ความเสียหายจากการยกเลิกการประกวดราคาหน่วยงานต้องรับผิดหรือไม่

ความเสียหายจากการยกเลิกการประกวดราคาหน่วยงานต้องรับผิดหรือไม่

            เรื่องเล่าคดีปกครองกับทนายพฤกษ์ คดีปกครองในตอนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่หน่วยงานของรัฐยกเลิกการประกาศประกวดราคาเนื่องจากหน่วยงานของรัฐไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากให้มีการทำสัญญาต่อไปจะเป็นการขัดต่อกฎหมายและทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะ หน่วยงานของรัฐจึงยกเลิกการประกวดราคาอันมิใช่ความผิดของบริษัทเอกชน ทำให้บริษัทเอกชนผู้ที่ได้รับคัดเลือกจากการเข้าประกวดราคาต้องได้รับความเสียหาย หน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการยกเลิกการประกวดราคาหรือไม่

            ข้อเท็จจริงในกรณีนี้มีอยู่ว่า กรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศประกวดราคาจ้างกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อหาผู้รับจ้างมาทำการกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่ที่กำหนด และผู้รับจ้างจะต้องลงทุนก่อสร้างและเดินระบบกำจัดมูลฝอย ซึ่งมีมูลค่าโครงการเป็นเงินกว่าแปดพันล้าน ผู้ฟ้องคดีเป็นบริษัทเอกชนซึ่งมีคุณสมบัติและศักยภาพที่จะดำเนินการโครงการได้จึงเข้าร่วมเสนอราคา และผลการพิจารณาปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอย ภายหลังจากการประกาศผลการพิจารณาผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการเตรียมการเพื่อจัดทำโครงการดังกล่าวไปแล้วบางส่วน ต่อมา กรุงเทพมหานครมีหนังสือขอให้ขอขยายระยะเวลายื่นราคาออกไปอีก 180 วัน นับจากวันครบกำหนดยืนราคาเดิม โดยอ้างเหตุว่าต้องใช้เวลาในการพิจารณาตามขั้นตอนของทางราชการ โดยผู้ฟ้องคดียินยอมขยายเวลาการยืนราคาดังกล่าว และได้มีการขอขยายระยะเวลาการยืนราคาออกไปอีก 12 ครั้ง ซึ่งเป็นเวลารวม 510 วัน จากนั้นกรุงเทพมหานครมีหนังสือแจ้งยกเลิกการประกวดราคาโครงการกำจัดขยะมูลฝอยโดยให้เหตุผลว่า หากเซ็นสัญญาต่อไปจะขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และทำให้สัญญาเป็นโมฆะ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งยกเลิกการประกวดราคาแต่ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์จึงนำคดียื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย

            ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่กรุงเทพมหานครมีหนังสือแจ้งยกเลิกการประกวดราคาโดยให้เหตุผลว่า หากดำเนินการโครงการต่อไปจะขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เพราะวงเงินเกินหนึ่งพันล้านบาท ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการผ่านกระทรวงที่สังกัดและได้รับความเห็นชอบโครงการจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้งขออนุมัติในหลักการจากคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะดำเนินการ การที่กรุงเทพมหานครประกาศประกวดราคาโดยมิได้ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวซึ่งถือเป็นขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนด นั้น เกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ในสังกัด จนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเข้าประกวดราคาโดยสุจริตและเชื่อว่าเป็นประกาศประกวดราคาที่ชอบด้วยกฎหมายและจะได้เข้าทำสัญญาต่อไป การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ทำสัญญาเพราะมีคำสั่งยกเลิกการประกวดราคา ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ดังนั้น จึงถือว่า การที่กรุงเทพมหานครกระทำโดยประมาทเลินเล่อส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงให้แก่ผู้ฟ้องคดี

            โดยสรุป การที่หน่วยงานของรัฐจะดำเนินโครงการซึ่งเป็นกรณีที่ต้องมีขั้นตอนและวิธีการในการดำเนินการให้เป็นไปภายใต้บังคับของกฎหมาย หน่วยงานนั้นจะต้องดำเนินการประกวดราคาให้ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด กรณีการดำเนินการที่ไม่ได้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งอาจเกิดจากความประมาทของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้อง หน่วยงานของรัฐนั้นไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดกับบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประกวดราคาโดยสุจริตและได้รับความเสียหาย จากการยกเลิกการประกวดราคาอันที่ไม่ใช่ความผิดของบริษัทนั้นได้ หน่วยงานของรัฐจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงอันเป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดแก่บริษัทเอกชนที่ชนะการประกวดราคานั้น

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง