พนักงานมหาวิทยาลัยฟ้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนที่ไม่เป็นธรรม | เรื่องเด่น คดีปกครอง

พนักงานมหาวิทยาลัยฟ้องขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้หน่วยงานทางปกครองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนที่ไม่เป็นธรรมและการละเลยไม่พิจารณาผลการประเมินการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือน

สัญญาทางปกครอง (สัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง)

ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยฟ้องขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้หน่วยงานทางปกครองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนที่ไม่เป็นธรรม และการละเลยไม่พิจารณาผลการประเมินการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือน เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

อย่างไรก็ดี การที่อธิการบดี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ซึ่งเป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ในกิจการทั้งปวงตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2558 ได้ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีให้เข้ามาปฏิบัติงานในตําแหน่งนักเทคนิคการแพทย์ ชํานาญการพิเศษ สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันตามที่กําหนดไว้ในสัญญาจ้างดังกล่าว ซึ่งการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา เป็นเรื่องของนิติสัมพันธ์ที่ผูกพันกันระหว่างคู่กรณีในสัญญาเป็นการเฉพาะราย เมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างพิพาท ผู้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้มีเพียงผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เท่านั้น และแม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จะเป็นผู้ลงนามในสัญญาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการกระทําในฐานะผู้แทนหรือผู้รับมอบอํานาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 มิใช่คู่สัญญากับผู้ฟ้องคดีที่ผู้ฟ้องคดีจะใช้สิทธิโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามที่กําหนดไว้ในสัญญา ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทําของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

โดยสรุป กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยฟ้องขอให้หน่วยงานทางปกครองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนที่ไม่เป็นธรรม และการละเลยไม่พิจารณาผลการประเมินการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือน เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ คบ. 88/2565 (ประชุมใหญ่)

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง