เงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง

เงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง-1

เงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 มาตรา 51 และมาตรา 52 แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่กฎหมายเฉพาะกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้แล้ว ก็ย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น การฟ้องคดีปกครองภายในระยะเวลานี้นั้นถือเป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองตามที่ทนายคดีปกครองได้เคยกล่าวไว้แล้วในบทก่อนหน้า

การฟ้องคดีปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ 4 กรณี คือ

1. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

การฟ้องคดีที่เป็นข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) เป็นการฟ้องเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสาคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

การฟ้องคดีเป็นข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) เป็นการฟ้องเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คือ กรณีที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่มีอำนาจริเริ่มใช้ได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำต้องรอให้มีผู้ยื่นคำขอให้ดำเนินการต้องฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี และกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจริเริ่มใช้ได้ด้วยตนเอง หากแต่จะดำเนินการได้เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องขอเท่านั้น ต้องฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงหรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่เห็นว่าไม่มีเหตุผล

การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดให้ยื่นฟ้องคดีภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผลแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

2. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

การฟ้องคดีเป็นข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

3. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

การฟ้องคดีเป็นข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 5 ปี นับแต่วันรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

การรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีกรณีการเลิกสัญญาทางปกครองซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะจึงต้องนำวิธีการบอกเลิกสัญญาทางแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามมาตรา 386 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 169 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังผู้ถูกฟ้องคดีตามที่อยู่ที่ปรากฏในหลักฐานการจดทะเบียนนิติบุคคลแต่ไม่มีผู้รับ จึงถือว่าไม่ได้มีการบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อมาเมื่อที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวพร้อมทั้งขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีนำเงินไปชำระค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ส่งหนังสือดังกล่าว โดยวิธีปิดหนังสือ ณ ภูมิลำเนาของผู้ถูกฟ้องคดี ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับจากวันที่ปิดหนังสือดังกล่าว

4. การฟ้องคดีตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

กรณีการฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะบุคคลตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้

การฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินโดยที่ดินบางส่วนได้ทับที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีในฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณะภายในท้องที่ของตนซึ่งรวมถึงที่สาธารณะอันเป็นที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันด้วย  ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับคุ้มครองประโยชน์สาธารณะจะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ตามมาตรา 52

การฟ้องคดีเกี่ยวกับสถานะของบุคคล โดยสถานะบุคคล หมายถึง สถานะตามกฎหมายที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิในการเป็นบุคคลหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบุคคลโดยบุคคลจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธินั้นหรือไม่ต้องพิจารณาจากความเป็นบุคคลของผู้นั้นเป็นหลัก สถานะดังกล่าวอาจจะเป็นสถานะของบุคคลในประเทศชาติ เช่น สัญชาติของบุคคล หรือสถานะในครอบครัว เช่น เพศ อายุ บิดามารดา บุตร สามีภริยา เป็นต้น

กรณีการฟ้องคดีที่เป็นประโยชน์แก่สวนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นกรณีที่ศาลหากเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเอง หรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลจะรับไว้พิจารณาก็ได้ และคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาในกรณีเช่นนี้ย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

การฟ้องคดีที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีประกอบกิจการโรงงานก่อให้เกิดสิ่งปฏิกูล และมลภาวะทางเสียงอันเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนรำคาญ และเสียสุขภาพ ผู้ฟ้องคดีได้ ร้องเรียนต่อสำนักงานเขตและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแต่มิได้รับการเยียวยาแก้ไข ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แต่เมื่อปรากฏว่าเหตุเดือดร้อนรำคาญยังคงมีอยู่จนถึงวันฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแก้ไขความเดือดร้อนรำคาญดังกล่าว อีกทั้งการไม่ปรับปรุงแก้ไขโรงงานอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนจำนวนมาก การรับคำฟ้องไว้พิจารณาจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

การฟ้องคดีที่มีเหตุจำเป็นอื่น เช่น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือต่อผู้ถูกฟ้องคดีขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วมีเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีติดต่อและรับว่าจะดำเนินการแก้ไขเยียวยาให้กับผู้ฟ้องคดีมาโดยตลอด ทำให้เชื่อว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะดำเนินการให้อันเป็นผลให้ผู้ฟ้องคดียื่นเรื่องร้องทุกข์เลยกำหนดเวลา จึงเป็นกรณีจำเป็นที่ต้องรับไว้พิจารณาตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

PODCAST : เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง  | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.4

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง

– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง

เงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดก่อนการฟ้องคดีปกครอง

เงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดก่อนการฟ้องคดีปกครอง

บทความนี้ทนายคดีปกครองขอนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่ถือเป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองที่สำคัญ ซึ่งมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า ในกรณีที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าวและได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้นหรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด จากบทบัญญัติดังกล่าวสามารถแยกพิจารณาออกได้ดังนี้

1. กรณีมีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายไว้โดยเฉพาะ

(1) การอุทธรณ์

ถ้าผู้มีสิทธิฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับการกระทำใดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้มีสิทธิฟ้องคดีจะต้องดำเนินการโต้แย้งคัดค้านการกระทำนั้นต่อเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการภายในฝ่ายบริหารให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจึงจะนำการกระทำนั้นมาฟ้องคดีต่อศาล

(2) การร้องทุกข์

การร้องทุกข์เป็นวิธีการหนึ่งที่เปิดโอกาสให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้ระบายความคับข้องใจในการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับการบริหารบุคคลที่ผู้บังคับบัญชาต่อตนว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพื่อผู้บังคับบัญชาจะได้มีโอกาสทบทวนการปฏิบัตินั้น และแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือชี้แจงเหตุผลความถูกต้องที่ได้ปฏิบัติไปให้ผู้ร้องทุกข์ทราบและเข้าใจ หรือให้ผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปได้พิจารณาให้ความเป็นธรรม

2. กรณีกฎหมายมิได้กำหนดขั้นตอนหรือวิธีการอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ

หากการกระทำของฝ่ายปกครองที่มีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง เช่น คำสั่งไม่อนุญาต คำวินิจฉัยอุทธรณ์ และเป็นคำสั่งที่มิได้ออกโดยคณะกรรมการหรือรัฐมนตรี ผู้ที่อยู่ในบังคับของคำสั่งดังกล่าวจะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นภายใน 15 วันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งนั้นเสียก่อน ทั้งนี้ ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 48 ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว  ดังนั้น คำสั่งทางปกครองที่ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายเฉพาะกำหนดเรื่องขั้นตอน และระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งไว้ ย่อมถูกบังคับให้ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและระยะเวลาตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจตามกฎหมายในการจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่ง พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามอำนาจหน้าที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องแจ้งสิทธิอุทธรณ์ ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กำหนดว่า จะต้องระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งการยื่นคำอุทธรณ์หรือโต้แย้งและระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือโต้แย้งไว้ด้วยตามที่กฎหมายเฉพาะกำหนดไว้หรือตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กรณีที่กฎหมายเฉพาะไม่ได้กำหนดไว้

กรณีที่ฝ่ายปกครองฝ่าฝืนไม่แจ้งสิทธิอุทธรณ์ จะมีผลต่อระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ โดยระยะเวลาการอุทธรณ์จะเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่คู่กรณีได้รับแจ้งสิทธิอุทธรณ์ แต่ถ้าไม่มีการแจ้งสิทธิอุทธรณ์ใหม่และระยะเวลาอุทธรณ์สั้นกว่าหนึ่งปี ระยะเวลาการอุทธรณ์จะขยายเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่คู่กรณีได้รับคำสั่งทางปกครอง โดยผู้ตกอยู่ในบังคับของคำสั่งซึ่งถือว่าเป็นคู่กรณีมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองเพื่อขอให้ฝ่ายปกครองทบทวนคำสั่งทางปกครองนั้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยมาตรา 44 และมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กำหนดหลักการในการทบทวนคำสั่งทางปกครองของฝ่ายปกครองโดยการอุทธรณ์ไว้ 2 ชั้น คือ การอุทธรณ์ชั้นที่ 1 ยื่นคำอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองนั้นภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับแจ้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ออกคำสั่งมีอำนาจทบทวนคำสั่งทางปกครองนั้นได้ ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความเหมาะสมของคำสั่งทางปกครอง ให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และหากเห็นด้วยกับคำอุทธรณ์มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ทั้งหมดหรือบางส่วน กรณีที่ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์จะต้องรายงานไปยังผู้มีอานาจพิจารณาอุทธรณ์ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งก็คือ ผู้มีอำนาจเหนือกว่าผู้ออกคำสั่งภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ (ภายในเวลาเดียวกัน) เพื่อพิจารณาอุทธรณ์

การอุทธรณ์ชั้นที่ 2 ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์จะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงาน และหากพิจารณาอุทธรณ์ไม่แล้วเสร็จจะต้องแจ้งผู้อุทธรณ์ทราบซึ่งจะมีผลเป็นการขยายระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน แต่หากไม่แจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบจะเกิดผล 2 กรณี คือ

(1) วันที่ 61 นับแต่วันยื่นคำอุทธรณ์ ถือว่าผู้อุทธรณ์ได้ดำเนินการตามขั้นตอนการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายครบถ้วนตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

(2) เกิดสิทธิการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพิกถอนคาสั่งทางปกครองภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ 61 อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ไม่ได้สั่งการใด ๆ หรือยังไม่พ้น 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ยังไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

3. กรณีคำสั่งทางปกครองที่ไม่ต้องอุทธรณ์

มาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติไว้ว่า คำสั่งทางปกครองของบรรดาคณะกรรมการต่างๆ ไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายหรือไม่ ให้คู่กรณีมีสิทธิโต้แย้งต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น แต่ถ้าคณะกรรมการดังกล่าวเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท สิทธิการอุทธรณ์และกำหนดเวลาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยคณะกรรมการต่างๆ ไม่อยู่ภายใต้บังคับให้ต้องอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เนื่องจากคณะกรรมการต่างๆ เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจทางปกครองโดยเฉพาะ และไม่อยู่ในระบบสายการบังคับบัญชา คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการจึงเป็นที่สุดไม่มีองค์กรใดที่สูงกว่าที่จะพิจารณาคำอุทธรณ์ได้ ดังนั้น คู่กรณีจึงต้องโต้แย้งคำสั่งทางปกครองนั้นต่อศาลปกครองโดยตรง เว้นแต่จะมีพระราชบัญญัติเฉพาะกำหนดให้มีการโต้แย้งคำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการได้ เช่น การยื่นอุทธรณ์การกำหนดแปลงที่ดินใหม่ของคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดต่อคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558 เป็นต้น

นอกจากนี้ มาตรา 44 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน กำหนดว่าคำสั่งทางปกครองใดที่มิได้ออกโดยรัฐมนตรีเท่านั้นที่ต้องอุทธรณ์ เนื่องจากรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายเฉพาะฉบับใดก็เป็นองค์กรสูงสุดตามกฎหมายฉบับนั้นๆ จึงไม่มีผู้บังคับบัญชาที่สูงกว่าที่จะพิจารณาคำอุทธรณ์ได้  ดังนั้น คู่กรณีจึงต้องโต้แย้งคำสั่งทางปกครองนั้นต่อศาลปกครองโดยตรง

4. กรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้ฟ้องคดีต่อศาล

ในบางกรณีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะกรณีหากผู้ฟ้องคดีไม่พอใจผลของคำสั่ง ให้มีสิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนก่อนการฟ้องคดีปกครอง เช่น มาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กำหนดให้ฝ่ายที่ไม่พอใจในคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินต้องดำเนินการฟ้องต่อศาลภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง  ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้นำคดีมาฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธินำข้อพิพาทเกี่ยวกับการขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีมาฟ้องต่อศาลตามมาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน การที่ผู้ฟ้องคดีทำการคัดค้านและยื่นอุทธรณ์มิได้มีผลเป็นการอุทธรณ์ตามกฎหมายแต่อย่างใด สิทธิในการฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีหมดไปเมื่อพ้นระยะเวลาหกสิบวันแล้ว เช่นนี้ในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากบางกรณีกฎหมายมิได้กำหนดให้อุทธรณ์แต่ให้นำคดียื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้เลย หากผู้ฟ้องคดีไปดำเนินการอุทธรณ์อาจทำให้ระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองล่วงพ้นไป

PODCAST : เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลปกครอง | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.3

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง

– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ตอนที่ 2

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ตอนที่ 2

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ตอนที่ 2

เงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองนั้น เป็นสาระสำคัญที่ศาลปกครองต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่า คดีที่ฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ศาลจะสามารถรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาได้หรือไม่  ซึ่งจากเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ตอนที่ 1 ที่ได้กล่าวถึงในเรื่องของคำฟ้องที่ต้องมีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด การเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง และการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังมีเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง ดังต่อไปนี้

4. ต้องฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

4.1 ระยะเวลาการฟ้องขอให้เพิกถอนกฎ คำสั่งทางปกครอง ขอให้ศาลสั่งห้ามการกระทำทางปกครองอื่น

– การฟ้องคดีจะต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ม.49 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ

4.2 ระยะเวลาในการฟ้องคดีขอให้ศาลสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลกำหนด

– การฟ้องคดีจะต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

4.3 ระยะเวลาในการฟ้องคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

– การฟ้องคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

4.4 ระยะเวลาในการฟ้องคดีเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ

– การฟ้องคดีเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐให้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

4.5 ระยะเวลาในการฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

– การฟ้องคดีเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐให้ฟ้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

4.6 ระยะเวลาในการฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคล

– การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือสถานะของบุคคล จะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้

4.7 ระยะเวลาในการฟ้องคดีในกรณีที่จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่น

– การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลปกครองเห็นว่า คดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลจะรับไว้พิจารณาก็ได้

อ่านต่อ : เงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง

5. ค่าธรรมเนียมศาล

การฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้นโดยหลักแล้วไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่เป็นการการฟ้องขอให้สั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4)  ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าวต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้อง

6. ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถตามกฎหมาย

– การฟ้องคดีต่อศาลปกครองผู้ฟ้องคดีต้องมีความสามารถในการใช้สิทธิ (ข้อ 26 ระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ)

– ผู้เยาว์ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี บริบูรณ์ ศาลอาจอนุญาตให้ฟ้องคดีปกครองด้วยตัวเองได้ ถ้าศาลเห็นสมควร (ข้อ 27 ระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ)         

7. ต้องไม่เป็นการฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

ในการฟ้องซ้อนนั้น เป็นกรณีที่นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีก หากผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้น จะเป็นกรณีการฟ้องซ้อน เช่นเดียวกับในกรณีการฟ้องซ้ำ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ กล่าวคือ เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง 

 

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ตอนที่ 1

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ตอนที่ 1

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ตอนที่ 1

ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น นอกเหนือจากการพิจารณาว่าคดีนั้นอยู่ในอำนาจของศาลปกครองแล้ว สิ่งสำคัญประการต่อมาที่ต้องพิจารณา ก็คือเรื่องเงื่อนไขเกี่ยวกับการฟ้องคดีปกครอง โดยเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองนั้น เป็นสาระสำคัญที่ศาลปกครองต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่า คดีที่ฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ศาลจะสามารถรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาได้หรือไม่ ซึ่งเงื่อนไขในการฟ้องคดีมีดังต่อไปนี้

1. คำฟ้องที่ยื่นต่อศาลปกครอง

คำฟ้องที่ยื่นต่อศาลนั้นแม้กฎหมายจะมิได้กำหนดแบบของคำฟ้องไว้ แต่ก็ต้องมีรายการตามที่กฎหมายกำหนด โดยลักษณะของคำฟ้องนั้น ต้องทำเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพและอย่างน้อยต้องมีรายการ

1.1 ชื่อที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี

1.2 ชื่อผู้ถูกฟ้องคดี (หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ)

1.3 การกระทำที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี พร้อมข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์

1.4 คำขอของผู้ฟ้องคดี โดยต้องเป็นคำขอที่ศาลออกคำบังคับให้ได้

1.5 ลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดี

2. ต้องเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี

2.1 ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือเป็นผู้เสียหายในคดีที่ฟ้องนั้น โดยผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีแยกเป็น 2 ประเภท คือ

– คดีฟ้องเพิกถอนกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือละเลยล่าช้า ใช้หลักผู้เสียหายอย่างกว้างคือ เพียงได้รับความกระทบกระเทือนจากการกระทำนั้น ก็ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย

– คดีละเมิดหรือสัญญาทางปกครอง ใช้หลักผู้เสียหายอย่างแคบ คือ ต้องถูกโต้แย้งสิทธิในเรื่องที่จะฟ้องนั้น โดยต้องเป็นคู่สัญญาหรือผู้ถูกกระทำละเมิดโดยตรง นอกจากเป็นคู่สัญญาแล้วยังต้องถูกโต้แย้งสิทธิแล้วเท่านั้น

2.2 ผู้ตรวจการแผ่นดิน

อ่านต่อ : เงื่อนไขการเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายในคดีปกครอง

3. ต้องดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้ว

3.1 กรณีมีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายไว้โดยเฉพาะ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายเฉพาะกำหนด

3.2 กรณีไม่มีกฎหมายกาหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายไว้โดยเฉพาะ ต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมายทั่วไป ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

อ่านต่อ : เงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดก่อนการฟ้องคดีปกครอง

ข้อยกเว้นไม่ต้องอุทธรณ์ต่อฝ่ายปกครองก่อนฟ้องคดี

(1) กรณีฟ้องเพิกถอน กฎ

(2) คำสั่งทางปกครองที่ออกโดยรัฐมนตรี (มาตรา 44 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539)

(3) คำสั่งทางปกครองของบรรดาคณะกรรมการต่างๆ ไม่ว่าจะจัดตั้ง ขึ้นตามกฎหมายหรือไม่ (มาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติ ราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539)

(4) ไม่ใช่คู่กรณี (มาตรา 44 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทาง ปกครอง พ.ศ. 2539)

(5) คำสั่งทั่วไป หรือคำสั่งอื่น

(6) คำสั่งที่มีลักษณะที่ผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ซึ่งถือ เสมือนว่าไม่มีการออกคำสั่งทางปกครอง

(7) คำสั่งทางปกครองที่ระบุให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้โดยไม่ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเสียก่อน

(8) กรณีมีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้โดยไม่ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเสียก่อน

(9) กรณีที่กฎหมายกำหนดให้คาสั่งทางปกครองใดให้เป็นที่สุด คู่กรณีไม่ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

(10) กรณีการฟ้องละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองไม่ต้อง อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้นะครับทนายความคดีปกครอง ที่ปรึกษาคดีปกครองขออนุญาตกล่าวต่อในตอนต่อไป เพราะในเรื่องเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองนี้ถือว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่งครับ โดยในการพิจารณามีคำสั่งรับคำฟ้องของศาลปกครองนั้นก็ต้องพิจารณาในเรื่องเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองว่าคดีนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขการฟ้องคดีที่ศาลจะสามารถมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้หรือไม่ 

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ตอนที่ 2

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง