คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

ทนายความคดีปกครอง ที่ปรึกษาคดีปกครอง สำหรับคดีที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนั้น พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติประเภทของคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ในมาตรา 9 วรรคหนึ่ง และคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุดในมาตรา 11

คดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครองชั้นต้น ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แบ่งได้เป็น 6 ประเภทคดี ได้แก่

1. คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1))

คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมหรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ซึ่งอาจแบ่งพิจารณาได้ 3 ประเภท คือ

  • คดีพิพาทอันเกิดจากการออกกฎโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 3 ได้ให้ความหมายของ “กฎ” ไว้ว่า “กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลโดยเป็นการเฉพาะ เช่น การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานแห่งชาติทับที่ดินของราษฎร เป็นต้น

  • คดีพิพาทอันเกิดจากการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ได้ให้ความหมายของ “คำสั่งทางปกครอง” หมายถึง การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ เช่น การเพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือวิชาชีพอื่น คำสั่งเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการ คำสั่งเกี่ยวกับสวัสดิการของข้าราชการ เป็นต้น

  • คดีพิพาทอันเกิดจากการกระทำอื่นใด

ปฏิบัติการทางปกครอง คือ การใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยการใช้แรงทางกายภาพ เช่น เจ้าพนักงานทำงานใช้รถยกรถยนต์ที่จอดบริเวณห้ามจอด  เจ้าพนักงานท้องถิ่นรื้ออาคารที่ก่อสร้างหรือดัดแปลงโดยผิดกฎหมาย เป็นต้น

การจัดทำบริการสาธารณะ เช่น การพิจารณาเกี่ยวกับการกำหนด เงื่อนไข และกำหนดจุดก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม เป็นต้น

2. คดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2))

คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่
ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งสามารถแบ่งพิจารณาได้ดังนี้

  • คดีพิพาทเกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ

การละเลยต่อหน้าที่ หมายความว่า มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ แต่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกลับเพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

  • คดีพิพาทเกี่ยวกับปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

การปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร หมายความว่า กฎหมายกำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติและได้ปฏิบัติหน้าที่นั้นแล้ว แต่ใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่นั้นนานกว่าที่พึงจะปฏิบัติ

3. คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3)

การกระทำละเมิด คือ การกระทำใดๆ ต่อบุคคลอื่นโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 อย่างไรก็ตาม คดีละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 2 ประการ คือ (1) เป็นคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และ
(2) เป็นคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยแยกพิจารณาดังนี้

  • คดีละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นฯ

คดีละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ในการสร้าง บำรุงและรักษาทางพิเศษ และตามสัญญาระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ยังกำหนดให้มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือผู้ใช้ทางด่วน เมื่อการก่อสร้างทางด่วนสร้างความเดือดร้อนจนมีหนังสือร้องเรียนให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดจากการก่อสร้างแต่ไม่อาจแก้ไขได้ ถือว่าความเสียหายเป็นผลโดยตรงจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

คดีละเมิดอันเกิดจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นใด เช่น การที่เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินทับที่ดินในความครอบครองของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีจึงขอให้ตรวจสอบและเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้แจ้งว่าออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมายแล้ว เป็นการโต้แย้งว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นประเด็นหลัก จึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง

คดีละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เช่น กฎหมายกำหนดให้เทศบาลตำบลมีอำนาจหน้าที่จัดให้มีและบำรุงทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ อันเป็นกิจการทางปกครองหรือการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยเฉพาะ อำนาจและหน้าที่ดังกล่าวย่อมหมายความรวมถึงการกำหนดแบบแปลนและแบบรูปของทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำที่จะทำการก่อสร้างให้ได้มาตรฐานทางวิศวกรรม ควบคุมดูแลให้การก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนและแบบรูปที่กำหนด และทำนุบำรุงให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้การได้โดยไม่ก่อให้เกิดภยันตรายแก่ชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนอยู่เสมอด้วย การที่เทศบาลตำบลได้จัดทำท่อระบายน้ำริมถนน โดยทุกระยะ 10 เมตร จะสร้างบ่อระบายน้ำทิ้ง และใช้ตะแกรงเหล็กปิดไว้เพื่อให้น้ำจากถนนไหลลงท่อระบายน้ำใต้ดินและป้องกันมิให้คนหรือสิ่งของตกลงไปในบ่อระบายน้ำทิ้ง แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อมิได้จัดทำตะแกรงเหล็กปิดวางบนปากบ่อให้มีขนาดพอดีกับปากบ่อ ทั้งมิได้จัดทำบ่ารองรับตะแกรงเหล็กให้มีความแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักคนหรือสิ่งของได้อย่างปลอดภัย เป็นเหตุให้โจทก์พลัดตกลงไปในบ่อระบายน้ำทิ้ง ตะแกรงเหล็กทับขาของโจทก์หักหลายท่อน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ในการดำเนินกิจการทางปกครองหรือบริการสาธารณะที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คดีละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เช่น การเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรในการจัดทำ น.ส.3 ก.

4. คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4))

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้ให้ความหมายของสัญญาทางปกครองในมาตรา 3 ว่า “สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ” ทั้งนี้ ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดได้อธิบายหลักเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองไว้ว่า “สัญญาใดจะเป็นสัญญาทางปกครองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้นั้น ประการแรก คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งต้องเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนรัฐ ประการที่สอง สัญญานั้นมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครอง หรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐตกลงให้คู่สัญญาที่อีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการ หรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรงหรือเป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครอง ซึ่งก็คือการบริการสาธารณะบรรลุผล  ดังนั้น หากสัญญาใดเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐมุ่งผูกพันตนกับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาค และก็ได้มีลักษณะเช่นที่กล่าวมาข้างต้น สัญญานั้นย่อมเป็นสัญญาทางแพ่ง”  ดังนั้น สัญญาทางปกครองจึงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

สัญญาทางปกครองตามคำนิยามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้แก่

(1) สัญญาสัมปทาน

  สัมปทาน หมายถึง การที่รัฐอนุญาตให้เอกชนจัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดทำประโยชน์เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติภายในระยะเวลาและตามเงื่อนไขที่รัฐกำหนด เช่น สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส ระหว่าง กรุงเทพมหานคร และบริษัทรถไฟฟ้าบีทีเอส สัญญาที่เอกชนทำกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย สัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายกิจการโทรศัพท์ในเขตโทรศัพท์ภูมิภาคขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย

(2) สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ

บริการสาธารณะ หมายถึง กิจการที่อยู่ในความอำนวยการ หรืออยู่ในความควบคุมของฝ่ายปกครองที่จัดทำขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองตอบความต้องการส่วนรวมของประชาชน เช่น การศึกษาเป็นบริการสาธารณะอย่างหนึ่งของรัฐ อาคารมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นถาวรวัตถุอันเป็นองค์ประกอบและเครื่องมือสำคัญในการดำเนินบริการสาธารณะดังกล่าวให้บรรลุผล จึงเป็นสิ่งสาธารณูปโภคที่ประชาชนสามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้โดยตรง อีกทั้งวัตถุแห่งสัญญาคือ การรับจ้างก่อสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และศูนย์เครื่องมือกลางในมหาวิทยาลัยของรัฐ ถือได้ว่าเป็นการที่หน่วยงานทางปกครองมอบให้เอกชนเข้าดำเนินการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค  ดังนั้น สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง

(3) สัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค

สาธารณูปโภค หมายถึง การบริการสาธารณะที่จัดทำขึ้นเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชนในสิ่งอุปโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เช่น การไฟฟ้า การประปา การเดินรถประจำทาง สัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค เช่น การประปาถือว่าเป็นสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยตรงที่รัฐเป็นผู้จัดให้มีขึ้น การที่เทศบาลตำบลกำแพงแสนทำสัญญาจ้างก่อสร้างวางท่อน้ำประปาภายในเขตเทศบาล ถือได้ว่าเป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองทั้งข้อพิพาทมีมูลอันเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างวางท่อน้ำประปา จึงเป็นสัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค  ดังนั้น สัญญาจ้างก่อสร้างวางท่อน้ำประปาจึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนรัฐ ทั้งเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคอันอยู่ในความหมายของสัญญาทางปกครอง

(4) สัญญาแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น สัญญาให้ทำไม้ เหมืองแร่ หรือหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอื่น เป็นต้น

สัญญาทางปกครองโดยสภาพหรือโดยเนื้อหา

เป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยวางหลักว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง เช่น สัญญาจ้างก่อสร้างพัฒนาระบบแปลงเกษตรกรรมเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและมีข้อกำหนดที่มีลักษณะพิเศษที่ให้เอกสิทธิ์แก่ฝ่ายปกครองเป็นอันมากเช่น ให้อำนาจแก่ผู้ว่าจ้างที่จะสั่งให้ผู้รับจ้างทำงานพิเศษเพิ่มเติมได้ ให้ฝ่ายปกครองเพียงฝ่ายเดียวที่จะ
เลิกสัญญาได้ ประกอบกับมีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูปที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินการทางปกครองบรรลุผล ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่พบในทางแพ่งทั่วไป นอกจากนี้ ยังมีการตกลงให้ใช้สัญญาแบบปรับราคาได้
สัญญานี้จึงเป็นสัญญาทางปกครอง เป็นต้น

5. คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้บังคับให้บุคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (5))

กรณีนี้เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าหากมีข้อเท็จจริงใดเกิดขึ้นแล้ว หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคลต้องกระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นข้อเท็จจริงที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น เช่น เจ้าท่าฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งขับไล่ผู้บุกรุกชายหากสาธารณประโยชน์หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย

6. คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (6))

กรณีข้อพิพาทอันเกิดจากสัญญาทางปกครอง คู่สัญญาอาจมีการกำหนดให้มีการระงับข้อพิพาทนั้นด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 กำหนดให้การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาด และเมื่อข้อพิพาทจากสัญญาทางปกครองเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีปกครอง  ดังนั้น การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (6) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 เช่น ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และผู้คัดค้านทั้งสองขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้บังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง เป็นต้น

คดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา 11 แบ่งได้เป็น

1. คดีพิพาทเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ตามที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดประกาศกำหนด

2. คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกาหรือกฎที่ออกโดยคณะรัฐมนตรี หรือโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

3. คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด

4. คดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

อ่านต่อ : เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง

PODCAST : คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.1

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง

– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง