เงื่อนไขการเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายในคดีปกครอง

เงื่อนไขการเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายในคดีปกครอง

บทความนี้ทนายคดีปกครองจะขอนำเสนอเรื่องที่ค่อนข้างมีความสำคัญต่อการฟ้องคดีปกครอง โดยในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น หลักเกณฑ์ในเรื่องเกี่ยวกับการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีถือเป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองที่สำคัญโดยศาลจะมีคำสั่งรับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณาได้หรือไม่ นั้นจะต้องพิจารณาในเรื่องผู้มีสิทธิในการฟ้องคดี โดยบทบัญญัติมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอานาจศาลปกครองตามมาตรา 9 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา 72 ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าวแล้วสามารถแยกองค์ประกอบของการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง 3 มีประการ คือ

ประการที่ 1 ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในเรื่องนั้น แยกพิจารณาได้ 2 กรณี

(1) ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย

ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองในกรณีนี้ คือ ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำ หรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายตามความหมายนี้ แม้เพียงสิทธิประโยชน์หรือสถานภาพทางกฎหมายของตนถูกกระทบกระเทือนจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ กล่าวคือ คดีฟ้องขอให้เพิกถอนกฎหรือคำสั่ง หรือห้ามการกระทำตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ผู้มีสิทธิฟ้องคดีถือเกณฑ์ “ประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสีย” จากการถูกกระทบกระเทือนของกฎหรือคำสั่งหรือการกระทำนั้น

(2) ผู้ที่อาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย

ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองในกรณีนี้ คือ ผู้ที่อยู่ในสถานะที่อาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ โดยไม่จำต้องรอให้ต้องได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากเหตุดังกล่าวก่อน เช่น มีการก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ฟ้องคดีอาจเป็นผู้จะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย

ประการที่ 2 ความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนั้นเกิดจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 9 วรรคหนึ่ง โดยความเดือดร้อนเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนั้น นอกจากจะเกิดจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว ยังรวมถึงการมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 9 ด้วย กล่าวคือ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ (ประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียดังกล่าวถูกกระทบกระเทือน) จากมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (6)

ประการที่ 3 การแก้ไขเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนั้นต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 72 คือ คำขอให้ศาลกำหนดคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้ง

โดยในเรื่องเงื่อนไขการเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำในทางปกครอง นั้น ได้แก่ การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร การกระทำละเมิด รวมถึงการมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง หากไม่เป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย ศาลจะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

นอกจากนี้ คำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดจะต้องเป็นคำขอที่ศาลปกครองมีอำนาจบังคับได้ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ด้วย โดยต้องเป็นคำขอที่สามารถเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี

นอกจากผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรือผู้ที่อาจจะเดือนร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังรวมถึงผู้ตรวจกานแผ่นดินที่มีสิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า กฎ หรือการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้มีสิทธิเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองได้ ในการเสนอความเห็นดังกล่าวผู้ตรวจการแผ่นดินมีสิทธิและหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ในการฟ้องคดีและดำเนินคดีนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินอาจอาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้ตามข้อ 28 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ

PODCAST : เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.2

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง