เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลปกครอง | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.3

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

สวัสดีครับ รายการ ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ในตอนนี้จะขอนำเสนอในเรื่องเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด ครับ

การดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า ในกรณีที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ การฟ้องคดีปกครองในเรื่องนั้นจะทำได้ต่อเมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว และได้มีการสั่งการตามกฎหมายนั้นหรือมิได้มีการสั่งการภายในเวลาอันสมควรหรือภายในเวลาที่กฎหมายนั้นกำหนด สามารถแยกพิจารณาออกได้ดังนี้

กรณีแรก เป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายไว้โดยเฉพาะ

เช่น การอุทธรณ์ เป็นกรณีที่หากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องดำเนินการโต้แย้งคัดค้านคำสั่งทางปกครองให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจึงจะนำคดีมาฟ้องคดีต่อศาล และการร้องทุกข์ เป็นกรณีที่เปิดโอกาสให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้โต้แย้งถึงเหตุคับข้องใจในการปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพื่อผู้บังคับบัญชาจะได้มีโอกาสทบทวน และแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือชี้แจงเหตุผลก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยกรณีนี้หากมีกฎหมายกำหนดเรื่องการอุทธรณ์หรือโต้แย้งไว้โดยเฉพาะก็จะใช้ระยเวลาและการดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายเฉพาะกำหนดไว้

กรณีที่สอง เป็นกรณีที่กฎหมายไม่ได้กำหนดขั้นตอนหรือวิธีการอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ

ในกรณีที่เป็นคำสั่งทางปกครอง เช่น คำสั่งไม่อนุญาต คำวินิจฉัยอุทธรณ์ และเป็นคำสั่งที่มิได้ออกโดยคณะกรรมการหรือรัฐมนตรี จะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ที่บัญญัติว่า ภายใต้บังคับมาตรา 48 ในกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดไม่ได้ออกโดยรัฐมนตรี และไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนอุทธรณ์ภายในฝ่ายปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ให้คู่กรณีอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้นโดยยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ตนได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว  ดังนั้น คำสั่งทางปกครองที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะในเรื่องขั้นตอน และระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้ง จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและระยะเวลาตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

กรณีที่สาม กรณีคำสั่งทางปกครองที่ไม่ต้องอุทธรณ์

มาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บัญญัติว่า คำสั่งทางปกครองของบรรดาคณะกรรมการต่างๆ ไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายหรือไม่ ให้คู่กรณีมีสิทธิโต้แย้งต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น แต่ถ้าคณะกรรมการดังกล่าวเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท สิทธิการอุทธรณ์และกำหนดเวลาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา จากบทบัญญัติดังกล่าวคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยคณะกรรมการต่างๆ ไม่อยู่ภายใต้บังคับให้ต้องอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เนื่องจากคณะกรรมการต่างๆ เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจทางปกครองโดยเฉพาะ และไม่อยู่ในระบบสายการบังคับบัญชา คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการจึงเป็นที่สุดไม่มีองค์กรใดที่สูงกว่าที่จะพิจารณาคำอุทธรณ์ได้ ดังนั้น คู่กรณีจึงต้องโต้แย้งคำสั่งทางปกครองนั้นโดยฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยตรง เว้นแต่จะมีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้มีการโต้แย้งคำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการได้

นอกจากนี้ มาตรา 44 วรรคหนึ่ง กำหนดว่าคำสั่งทางปกครองใดที่มิได้ออกโดยรัฐมนตรีเท่านั้นที่ต้องอุทธรณ์ เนื่องจากรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายเฉพาะฉบับใดก็ถือว่าสูงสุดตามกฎหมายฉบับนั้นๆ ดังนั้น คู่กรณีจึงต้องโต้แย้งคำสั่งทางปกครองดังกล่าวต่อศาลปกครองโดยตรง

กรณีที่ 4 เป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้ฟ้องคดีต่อศาล

ในบางกรณีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะกรณีหากผู้ฟ้องคดีไม่พอใจผลของคำสั่ง ให้มีสิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนก่อนการฟ้องคดีปกครอง เช่น มาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กำหนดให้ฝ่ายที่ไม่พอใจในคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินต้องดำเนินการฟ้องต่อศาลภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง  ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้นำคดีมาฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาย่อมทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธินำข้อพิพาทเกี่ยวกับการขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีมาฟ้องต่อศาลตามมาตรา 60 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน การที่ผู้ฟ้องคดีทำการคัดค้านและยื่นอุทธรณ์มิได้มีผลเป็นการอุทธรณ์ตามกฎหมายแต่อย่างใด สิทธิในการฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีหมดไปเมื่อพ้นระยะเวลาหกสิบวันแล้ว

โดยสรุป ในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด นับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากนำคดีฟ้องต่อศาลปกครองโดยยังไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ศาลก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา หรือบางกรณีกฎหมายมิได้กำหนดให้อุทธรณ์แต่ให้นำคดียื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้เลย หากผู้ฟ้องคดีไปดำเนินการอุทธรณ์อาจทำให้ระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองล่วงพ้นไป

สำหรับสาระความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรติดตามรับชม Youtube ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ได้ ในตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีผู้มีสิทธิฟ้องคดี | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.2



https://www.youtube.com/watch?v=0lKl8WJF434

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง

สวัสดีครับ รายการ ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ในตอนนี้จะขอนำเสนอในเรื่องเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีผู้มีสิทธิฟ้องคดี ครับ

ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง นอกเหนือจากการพิจารณาว่าคดีนั้นอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ สิ่งสำคัญประการต่อมาที่ต้องพิจารณา ก็คือเรื่องเงื่อนไขเกี่ยวกับการฟ้องคดีปกครอง โดยเงื่อนไขในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ศาลปกครองจะต้องพิจารณาก่อนว่า คดีที่ฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ศาลจะสามารถรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาได้หรือไม่ ซึ่งเงื่อนไขเกี่ยวกับการฟ้องคดีปกครองที่เราจะมาพูดถึงกันในตอนนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ครับ

ในเรื่องผู้มีสิทธิฟ้องคดีนั้น บทบัญญัติมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติว่า ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอานาจศาลปกครองตามมาตรา 9 และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา 72 ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าวสามารถพิจารณาการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ได้ 3 ประการ โดย

ประการที่ 1 ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ในเรื่องนั้น แยกพิจารณาได้ 2 กรณี

(1) ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย

ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองในกรณีนี้ คือ ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการกระทำ หรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายตามความหมายนี้ แม้เพียงสิทธิประโยชน์หรือสถานภาพทางกฎหมายของตนถูกกระทบกระเทือนจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งถือว่ามีประโยชน์เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสีย ก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้

(2) ผู้ที่อาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยง

ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองในกรณีนี้ คือ ผู้ที่อยู่ในสถานะที่อาจจะได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ โดยไม่จำต้องรอให้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากเหตุดังกล่าวก่อน

ประการที่ 2 ความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนั้นเกิดจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 9 วรรคหนึ่ง โดยความเดือดร้อนเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนั้น นอกจากจะเกิดจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว ยังรวมถึงการมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง หรือกรณีอื่นใดที่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองตามมาตรา 9 ด้วย กล่าวคือ ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ คือมีประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียดังกล่าวถูกกระทบกระเทือน จากมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (6)

ประการที่ 3 การแก้ไขเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนั้นต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 72 คือ กรณีคำขอให้ศาลกำหนดคำบังคับ นั้น ต้องเป็นคำบังคับที่ศาลสามารถกำหนดคำบังคับให้ได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) เพื่อแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้ง

ผู้มีสิทธิฟ้องคดีนอกจากผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรือผู้ที่อาจจะเดือนร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังรวมถึงผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีสิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

โดยตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า กฎ หรือการกระทำของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้มีสิทธิเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลปกครองได้ ในการเสนอความเห็นดังกล่าวผู้ตรวจการแผ่นดินมีสิทธิและหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ในการฟ้องคดีและดำเนินคดีนั้นผู้ตรวจการแผ่นดินอาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้ตามข้อ 28 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ฯ

จากที่ได้กล่าวมาเกี่ยวกับเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญครับ เพราะการฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดี ศาลก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาครับ

สำหรับสาระความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรติดตามรับชม Youtube ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ได้ ในตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง