คําสั่งไม่รับคําขอจดแจ้งรายการภาระจํายอมในโฉนดที่ดินแปลงสามยทรัพย์ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

คําสั่งไม่รับคําขอจดแจ้งรายการภาระจํายอมในโฉนดที่ดินแปลงสามยทรัพย์

ที่ดิน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 1299 มาตรา 1301 และมาตรา 1387)
  2. ระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับภาระจํายอม ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น พ.ศ. 2550 (ข้อ 14 วรรคหนึ่ง)

ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงภารยทรัพย์กับผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แปลงสามยทรัพย์ ได้ทําบันทึกข้อตกลงภาระจํายอมบางส่วน ตกลงยินยอมให้ที่ดินบางส่วนทางด้านทิศใต้ตกอยู่ในบังคับภาระจํายอมเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์ ไฟฟ้า ประปา และสาธารณูปโภคอื่น อันเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้มาซึ่งภาระจํายอมตามมาตรา 1387 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยนิติกรรม ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ประเภทภาระจํายอมในสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินแปลงภารยทรัพย์ การได้มาซึ่งสิทธิในภาระจํายอม ของผู้ฟ้องคดีย่อมบริบูรณ์ใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้ตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่มีความจําเป็นที่จะต้องมีการจดทะเบียนไว้ในโฉนดที่ดินแปลงสามยทรัพย์ ของผู้ฟ้องคดี อย่างไรก็ตาม ข้อ 14 วรรคหนึ่ง ของระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมเกี่ยวกับภาระจํายอมในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น พ.ศ. 2550 ได้กําหนดไว้ว่า การจดทะเบียนภาระจํายอม ถ้าคู่กรณีประสงค์จะจดไว้ในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถรับจดทะเบียนในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ได้ อันเป็นกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนภาระจํายอมในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ได้ต่อเมื่อคู่กรณีมีคําขอ ดังนั้น เมื่อต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคําขอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ขอให้จดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมประเภทภาระจํายอม เพื่อจดแจ้งรายการจดทะเบียนภาระจํายอมตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวลงในโฉนดที่ดินแปลงสามยทรัพย์ของผู้ฟ้องคดีด้วย โดยเป็นการยื่นคําร้องฝ่ายเดียว ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงภารยทรัพย์ไม่ได้ไปด้วย โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคําสั่งไม่รับคําขอจดแจ้งรายการจดทะเบียนภาระจํายอมในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นการออกคําสั่ง โดยชอบด้วยข้อ 14 วรรคหนึ่ง ของระเบียบกรมที่ดินดังกล่าวแล้ว และการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) วินิจฉัยยกอุทธรณ์ผู้ฟ้องคดี ย่อมชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

แม้การได้มาซึ่งภาระจํายอมจะมีผลโดยบริบูรณ์ เมื่อมีการจดทะเบียนในที่ดิน แปลงภารยทรัพย์ตามมาตรา 1299 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็ตาม แต่การจดทะเบียนภาระจํายอมในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ถือได้ว่าเป็นการรับรองสิทธิในภาระจํายอมที่เจ้าของที่ดินแปลงสามยทรัพย์มีอยู่เหนือที่ดินแปลงภารยทรัพย์ ซึ่งสามารถยกขึ้นกล่าวอ้าง กับบุคคลอื่นได้ตามกฎหมาย อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลง ระงับ หรือกลับคืนมาซึ่งภาระจํายอมจะมีผล บังคับโดยบริบูรณ์ตามกฎหมายก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ตามมาตรา 1301 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกภาระจํายอม นอกจากจะต้องมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกในที่ดินแปลงภารยทรัพย์แล้ว ก็จะต้องมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ด้วย เจ้าของที่ดินแปลงภารยทรัพย์ จึงจะสามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลอื่นได้ตามกฎหมาย กรณีจึงเห็นได้ว่า การจดทะเบียนภาระจํายอมในที่ดินแปลงสามยทรัพย์มีผลกระทบต่อสิทธิของเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ด้วย คู่กรณีที่จะแสดง ความประสงค์ในการขอจดทะเบียนภาระจํายอมในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ จึงหมายถึง ทั้งเจ้าของที่ดินแปลงสามยทรัพย์และแปลงภารยทรัพย์

โดยสรุป พนักงานเจ้าหน้าที่จะสามารถรับคําขอจดแจ้งรายการจดทะเบียนภาระจํายอมในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ได้ ก็ต่อเมื่อคู่กรณีมีคําขอ โดยคู่กรณี หมายถึง ทั้งเจ้าของที่ดินแปลงสามยทรัพย์และแปลงภารยทรัพย์ เจ้าของที่ดินแปลงสามยทรัพย์จึงไม่อาจไปยื่นคําขอเพียงฝ่ายเดียวได้

คําสําคัญ : การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน/การจดทะเบียนภาระจํายอม

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 336/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

คําสั่งของเจ้าท่า ให้บุคคลปรับสภาพที่ดินให้มีสภาพตื้นเขินดังเดิม | เรื่องเด่น คดีปกครอง

คําสั่งของเจ้าท่าให้บุคคลปรับสภาพที่ดินให้มีสภาพตื้นเขินดังเดิม

การคมนาคมและการขนส่ง : กรณีฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคําสั่งที่ให้ดําเนินการปรับสภาพพื้นที่ดิน บริเวณคลองขวางให้เป็นไปตามสภาพที่ตื้นเขินดังเดิม

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 1304 (2))
  2. ประมวลกฎหมายที่ดิน (มาตรา 8 วรรคสอง (1))
  3. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 (มาตรา 38)
  4. พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 (มาตรา 3 มาตรา 117 มาตรา 118 ทวิ มาตรา 119 และมาตรา 120)

คลองขวางเป็นคลองสาธารณประโยชน์ซึ่งในอดีตประชาชนได้ใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำและส่งน้ำเข้าไปในพื้นที่ทําการเกษตร จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สิน สําหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ปัจจุบันคลองขวางจะเกิดการตื้นเขิน เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างพาดทับ ทําให้น้ำไม่สามารถไหลผ่านไปสู่แม่น้ำ เจ้าพระยาได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการถอนสภาพพื้นที่ดินบริเวณดังกล่าวหรือโอนไปใช้เพื่อการอย่างอื่นให้พ้นสภาพจากการเป็นทางน้ำสําหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามมาตรา 8 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน คลองขวางย่อมยังคงมีสภาพเป็นทางน้ำสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสําหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โดยเจ้าท่ามีอํานาจหน้าที่ในการดูแลรักษาตามพระราชบัญญัติ การเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2556

ปัจจุบันคําว่า “เจ้าท่า”ตามบทนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือ ในน่านน้ำไทยฯ หมายถึง อธิบดีกรมเจ้าท่า และบุคคลซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่ามอบหมาย อันเป็นกรณี ที่มีกฎหมายกําหนดเรื่องการมอบอํานาจไว้เป็นการเฉพาะแล้ว อธิบดีกรมเจ้าท่าอาจมอบหมาย ให้บุคคลอื่นเป็นเจ้าท่าได้ตามที่เห็นสมควร และเมื่ออธิบดีกรมเจ้าท่าได้มอบหมายให้บุคคลใด ทําหน้าที่เป็น “เจ้าท่า” แล้ว บุคคลนั้นย่อมมีอํานาจหน้าที่ในส่วนที่ได้รับมอบหมายตามที่กฎหมาย บัญญัติไว้ดังเช่นเป็นอํานาจของตนเอง บุคคลซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่ามอบหมาย จึงมีฐานะเป็น “เจ้าท่า” ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ เช่นเดียวกับอธิบดีกรมเจ้าท่า และไม่ถือว่าเป็น การปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า การมอบหมายดังกล่าวมิใช่เรื่องการมอบอํานาจตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ที่เป็นการมอบอํานาจให้บุคคลซึ่งดํารงตําแหน่งอื่น ปฏิบัติราชการแทนเจ้าของอํานาจ อันจะทําให้ผู้มอบอํานาจสามารถวางแนวทาง กําหนดรายละเอียด และกํากับดูแลการปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องกับการมอบอํานาจนั้นได้ ดังนั้น เมื่ออธิบดีกรมเจ้าท่า ได้มีคําสั่งที่ 442/2547 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 โดยข้อ 2 ของคําสั่งดังกล่าวได้กําหนด มอบอํานาจ “เจ้าท่า” ในการอนุญาตให้ขุดลอก ดูแลรักษาร่องน้ำทางเรือเดิน สําหรับร่องน้ำภายในประเทศ ที่เป็นบึง ลําคลอง แม่น้ำ ขนาดเล็กที่มีพื้นที่อยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ เพียงแห่งเดียว และร่องน้ำชายฝั่งทะเลขนาดเล็ก รวมถึงการดําเนินคดีกับผู้กระทําความผิดตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 ให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น จึงเป็นกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนตําบลบ้านกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ในฐานะผู้แทน ขององค์การบริหารส่วนตําบลบ้านกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจ้าท่า ให้ทําหน้าที่เป็น “เจ้าท่า” ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีอํานาจหน้าที่ในการดูแลรักษาคลองขวางซึ่งเป็น คลองสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในเขตพื้นที่ของตนตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ มิใช่ การปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่าที่จะต้องกระทําภายใต้การกํากับดูแลของอธิบดีกรมเจ้าท่า

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ถมดินในคลองขวางบริเวณส่วนที่ผ่านที่ดิน ของผู้ฟ้องคดีและปลูกสร้างบ้านพักคนงานรุกล้ําเข้าไปในคลองขวาง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีคําสั่ง ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ําคลองขวาง และต่อมาสํานักงานการขนส่งทางน้ำที่ 2 สาขานนทบุรี ตรวจสอบพบว่า ผู้ฟ้องคดีได้ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ําเข้าไปในคลองขวางลักษณะเป็นการถมดินเต็มพื้นที่คลองขวางบริเวณหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 หัวหน้า สํานักงานการขนส่งทางน้ำที่ 2 สาขานนทบุรี ผู้ได้รับมอบอํานาจจากอธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะเจ้าท่า จึงอาศัยอํานาจตามมาตรา 118 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มีคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งอื่นใดที่ล่วงล้ําเข้าไปในคลองขวาง และปรับสภาพพื้นที่ให้เป็นไปตามสภาพเดิมของคลองขวาง ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติตามคําสั่งโดยทําการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ําเข้าไปในคลองขวาง พร้อมทั้งขุดดิน ออกจากคลองขวางแล้วปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพคลองดังเดิม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เห็นว่า ผู้ฟ้องคดี ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามคําสั่ง เนื่องจากมิได้สั่งให้ผู้ฟ้องคดีขุดดินออกจากคลองขวาง จึงได้มีคําสั่ง ให้ผู้ฟ้องคดีดําเนินการปรับสภาพพื้นที่ดินบริเวณคลองขวางให้เป็นไปตามสภาพที่ตื้นเขินดังเดิม กรณีย่อมเห็นได้ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคําสั่งดังกล่าวเป็นการออกคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทํา ด้วยประการใด ๆ ให้คลองขวางเกิดการตื้นเขิน และเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ซึ่งไม่สอดคล้องกับอํานาจหน้าที่ ในฐานะ “เจ้าท่า” ในการดูแลรักษาคลองขวาง อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชน ใช้ประโยชน์ร่วมกันตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 117 มาตรา 118 ทวิ มาตรา 119 และมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการเดินเรือหรือการสัญจรทางน้ำให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนควบคุมมิให้มีการกระทําใด ๆ ที่อาจจะเป็นการกีดขวางหรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือหรือการสัญจร ทางน้ำของประชาชน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และมีลักษณะเป็นการสร้างภาระให้เกิดกับ ผู้ฟ้องคดีเกินสมควรแก่เหตุ

โดยสรุป การที่บุคคลผู้ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำคลองสาธารณประโยชน์ได้ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าท่า โดยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป พร้อมทั้งได้ขุดดินเพื่อปรับสภาพให้กลับเป็นคลองด้วย แต่เจ้าท่าได้มีคําสั่งให้บุคคลดังกล่าวปรับสภาพที่ดินให้มีสภาพตื้นเขินดังเดิม ซึ่งเป็นคําสั่งที่ไม่สอดคล้องกับอํานาจหน้าที่ในฐานะเจ้าท่า และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ย่อมเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบและเป็นการสร้างภาระเกินสมควรแก่เหตุ

คําสําคัญ : คลองสาธารณประโยชน์/สาธารณสมบัติของแผ่นดินสําหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน/บุคคลซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่ามอบหมายให้ทําหน้าที่เป็นเจ้าท่า การใช้ดุลพินิจในการออกคําสั่งโดยมิชอบ/ คําสั่งที่มีลักษณะเป็นการสร้างภาระเกินสมควรแก่เหตุ

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 663/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

การพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนส่วนบุคคล | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนส่วนบุคคล

งานทะเบียน (งานทะเบียนอาวุธปืน) : การพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนส่วนบุคคล

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น
  2. พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 (มาตรา 7 และมาตรา 9)
  3. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (มาตรา 30 และมาตรา 45 วรรคสอง)

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ซื้ออาวุธปืนชนิดกึ่งอัตโนมัติ ขนาด 9 มม. ยี่ห้อกล็อก รุ่น 19 GEN 4 ตามโครงการสวัสดิการอาวุธปืนสํานักงานศาลยุติธรรม และได้ยื่นคําร้องขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป. 1) แต่นายทะเบียนอาวุธปืนอําเภอเมืองยะลา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ได้ตรวจสอบการอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป. 4) จากต้นขั้วและฐานข้อมูลทะเบียนอาวุธปืนแล้ว ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีเคยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนมาก่อนแล้วจํานวน 5 กระบอก ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 จึงมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีมีและใช้อาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.3) ตามคําขอ ของผู้ฟ้องคดี โดยมิได้มีการให้โอกาสผู้ฟ้องคดีได้รับทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน ก่อนการออกคําสั่งนั้น เมื่อการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีมีและใช้อาวุธปืนเป็นอํานาจของนายทะเบียนท้องที่ซึ่งต้องใช้ดุลพินิจประกอบกับวัตถุประสงค์ในการอนุญาตให้บุคคลทั่วไปมีและใช้อาวุธปืนตามมาตรา 7 ประกอบมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียม อาวุธปืน พ.ศ. 2490 แม้ผู้ฟ้องคดีจะได้รับสิทธิให้ซื้ออาวุธปืนตามโครงการสวัสดิการอาวุธปืนของ ศาลยุติธรรม ก็เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีคุณสมบัติและเข้าเงื่อนไขตามโครงการสวัสดิการอาวุธปืนดังกล่าวเท่านั้น หาได้มีผลผูกพันให้นายทะเบียนท้องที่จะต้องมีคําสั่งอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีไม่ อีกทั้ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับขณะนั้น ไม่มีบทบัญญัติในหมวด สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หรือในหมวดอื่นใดที่บัญญัติรับรองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลในอันที่จะซื้อ มี และใช้อาวุธปืนไว้แต่อย่างใด ประกอบกับอาวุธปืนเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศและความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่อาจถือว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รับรองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ในอันที่จะซื้อ มี และใช้อาวุธปืนได้โดยปริยาย และเมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้มีสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่จะซื้อ มี และใช้อาวุธปืนดังกล่าว การที่ผู้ฟ้องคดียื่นคําขอใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน จึงเป็นการยื่น คําขอรับสิทธิมีและใช้อาวุธปืน ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่เคยมีสิทธิดังกล่าวมาก่อน การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปฏิเสธ ไม่ออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนตามคําขอของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นแต่เพียงการยืนยันถึงความไม่มีสิทธิที่จะมีและใช้อาวุธปืนของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น หาได้มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นคู่กรณีในกระบวนการ พิจารณาทางปกครองเพื่อออกคําสั่งทางปกครองแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่จําต้องแจ้งข้อเท็จจริง ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนการออกคําสั่ง ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังนั้น คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีมีหรือใช้อาวุธปืนดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ไม่ได้กําหนดระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะ กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 45 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ผู้มีอํานาจพิจารณาอุทธรณ์มิได้พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีภายในกําหนดเวลา 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคําอุทธรณ์ และมิได้มีหนังสือแจ้งขยาย ระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่ กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

โดยสรุป การมีและใช้อาวุธปืนมิใช่สิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง แม้บุคคลผู้ยื่นคําขอรับใบอนุญาต จะไม่มีเหตุต้องห้าม นายทะเบียนท้องที่ก็มีดุลพินิจพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต หากพิจารณาแล้วมีคําสั่งไม่อนุญาต ก็ไม่จําต้องให้โอกาสผู้ขออนุญาตได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนการออกคําสั่งแต่อย่างใด

คําสําคัญ : ขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน/สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ/ดุลพินิจ/อํานาจนายทะเบียนท้องที่/ระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 130/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

ผู้มีอํานาจสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตําแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม | เรื่องเด่น คดีปกครอง

ผู้มีอํานาจสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตําแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม

การปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 มาตรา 12 (3) มาตรา 13 วรรคสี่ และวรรคห้า และมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) และ (7)

คดีนี้ นายอําเภอเมืองเชียงใหม่ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้มีประกาศอําเภอเมืองเชียงใหม่ ลงวันที่ 26 มกราคม 2554 ให้มีการรับสมัครผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ตําบล ห. อําเภอ ม. จังหวัด ช. โดยมีผู้สมัครจํานวน 2 ราย คือ นาย ย. อดีตผู้ใหญ่บ้าน และผู้ฟ้องคดี ต่อมา วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้รับหนังสือคัดค้านจากนาย ย. ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะผู้ฟ้องคดีไม่มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้มีหนังสือเชิญคณะกรรมการตรวจสอบและพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เพื่อพิจารณาทบทวนคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดี ซึ่งที่ประชุมของคณะกรรมการส่วนใหญ่มีมติให้ดําเนินการ เลือกผู้ใหญ่บ้านในวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2554 และให้มีหนังสือหารือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เชียงใหม่ ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้มีการแต่งตั้ง ให้ผู้ฟ้องคดีดํารงตําแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ตอบหนังสือหารือข้างต้น โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งได้สรุปผล การสอบสวนข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีมิได้มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตหมู่ที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีคําสั่งลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 ให้ผู้ฟ้องคดีผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 พ้นจากตําแหน่ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้ใหญ่บ้านตามมาตรา 12 (3) ประกอบกับมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ทั้งนี้ เมื่อการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านตามผลการเลือกตั้ง เป็นอํานาจของนายอําเภอ ตามนัยมาตรา 13 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 การที่ความปรากฏในภายหลังว่า ผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการเลือก เป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม มิให้สมัครรับเลือกผู้ใหญ่บ้าน ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น กรณีย่อมเป็นอํานาจของนายอําเภอที่จะเป็นผู้ออกคําสั่ง ให้ผู้ใหญ่บ้านนั้นพ้นจากตําแหน่ง มิใช่อํานาจของผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากการที่ผู้ว่าราชการจังหวัด จะมีอํานาจในการสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตําแหน่งนั้น จะต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายกําหนดไว้ชัดเจนดังเช่นมาตรา 13 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านได้รับเลือกมาโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม หรือกรณีที่ผู้ใหญ่บ้านบกพร่องในหน้าที่หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตําแหน่งตามบทบัญญัติมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (7) แห่งพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นคนละกรณีกับกรณีที่เป็นเหตุที่พิพาท ตามฟ้องที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ใหญ่บ้าน

ดังนั้น คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ให้ผู้ฟ้องคดี พ้นจากตําแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 เนื่องจากขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามของการเป็น ผู้ใหญ่บ้าน ตามมาตรา 12 (3) ประกอบมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะ ปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 จึงชอบด้วยกฎหมาย

โดยสรุป เมื่อการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นอํานาจของนายอําเภอ การที่ปรากฏในภายหลังว่า ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกผู้ใหญ่บ้าน จึงย่อมเป็นอํานาจของนายอําเภอที่เป็นผู้ออกคําสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านนั้นพ้นจากตําแหน่งเช่นกัน

คําสําคัญ : คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ใหญ่บ้าน/การถอดถอนผู้ใหญ่บ้าน/อํานาจ นายอําเภอ/อํานาจผู้ว่าราชการจังหวัด

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 98/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

หลักฐานการเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การนําหลักฐานการชําระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านมาเบิกค่าเช่าบ้าน ข้าราชการ

สิทธิประโยชน์และสวัสดิการของบุคลากรภาครัฐ : คําสั่งไม่อนุมัติให้นําหลักฐานการผ่อนชําระราคาบ้านมาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 (มาตรา 4 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 17)
  1. พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านตุลาการศาลปกครอง พ.ศ. 2544 (มาตรา 3 วรรคหนึ่ง)

ผู้ฟ้องคดีดํารงตําแหน่งตุลาการศาลปกครองนครราชสีมา ต่อมา ได้รับคําสั่งให้ไป ช่วยทํางานชั่วคราวในตําแหน่งตุลาการศาลปกครองกลาง โดยผู้ฟ้องคดีได้รับอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้าน ข้าราชการในการเช่าอพาร์ทเมนท์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร และหลังจากศาลปกครองได้ย้ายมาตั้งที่ทําการที่ถนนแจ้งวัฒนะ ผู้ฟ้องคดีได้เช่าห้องชุดซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่อําเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และได้รับอนุมัติให้เบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ จากนั้น ผู้ฟ้องคดีได้กู้เงินโครงการสวัสดิการข้าราชการ เพื่อซื้อห้องชุดในเขตท้องที่อําเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เป็นที่อยู่อาศัย จึงได้นําหลักฐาน การผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระค่าบ้านดังกล่าวมาขอเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่า บ้านหลังดังกล่าวไม่ได้ตั้งอยู่ในท้องที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นท้องที่ที่ประจําสํานักงานใหม่ จึงมีคําสั่งไม่อนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีนําหลักฐานกรผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านที่ค้างชําระมาเบิกค่าเช่าบ้าน ข้าราชการ ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวและนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า กรณีที่ผู้ฟ้องคดี ได้ทําสัญญาเช่าซื้อหรือทําสัญญาเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและได้อาศัยอยู่จริงแต่บ้านหลังดังกล่าวมิได้อยู่ในท้องที่ที่ไปประจําสํานักงานใหม่ ซึ่งได้มีการนิยามคําว่า “ท้องที่” ไว้แล้ว ในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิ นําหลักฐานการชําระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านมาขอเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ ได้ตามมาตรา 17 แห่งพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ไม่อนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีนําหลักฐานการผ่อนชําระราคาบ้านมาเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการ และคําวินิจฉัย อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ความเห็นแย้ง พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 มีเจตนารมณ์ที่จะขยายสิทธิการเบิกค่าเช่าบ้านข้าราชการให้รวมถึงการนําค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านด้วย มิใช่ลดสิทธิให้ต่ำกว่าเดิม อันเป็นการสนับสนุนให้ข้าราชการมีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตนเอง ข้าราชการย่อมมีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้านหรือค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชําระเงินกู้เพียงอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้น การเปลี่ยนสิทธิเบิกจากค่าเช่าบ้านเป็นค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านจึงไม่ทําให้ ทางราชการต้องรับภาระเพิ่มแต่อย่างใด แต่ในทางตรงกันข้าม ยังเป็นการลดภาระของทางราชการ ที่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านให้ข้าราชการจนเกษียณอายุราชการ การที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกําหนดให้ เบิกค่าเช่าบ้านต่างท้องที่ได้แต่ไม่ให้เบิกค่าเช่าซื้อบ้านต่างท้องที่ ย่อมเป็นการลดสิทธิของข้าราชการให้ลดน้อยลงกว่าเดิม จึงขัดกับเจตนารมณ์ดังกล่าวและเป็นการเลือกปฏิบัติระหว่างผู้เช่าบ้านกับผู้เช่าซื้อหรือผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเห็นว่าผู้ฟ้องคดีมีสิทธิ นําหลักฐานการชาระค่าเช่าซื้อหรือค่าผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านมาขอเบิกค่าเช่าบ้านได้

โดยสรุป การนําหลักฐานการชําระค่าเช่าซื้อหรือผ่อนชําระเงินกู้เพื่อชําระราคาบ้านมาเบิกค่าเช่าบ้าน ข้าราชการ จะต้องเป็นบ้านที่อยู่ในท้องที่ที่ไปประจําสํานักงานใหม่

คําสําคัญ : สิทธิประโยชน์และสวัสดิการ/ค่าเช่าบ้าน/ค่าเช่าซื้อ ท้องที่ที่ไปประจําสํานักงานใหม่

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 689/2565 (ประชุมใหญ่)

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง 

หน่วยงานละเลยไม่ปรับพื้นถนน ทำให้มีผู้ประสบอุบัติเหตุ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

หน่วยงานของรัฐละเลยไม่ดูแลพื้นถนน ทำให้มีผู้ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย

ละเมิด

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 223 มาตรา 420 มาตรา 438 มาตรา 442 มาตรา 443 มาตรา 1461 วรรคสอง มาตรา 1563 มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง มาตรา 1629 มาตรา 1649 วรรคสอง)
  2. ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 (ข้อ 101 วรรคสอง)

คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นาง น. ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านพักไปตามถนน ซอยสมิตตะโยธิน ตําบลหมากแข้ง อําเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เมื่อถึงบริเวณจุดตัด กับทางรถไฟซึ่งเป็นบริเวณที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ถูกฟ้องคดี) กําลังทําการซ่อมบํารุงทางรถไฟ รถจักรยานยนต์ที่นาง น. ได้ขับขี่มาประสบอุบัติเหตุล้มลง ทําให้นาง น. ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ในเวลาต่อมา ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าถนนบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งมีการซ่อมบํารุงทางรถไฟอยู่นั้น มีลักษณะ เป็นหลุมหรือร่องรางรถไฟ ไม่มีเส้นแบ่งช่องจราจร หินคลุกบริเวณชิดขอบรางรถไฟมีการยุบตัว โดยพื้นผิวบริเวณที่ติดกับสันรางรถไฟอยู่ในระดับต่ํากว่าสันรางรถไฟ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทราบอยู่แล้วว่า ถนนบริเวณดังกล่าวซึ่งเป็นหินคลุกอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาได้ ผู้ถูกฟ้องคดี จึงควรต้องดําเนินการปรับพื้นถนนบริเวณดังกล่าวให้มีความพร้อมสําหรับการใช้งานได้โดยสะดวก และเป็นไปเพื่อความปลอดภัยสําหรับประชาชนที่ต้องขับขี่รถผ่านถนนบริเวณดังกล่าวมากกว่าที่เป็นอยู่ หรือดําเนินการติดตั้งหรือวางสัญญาณเตือนโดยระบุระยะทางที่มีการซ่อมบํารุงทางรถไฟดังกล่าว เพื่อเตือนให้ผู้ใช้เส้นทางลดความเร็วและเตรียมความพร้อม ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถกระทําได้ โดยไม่ยุ่งยากหรือพ้นวิสัยที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะดําเนินการได้ตามนัยมาตรา 9 (4) และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 อย่างไรก็ตาม แม้ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติได้ว่ามีการจัดทําป้ายสัญญาณหรือเครื่องหมายแจ้งเตือนหรือไม่ แต่การที่ผู้ถูกฟ้องคดี ทราบอยู่แล้วว่าในขณะเกิดเหตุพื้นผิวถนนบริเวณที่เกิดเหตุอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่ประชาชนที่สัญจรผ่านถนนบริเวณดังกล่าวได้ แต่ไม่ดําเนินการปรับพื้นถนนบริเวณดังกล่าวให้มีความพร้อม สําหรับการใช้งานได้โดยสะดวก และเป็นไปเพื่อความปลอดภัยสําหรับประชาชนที่ต้องขับขี่รถ ผ่านถนนบริเวณดังกล่าว ก็ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติแล้ว เมื่อการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวเป็นเหตุให้นาง น. ประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทําละเมิดตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาท โดยธรรมของนาง น.

ข้อเท็จจริงปรากฏว่านาง น. ได้ใช้เส้นทางดังกล่าวเป็นประจําและเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี นาง น. จึงย่อมทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุกําลังดําเนินการซ่อมบํารุงทางรถไฟ และย่อมรู้ ถึงสภาพของพื้นถนนในบริเวณดังกล่าวเป็นอย่างดีว่าบริเวณใดที่มีพื้นถนนไม่เรียบ และย่อมต้องทราบว่า พื้นถนนที่ติดกับสันรางรถไฟจะอยู่ในระดับที่ต่ํากว่าสันรางรถไฟ นอกจากนั้น ยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุนาง น. ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่ได้สวมหมวกที่จัดทําขึ้นโดยเฉพาะเพื่อป้องกัน อันตรายในขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งหากนาง น. ได้สวมใส่หมวกนิรภัยตามที่กฎหมายกําหนดไว้แล้ว ย่อมลดความรุนแรงที่เกิดจากอุบัติเหตุได้ และไม่น่าจะเกิดเหตุร้ายแรงจนถึงขนาดเสียชีวิตดังกล่าว การเสียชีวิตของนาง น. จึงเป็นผลมาจากความประมาทของนาง น. รวมอยู่ด้วย จึงเป็นกรณีที่นาง น. ผู้ตายมีส่วนประมาทเลินเล่อหรือส่วนผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่มาก จึงเห็นควรนําพฤติการณ์ในส่วนนี้ของนาง น. มาคํานวณหักออกจากค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จํานวนสองในสามส่วนตามนัยมาตรา 442 ประกอบกับมาตรา 223 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้มีสิทธิรับมรดก ของนาง น. ตามมาตรา 1629 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ฟ้องคดีทั้ง ย่อมมีหน้าที่ในการจัดการท่าศพตามมาตรา 1649 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมาย เดียวกัน ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จึงย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนในส่วนของค่าปลงศพและค่าใช้จ่าย อันจําเป็นอย่างอื่น เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ได้เรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพซึ่งเป็นค่าใช้จ่าย ในการจัดงานบําเพ็ญกุศลและฌาปนกิจศพนาง น. จํานวน 7 วัน เป็นเงินจํานวน 792,000 บาท โดยไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงค่าใช้จ่ายตามที่กล่าวอ้าง มีเพียงการชี้แจงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาพทางสังคมและครอบครัวของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่แล้ว การที่ศาลปกครองชั้นต้นกําหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้วันละ 50,000 บาท จํานวน 7 วัน รวมเป็นเงินจํานวน 350,000 บาท จึงสูงเกินส่วน เห็นควรกําหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้วันละ 30,000 บาท จํานวน 7 วัน รวมเป็นเงินจํานวน 200,000 บาท

สําหรับค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น นั้น เมื่อพิจารณาค่าเดินทางไปกลับระหว่างจังหวัดชลบุรีกับจังหวัดอุดรธานีของผู้ฟ้องคดีที่ 2 และค่าเดินทางไปกลับระหว่างกรุงเทพมหานคร กับจังหวัดอุดรธานีของผู้ฟ้องคดีที่ 3 รวมทั้งค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุแล้ว เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวถือเป็นค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่นที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ตามที่จ่ายจริง ซึ่งแม้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 จะมิได้แสดงเอกสารหลักฐานประกอบก็ตาม แต่เมื่อพิจารณา ระยะทางระหว่างจังหวัดชลบุรีกับจังหวัดอุดรธานีซึ่งมีระยะทางประมาณ 645 กิโลเมตร และระหว่าง กรุงเทพมหานครกับจังหวัดอุดรธานีซึ่งมีระยะทางประมาณ 564 กิโลเมตร โดยคํานวณค่าใช้จ่าย ในส่วนนี้เฉลี่ยกิโลเมตรละประมาณ 2 บาท และค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเป็นเงินจํานวน 3,000 บาท ก็เป็นจํานวนเงินพอสมควร จึงเชื่อได้ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริง การที่ศาลปกครองชั้นต้นกําหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้รวมเป็นเงินจํานวน 7,500 บาท จึงเหมาะสม และเป็นธรรมแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ได้แก่ ค่าขาดรายได้ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ขณะจัดงานศพนาง น. ค่าที่พักญาติที่มาร่วมงานศพ และดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ ที่นํามาใช้จ่ายในงานศพ นั้น เห็นว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวมิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทําละเมิด ของผู้ถูกฟ้องคดี ศาลจึงไม่อาจกําหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ให้ได้

สําหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีคําขอให้ศาลกําหนดค่าเสียหายทางจิตใจที่ต้องสูญเสีย มารดาจนทําให้เจ็บป่วยและจําเป็นจะต้องทําการรักษาตัว ค่าเดินทาง และค่ารักษาพยาบาลของผู้ฟ้องคดี ที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 เป็นเงินจํานวน 1,000,000 บาท นั้น เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดี ละเลยต่อหน้าที่เป็นเหตุให้นาง น. ถึงแก่ความตายนั้น เป็นการกระทําละเมิดต่อชีวิตของนาง น. เท่านั้น มิใช่การกระทําละเมิดต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิของผู้ฟ้องคดีที่ ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของนาง น. แต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 จึงชอบที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 และมาตรา 445 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันได้แก่ ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอื่น ค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย ค่าขาดประโยชน์ทํามาหาได้ ก่อนตาย ค่าขาดไร้อุปการะ และค่าขาดแรงงานเท่านั้น ส่วนค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่น อันมิใช่ตัวเงิน นั้น เมื่อพิจารณามาตรา 446 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน คือ ผู้ที่ถูกกระทําละเมิดต่อร่างกาย อนามัย เสรีภาพ หรือหญิงผู้ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทําผิดอาญาอันเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนเท่านั้น ทายาทของผู้ถูกกระทําละเมิดจนถึงแก่ความตายหาได้มีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินแต่อย่างใด ศาลจึงไม่อาจกําหนดค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าเสียหายทางจิตใจให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ตามคําขอได้

สําหรับค่าสูญเสียโอกาสที่จะทํามาหารายได้ของนาง น.เป็นระยะเวลา 10 ปี นั้น เห็นว่า เป็นรายได้ในอนาคตที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่คาดหมายว่านาง น.จะได้รับหากยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่มีสิ่งใด ที่จะยืนยันได้อย่างแน่นอนว่าหากนาง น. ยังคงมีชีวิตอยู่จะมีรายได้จากการทําตาข่ายเป็นเงินจํานวน ตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่กล่าวอ้าง ศาลจึงไม่อาจกําหนดคําบังคับในส่วนนี้ให้ได้

เมื่อได้พิจารณามาแล้วข้างต้นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่รวมเป็นเงินจํานวน 217,500 บาท แต่โดยที่นาง น. ผู้ตาย มีส่วนประมาทเลินเล่อ หรือส่วนผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีและความร้ายแรง แห่งละเมิด ประกอบกับพฤติการณ์และการกระทําของนาง น. ตามมาตรา 442 ประกอบกับมาตรา 223 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เห็นควรนําส่วนความประมาทหรือความผิด ของนาง น. มาหักออกจากความรับผิดของผู้ถูกฟ้องคดีจํานวนสองในสามส่วนของค่าสินไหมทดแทน ที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิด คงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ เป็นเงินจํานวน 72,500 บาท

ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีคําขอในชั้นอุทธรณ์คําพิพากษาให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันกระทําละเมิดจนกว่าจะชําระเสร็จ นั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในชั้นการพิจารณาคดีนี้ของศาลปกครองชั้นต้น ไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสี่ ได้มีคําขอท้ายคําฟ้องหรือคําฟ้องเพิ่มเติมขอให้ศาลกําหนดคําบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีชําระดอกเบี้ยนับแต่วันกระทําละเมิดจนกว่าจะชําระเสร็จให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่แต่อย่างใด การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่มีคําขอ ดังกล่าวในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลปกครองชั้นต้น อีกทั้งมิใช่ ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือปัญหาเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่จะยกปัญหาข้อนั้นขึ้นกล่าวในคําอุทธรณ์ได้ จึงเป็นอุทธรณ์ต้องห้ามตามข้อ 101 วรรคสอง แห่งระเบียบฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ

โดยสรุป การกําหนดค่าสินไหมทดแทนกรณีผู้เสียหายมีส่วนผิด ในการที่ผู้ตายใช้เส้นทางที่เกิดเหตุ เป็นประจําและเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี ย่อมทราบว่าบริเวณที่เกิดเหตุกําลังดําเนินการซ่อมบํารุง และพื้นถนนไม่เรียบ อีกทั้งผู้ตายยังไม่สวมหมวกกันน็อก การเสียชีวิตจึงเป็นผลมาจากความประมาท ของผู้ตายรวมอยู่ด้วย จึงควรหักออกจากค่าสินไหมทดแทน

คําสําคัญ : ละเมิดต่อบุคคลภายนอก/ละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่/การกําหนดค่าสินไหมทดแทน/ ผู้เสียหายมีส่วนผิด/ค่าปลงศพ/ค่าใช้จ่ายอันจําเป็นอย่างอื่น/ค่าขาดรายได้/ค่าสูญเสียโอกาสที่จะทํามาหารายได้/ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน/ข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลปกครองชั้นต้น

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อผ. 128/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายคดีปกครอง

ศาลปกครองชั้นต้นมีคําพิพากษาโดยพิจารณาจากคําฟ้องเพียงขั้นตอนเดียว | เรื่องเด่น คดีปกครอง

ศาลปกครองชั้นต้นมีคําพิพากษาโดยพิจารณาจากคําฟ้องเพียงขั้นตอนเดียว

วิธีพิจารณาคดีปกครอง : หลักฟังความทุกฝ่าย

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (มาตรา 55 และมาตรา 57 วรรคสอง)
  2. ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 (ข้อ 112 วรรคหนึ่ง (2))

คดีนี้แม้ศาลปกครองชั้นต้นจะได้มีคําสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณามีคําสั่งรับคําฟ้อง และมีการส่งสําเนาคําฟ้องพร้อมพยานหลักฐานให้ผู้ถูกฟ้องคดีทราบ แต่ก็มิได้มีคําสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทําคําให้การและมิได้ส่งพยานหลักฐานให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีโอกาสคัดค้าน และโต้แย้ง ดังนั้น การที่ศาลปกครองชั้นต้นดําเนินกระบวนพิจารณาเพียงขั้นตอนเดียว โดยพิจารณาจากคำฟ้องและพยานหลักฐานประกอบคําฟ้องแล้วดําเนินการพิจารณาจนมีคําพิพากษา จึงไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยการฟังความทุกฝ่าย ที่ศาลต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีได้ทราบถึงข้ออ้างหรือข้อแย้งของแต่ละฝ่าย และให้คู่กรณีแสดงพยานหลักฐานของฝ่ายตนเพื่อยืนยันหรือหักล้างข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายได้ และไม่เป็นไปตามมาตรา 55 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 57 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และเมื่อศาลปกครองชั้นต้นดําเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงแห่งคดีโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือระเบียบนี้ในส่วนที่ว่าด้วยการแสวงหาข้อเท็จจริง จึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคําสั่งยกคําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น และส่งสํานวนคืนไปยังศาลปกครองชั้นต้นเพื่อมีคําพิพากษาหรือคําสั่งใหม่ตามข้อ 112 วรรคหนึ่ง (2) แห่งระเบียบฯว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ

โดยสรุป การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคําพิพากษาโดยพิจารณาจากคําฟ้องเพียงขั้นตอนเดียว เป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยการฟังความทุกฝ่าย

คําสําคัญ : การย้อนสํานวน/หลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง/หลักฟังความทุกฝ่าย/การแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลปกครอง

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 331/2565 (ประชุมใหญ่)

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายคดีปกครอง