เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีค่าธรรมเนียมศาล | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.5

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีค่าธรรมเนียมศาล

สวัสดีครับทนายพฤกษ์คดีปกครอง Podcast ในตอนนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมศาลในคดีปกครอง ซึ่งเรื่องค่าธรรมเนียมศาลนี้ก็ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาตรวจรับคำฟ้องของศาลปกครองครับ

ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยทั่วไปแล้วไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่กรณีการฟ้องคดีที่มีคำขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์ อันเนื่องมาจากคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่น หรือคดีพิพาทที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) และ (4) ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีต่อศาล ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดสำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ตามมาตรา 45 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมศาล กรณีการฟ้องคดีปกครอง ขอให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) สำหรับทุนทรัพย์ไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 2 แต่ไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับทุนทรัพย์ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ให้เสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 0.1

ในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระค่าธรรมเนียมศาลก็อาจมีคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลยื่นต่อศาล โดยมาตรา 45/1 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า การฟ้องคดีที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา 45 วรรคสี่ หากคู่กรณีได้ยื่นคำขอต่อศาลโดยอ้างว่าไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล หรือโดยสถานะของผู้ขอถ้าไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร ถ้าศาลเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะรับฟ้องไว้พิจารณา หรือในกรณีอุทธรณ์ซึ่งศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรที่จะอุทธรณ์ได้ แล้วแต่กรณี และศาลได้ไต่สวนแล้วเห็นว่ามีเหตุตามคำขอจริงก็ให้ศาลอนุญาตให้คู่กรณีนั้นดำเนินคดี โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดโดยเฉพาะบางส่วน คำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้เป็นที่สุด

ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าว ผู้มีสิทธิยื่นคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ได้แก่คู่กรณีที่ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระค่าธรรมเนียมศาล หรือโดยสถานะของผู้ขอถ้าไม่ได้รับยกเว้นได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร โดยในการยื่นคำขอต้องทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลปกครองชั้นต้นพร้อมกับคำฟ้องหรือคำอุทธรณ์แล้วแต่กรณี หรือถ้าไม่ได้ยื่นพร้อมกับคำฟ้องหรือคำอุทธรณ์อาจยื่นคำขอต่อศาลปกครองชั้นต้นในภายหลังก็ได้

เมื่อได้ยื่นคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลแล้ว กรณีศาลมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด คำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้เป็นที่สุดอุทธรณ์ไม่ได้ แต่กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเฉพาะบางส่วน หรือมีคำสั่งให้ยกคำขอผู้ยื่นคำขอมีสิทธิดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

ประการที่ 1 การยื่นคำขอให้พิจารณาคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลใหม่ เพื่ออนุญาตให้นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าไม่มีทรัพย์สินเพียงพอหรือโดยสถานะถ้าไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร โดยยื่นคำร้องต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่ง และเมื่อศาลมีคำสั่งเช่นใดก็ให้เป็นที่สุด

ประการที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด

โดยในการดำเนินการนี้ ผู้ยื่นคำขออาจใช้สิทธิขอพิจารณาคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลใหม่หรือยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเมื่อใช้สิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วใช้สิทธิอีกประการไม่ได้

สำหรับในเรื่องค่าธรรมเนียมศาลนี้ กรณีคดีที่ต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมศาลก็อาจมีสิทธิได้รับการคืนค่าธรรมเนียมศาล แบ่งได้ 3 กรณี ดังนี้

  1. กรณีศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลก็จะมีคำคำสั่งให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
  2. กรณีถอนคำฟ้อง เมื่อศาลอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีถอนคำฟ้อง และสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลก็จะสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาล
  3. กรณีศาลมีคำพิพากษาให้ชนะคดีทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งตามมาตรา 72 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีให้ศาลปกครองมีคำสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของการชนะคดี ดังนั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ศาลก็จะมีคำสั่งในเรื่องการคืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนของการชนะคดีไว้ในคำพิพากษาด้วย

โดยสรุปครับ ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยทั่วไปจะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่คดีที่มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งหากไม่ดำเนินการชำระให้ถูกต้องครบถ้วนศาลก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา แต่ทั้งนี้หากผู้ฟ้องคดีไม่มีทรัพย์สินเพียงพอจะชำระก็สามารถมีคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้ตามรายละเอียดที่ได้กล่าวมาแล้วครับ

สำหรับสาระความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรติดตามรับชม ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ได้ ในตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง