สัญญาทางปกครองที่มีวัตถุประสงค์ถือเอาปริมาณงานตามใบแจ้งปริมาณงานและราคาเป็นจำนวนโดยประมาณ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การแสดงเจตนายื่นเสนอราคาโดยสําคัญผิดในปริมาณงานและราคากลาง

สัญญาทางปกครอง (สัญญาจ้างทํางานกับรัฐ)

ในสัญญาทางปกครองแม้จะมีหลักการว่า รัฐในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดทํา บริการสาธารณะย่อมมีอํานาจในการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว โดยมีผลให้สัญญาเลิกกันได้โดยไม่ต้อง เสนอเรื่องต่อศาลเพื่อมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้สัญญาเป็นอันเลิกกันก็ตาม แต่หลักการดังกล่าว มิได้หมายความว่าการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจะมีได้เฉพาะแต่คู่สัญญาฝ่ายรัฐเท่านั้น คู่สัญญาฝ่ายเอกชนยังคงมีสิทธิ์แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาได้ เพียงแต่การแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาของ คู่สัญญาฝ่ายเอกชนจะไม่มีผลทางกฎหมายได้เอง ต้องมีการร้องขอให้ศาลมีคําสั่งหรือคําพิพากษา ให้สัญญาทางปกครองเป็นอันเลิกกัน หากปรากฏว่าคู่สัญญาฝ่ายปกครองเป็นฝ่ายผิดสัญญาอย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้คู่สัญญาฝ่ายเอกชนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ สัญญาทางปกครองเป็นอันเลิกกันได้เมื่อมีกรณีที่เป็นเหตุสุดวิสัยซึ่งมิใช่ความผิดของคู่กรณีฝ่ายใด อันเป็นเหตุที่ทําให้คู่สัญญาไม่อาจปฏิบัติการชําระหนี้ตามสัญญาได้โดยสิ้นเชิง หรือกรณีที่มีข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นได้ว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมกันโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย ให้สัญญาทางปกครองเป็นอันเลิกกันตามหลักการทั่วไปว่าด้วยสัญญาดังที่ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เมื่อสัญญาจ้างทํางานโครงการปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติฯ แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของสัญญาที่ถือเอาปริมาณงานที่กําหนดไว้ในบัญชีรายการก่อสร้างหรือใบแจ้งปริมาณงานและราคาเป็นจํานวนโดยประมาณเท่านั้น โดยหากปริมาณงาน ที่ทําเสร็จจริงเกินกว่าปริมาณที่กําหนดไว้ในสัญญาหรือใบแจ้งปริมาณงานและราคา ข้อกําหนดในสัญญาก็ได้กําหนดเกณฑ์การจ่ายค่าจ้างไว้อย่างชัดเจน ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างรวมถึงงานโยธาอื่น ๆ ย่อมต้องทราบถึงการดําเนินการตามสัญญาในลักษณะนี้เป็นอย่างดี ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดียื่นใบเสนอราคางานโครงการพิพาท จึงไม่ถือเป็นการแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในปริมาณงานและราคากลาง และไม่ทําให้สัญญาจ้างโครงการดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ผู้ฟ้องคดีต้องผูกพัน ปฏิบัติตามข้อกําหนดในสัญญาฉบับพิพาท นอกจากนี้ เหตุที่ปริมาณดินมีจํานวนมากกว่าที่กําหนดในประกาศสอบราคาก็ไม่ถือเป็นเหตุที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายปกครองเป็นฝ่ายผิดสัญญาอย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดี ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาต่อไปได้ และไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทําให้คู่สัญญาไม่อาจ ปฏิบัติการชําระหนี้ตามสัญญาได้โดยสิ้นเชิง การที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินค่าจ้างส่วนที่ได้ทําไปแล้ว จํานวน 84,500 บาท จึงเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสัญญา อีกทั้งยังมีผลทําให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นฝ่ายที่ไม่สามารถ ทํางานให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลากลับเป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเอง เป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีสิทธิ บอกเลิกสัญญาต่อผู้ฟ้องคดีได้ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 5 ตุลาคม 2557 บอกเลิกสัญญาต่อผู้ฟ้องคดีแล้ว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2557 และเรียกค่าปรับเป็นเงิน จํานวน 397,800 บาท การใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นการกระทําโดยชอบ ด้วยข้อสัญญา

ในการนี้ แม้ว่าเงินจํานวน 84,500 บาท ที่ผู้ฟ้องคดีเรียกร้องจะเป็นจํานวนเดียวกัน กับที่ผู้ฟ้องคดีเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รับผิดตามหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 แต่เมื่อในขณะยื่นฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีเพียงแต่มีหนังสือบอกเลิกสัญญาฝ่ายเดียว โดยไม่ชอบ โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังมิได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาด้วยแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า สัญญาพิพาทเลิกกันแล้วก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะนําคดีมาฟ้อง การที่ผู้ฟ้องคดีมีคําขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้เงินจํานวน 84,500 บาท จึงมิใช่การเรียกร้องค่าการงานที่พึงได้รับจากการเลิกสัญญา หากแต่เป็นการเรียกร้องเงินตามสัญญา อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่าย ผิดสัญญาเนื่องจากไม่สามารถทํางานให้แล้วเสร็จภายในกําหนด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ชําระเงินจํานวน 84,500 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี

โดยสรุป เมื่อสัญญามีวัตถุประสงค์ให้ถือเอาปริมาณงานตามใบแจ้งปริมาณงานและราคาเป็นจํานวนโดยประมาณ การที่ปริมาณงานจริงมีจํานวนมากกว่าที่กําหนดในประกาศจัดซื้อจัดจ้างไม่ถือเป็นกรณีที่ผู้รับจ้างเสนอราคาโดยสําคัญผิดในปริมาณงานและราคากลาง จึงไม่ทําให้สัญญาตกเป็นโมฆะ

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 499/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง 

การพิจารณาเบี้ยปรับ กรณีผู้รับทุนถึงแก่ความตาย | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การพิจารณาเบี้ยปรับกรณีผู้รับทุนถึงแก่ความตาย

สัญญาทางปกครอง (สัญญาให้ทุนการศึกษา)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 383 วรรคหนึ่ง)

เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กระทําผิดสัญญารับทุนการศึกษาตามโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ระดับอุดมศึกษา ปีการศึกษา 2540 แจ้งความประสงค์ต่อสถาบันส่งเสริมการสอน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ผู้ฟ้องคดี) ว่า ต้องการอยู่ต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และขอชดใช้เงิน แทนการกลับมาปฏิบัติงานชดใช้ทุน และเมื่อผู้ฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชําระเงิน ทุนการศึกษาเนื่องจากผิดเงื่อนไขสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีหนังสือขอผ่อนชําระการชดใช้เงินคืน เป็นรายเดือน และได้แจ้งเหตุผลว่ากําลังป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม จําเป็นต้องใช้เงิน พร้อมทั้งแนบเอกสารหลักฐานการตรวจมาให้ผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ผ่อนชําระเงินทั้งหมด 9 งวด เป็นเงินจํานวนทั้งสิ้น 71,000 บาท แต่ต่อมาได้ถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็งเต้านม ปรากฏหลักฐาน ตามสําเนาใบมรณบัตร ออก ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เห็นได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีเจตนาชดใช้เงินแทนการกลับมาปฏิบัติราชการ ไม่มีเจตนาไม่ชดใช้เงิน แต่การที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่สามารถผ่อนชําระเงินต่อไปได้เป็นเพราะป่วยด้วยโรคมะเร็ง ต้องใช้เงินในการ รักษาตัว และถึงแก่ความตายด้วยโรคดังกล่าวในที่สุด เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของผู้ฟ้องคดี ทุกอย่างไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน ประกอบกับเหตุผลแล้วเห็นว่า เงินเบี้ยปรับ ตามสัญญาที่กําหนดไว้สองเท่าของจํานวนเงินทุน เป็นจํานวนที่สูงเกินส่วน เห็นสมควรลดเบี้ยปรับ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้แก่ผู้ฟ้องคดีลงเหลือเพียงหนึ่งเท่าของจํานวนทุนที่จะต้องชดใช้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนอัตราดอกเบี้ย ตามสัญญาที่กําหนดไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นอัตราที่สูงเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในปัจจุบัน เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของผู้ฟ้องคดีทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เพียงแต่ทางได้เสียในเชิง ทรัพย์สินแล้ว เห็นว่า จํานวนดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาเป็นจํานวนที่สูงเกินส่วน เห็นควรลดดอกเบี้ยลง เหลือร้อยละ 7.5 ต่อปี ทั้งนี้ ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน

สําหรับกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงแก่ความตาย จึงไม่ต้องรับผิด ตามสัญญาพิพาทนั้น เห็นว่า การถึงแก่ความตายที่ทําให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญา จะต้อง เป็นการถึงแก่ความตายในระหว่างที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ศึกษาหรือปฏิบัติงานชดใช้ทุน เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มิได้ถึงแก่ความตายระหว่างศึกษา รวมทั้งมิได้ปฏิบัติงานชดใช้ทุนเนื่องจากถึงแก่ความตายด้วยโรค มะเร็งเต้านมในระหว่างการผ่อนชําระเงินชดใช้ทุน กรณีของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่เข้าเงื่อนไขที่ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาแต่อย่างใด

โดยสรุป การพิจารณาเบี้ยปรับกรณีผู้รับทุนถึงแก่ความตาย (ผู้รับทุนที่ถึงแก่ความตายในระหว่าง การผ่อนชําระเงินชดใช้ทุน แม้ไม่เข้าเงื่อนไขที่ไม่ต้องรับผิดตามสัญญา แต่ถือเป็นเหตุให้ศาลลดเบี้ยปรับลงได้)

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.310/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง