล่าวอ้าง มีเพียงการชี้แจงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาพทางสังคมและครอบครัวของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่แล้ว การที่ศาลปกครองชั้นต้นกําหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้วันละ 50,000 บาท จํานวน 7 วัน รวมเป็นเงินจํานวน 350,000 บาท จึงสูงเกินส่วน เห็นควรกําหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้วันละ 30,000 บาท จํานวน 7 วัน รวมเป็นเงินจํานวน 200,000 บาท

สําหรับค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น นั้น เมื่อพิจารณาค่าเดินทางไปกลับระหว่างจังหวัดชลบุรีกับจังหวัดอุดรธานีของผู้ฟ้องคดีที่ 2 และค่าเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพมหานคร กับจังหวัดอุดรธานีของผู้ฟ้องคดีที่ 3 รวมทั้งค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุแล้ว เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวถือเป็นค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่นที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ตามที่จ่ายจริง ซึ่งแม้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 จะมิได้แสดงเอกสารหลักฐานประกอบก็ตาม แต่เมื่อพิจารณา ระยะทางระหว่างจังหวัดชลบุรีกับจังหวัดอุดรธานีซึ่งมีระยะทางประมาณ 645 กิโลเมตร และระหว่าง กรุงเทพมหานครกับจังหวัดอุดรธานีซึ่งมีระยะทางประมาณ 564 กิโลเมตร โดยคํานวณค่าใช้จ่าย ในส่วนนี้เฉลี่ยกิโลเมตรละประมาณ 2 บาท และค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเป็นเงินจํานวน 3,000 บาท ก็เป็นจํานวนเงินพอสมควร จึงเชื่อได้ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริง การที่ศาลปกครองชั้นต้นกําหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้รวมเป็นเงินจํานวน 7,500 บาท จึงเหมาะสม และเป็นธรรมแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ได้แก่ ค่าขาดรายได้ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ขณะจัดงานศพนาง น. ค่าที่พักญาติที่มาร่วมงานศพ และดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ ที่นํามาใช้จ่ายในงานศพ นั้น เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทําละเมิด ของผู้ถูกฟ้องคดี ศาลจึงไม่อาจกําหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ให้ได้

สําหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีคําขอให้ศาลกําหนดค่าเสียหายทางจิตใจที่ต้องสูญเสีย มารดาจนทําให้เจ็บป่วยและจําเป็นจะต้องทําการรักษาตัว ค่าเดินทาง และค่ารักษาพยาบาลของผู้ฟ้องคดี ที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 เป็นเงินจํานวน 1,000,000 บาท นั้น เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดี ละเลยต่อหน้าที่เป็นเหตุให้นาง น. ถึงแก่ความตายนั้น เป็นการกระทําละเมิดต่อชีวิตของนาง น. เท่านั้น มิใช่การกระทําละเมิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิของผู้ฟ้องคดีที่ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของนาง น. แต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 จึงชอบที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 และมาตรา 445 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันได้แก่ ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอื่น ค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย ค่าขาดประโยชน์ทํามาหาได้ ก่อนตาย ค่าขาดไร้อุปการะ และค่าขาดแรงงานเท่านั้น ส่วนค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่น อันมิใช่ตัวเงิน นั้น เมื่อพิจารณามาตรา 446 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน คือ ผู้ที่ถูกกระทําละเมิดต่อร่างกาย อนามัย เสรีภาพ หรือหญิงผู้ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทําผิดอาญาอันเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนเท่านั้น ทายาทของผู้ถูกกระทําละเมิดจนถึงแก่ความตายหาได้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินแต่อย่างใด ศาลจึงไม่อาจกําหนดค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายทางจิตใจให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ตามคําขอได้

สําหรับค่าสูญเสียโอกาสที่จะทํามาหารายได้ของนาง น.เป็นระยะเวลา 10 ปี นั้น เห็นว่า เป็นรายได้ในอนาคตที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่คาดหมายว่านาง น.จะได้รับหากยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่มีสิ่งใด ที่จะยืนยันได้อย่างแน่นอนว่าหากนาง น. ยังคงมีชีวิตอยู่จะมีรายได้จากการทําตาข่ายเป็นเงินจํานวน ตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่กล่าวอ้าง ศาลจึงไม่อาจกําหนดคําบังคับในส่วนนี้ให้ได้

เมื่อได้พิจารณามาแล้วข้างต้นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่รวมเป็นเงินจํานวน 217,500 บาท แต่โดยที่นาง น. ผู้ตาย มีส่วนประมาทเลินเล่อ หรือส่วนผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีและความร้ายแรง แห่งละเมิด ประกอบกับพฤติการณ์และการกระทําของนาง น. ตามมาตรา 442 ประกอบกับมาตรา 223 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เห็นควรนําส่วนความประมาทหรือความผิด ของนาง น. มาหักออกจากความรับผิดของผู้ถูกฟ้องคดีจํานวนสองในสามส่วนของค่าสินไหมทดแทน ที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิด คงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ เป็นเงินจํานวน 72,500 บาท

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีคําขอในชั้นอุทธรณ์คําพิพากษาให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันกระทําละเมิดจนกว่าจะชําระเสร็จ นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในชั้นการพิจารณาคดีนี้ของศาลปกครองชั้นต้น ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ได้มีคําขอท้ายคําฟ้องหรือคําฟ้องเพิ่มเติมขอให้ศาลกําหนดคําบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีชําระดอกเบี้ยนับแต่วันกระทําละเมิดจนกว่าจะชําระเสร็จให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่แต่อย่างใด การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีคําขอ ดังกล่าวในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลปกครองชั้นต้น อีกทั้งมิใช่ ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือปัญหาเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จะยกปัญหาข้อนั้นขึ้นกล่าวในคําอุทธรณ์ได้ จึงเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามตามข้อ 101 วรรคสอง แห่งระเบียบฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ

โดยสรุป การกําหนดค่าสินไหมทดแทนกรณีผู้เสียหายมีส่วนผิด ในการที่ผู้ตายใช้เส้นทางที่เกิดเหตุ เป็นประจําและเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ย่อมทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุกําลังดําเนินการซ่อมบํารุง และพื้นถนนไม่เรียบ อีกทั้งผู้ตายยังไม่สวมหมวกกันน็อก การเสียชีวิตจึงเป็นผลมาจากความประมาท ของผู้ตายรวมอยู่ด้วย จึงควรหักออกจากค่าสินไหมทดแทน

คําสําคัญ : ละเมิดต่อบุคคลภายนอก/ละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่/การกําหนดค่าสินไหมทดแทน/ ผู้เสียหายมีส่วนผิด/ค่าปลงศพ/ค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น/ค่าขาดรายได้/ค่าสูญเสียโอกาสที่จะทํามาหารายได้/ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน/ข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลปกครองชั้นต้น

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อผ. 128/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายคดีปกครอง