หน่วยงานของรัฐก่อสร้างทางรุกล้ำที่ดินประชาชน ฟ้องศาลปกครองได้หรือไม่
เรื่องเล่าคดีปกครองกับทนายพฤกษ์ คดีปกครอง ในตอนนี้จะนำเสนอในเรื่องเกี่ยวกับการที่หน่วยงานของรัฐ ปรับปรุงทางและสร้างท่อระบายน้ำเพื่อประโยชน์ในการระบายน้ำช่วงหน้าฝน โดยการปรับปรุงและก่อสร้างดังกล่าวมีการรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอยู่ ดังนั้น การที่หน่วยงานรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน สามารถใช้สิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้รื้อถอนทางหรือท่อระบายน้ำนั้นออกจากที่ดินของตนได้หรือไม่
สำหรับข้อเท็จจริงจากเรื่องเล่าคดีนี้ มีอยู่ว่า กรมทางหลวงโดยแขวงทางหลวง ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ดำเนินโครงการปรับปรุงทางและสร้างระบบระบายน้ำใต้ทางเท้าของทางหลวงแผ่นดิน ในการดำเนินการตามโครงการของบริษัทเอกชนดังกล่าวมีการปรับปรุงทางและสร้างระบบระบายน้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน เห็นว่ามีการก่อสร้างทางและระบบระบายน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของตน ตลอดแนวยาวของที่ดิน ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือขอให้สำนักทางหลวงดำเนินการแก้ไขปัญหาก่อสร้างทางและระบบระบายน้ำดังกล่าว ต่อมามีการตรวจสอบที่ดินและพบว่าเขตทางหลวงบางช่วงมีการรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านรายอื่นๆจริง จึงมีการลดระยะเขตทางให้ตรงกับความเป็นจริงและให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณากำหนดค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเขตทาง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่กรมทางหลวงก่อสร้างทางเท้าและท่อระบายน้ำลุกลามเข้ามาในที่ดินของตนเป็นการกระทำละเมิดทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถใช้ที่ดินในส่วนที่มีการปรับได้ จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้รื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดี
ในกรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาเห็นว่า การที่กรมทางหลวงโดยแขวงทางหลวงได้ทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัทเอกชนทำการปรับปรุงทางและทำท่อระบายน้ำใต้ทางเท้า โดยปรับปรุงทางและท่อระบายน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี และเมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าการดำเนินการตามสัญญาว่าจ้างของเอกชนมีการรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีจริง เมื่อกรมทางหลวงยังไม่ได้ดำเนินการเวนคืนที่ดินส่วนที่รุกล้ำนั้น ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้ง ยังไม่มีการตกลงซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าว และไม่มีหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้อุทิศที่ดินส่วนที่ถูกรุกล้ำนั้นให้เป็นทางสาธารณะประโยชน์ กรณีนี้ถือเป็นการกระทำละเมิดทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เมื่อผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ให้ที่ดินกลับไปสู่สภาพเดิม และไม่ประสงค์ที่จะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่กรมทางหลวง ประกอบกับเมื่อพิจารณาทางเท้าและท่อระบายน้ำที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ของผู้ฟ้องคดี โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความจำเป็น และประโยชน์สาธารณะแล้ว การทำให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่สภาพเดิมโดยรื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำที่รุกล้ำไม่ได้กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เนื่องจากแม้จะรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำไปแล้ว ก็ยังคงเหลือทางเท้าและท่อระบายน้ำกว้างเพียงพอที่ประชาชนจะใช้ประโยชน์ได้ จึงพิพากษาให้กรมทางหลวงดำเนินการรื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี
โดยสรุป จากเรื่องเล่าในตอนนี้ การที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่จะก่อสร้าง ปรับปรุงขยายถนน หรือทางระบายน้ำ ซึ่งมีแนวเขตติดกันกับที่ดินของเอกชน หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ จะต้องทำการสำรวจตรวจสอบหลักเขตหรือแนวที่ดินให้มีความชัดเจนก่อนที่จะทำสัญญาจ้างก่อสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระหว่างการก่อสร้างหรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ ดังนั้น หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ไม่สามารถอ้างว่าการดำเนินการก่อสร้างหรือปรับปรุงทางดังกล่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ หากเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยที่ยังไม่มีการเวนคืนตามกฎหมาย หรือมีข้อตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น
———————————————
ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw