ผิดสัญญาทางปกครอง เอกชนมีสิทธิได้รับค่าการงานที่ทำไปหรือไม่

ผิดสัญญาทางปกครอง เอกชนมีสิทธิได้รับค่าการงานที่ทำไปหรือไม่

            สวัสดีครับเรื่องเล่าคดีปกครองกับทนายพฤกษ์ คดีปกครอง ในตอนนี้จะนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับ กรณีมีการผิดสัญญาทางปกครองซึ่งคู่สัญญาฝั่งหน่วยงานของรัฐได้บอกเลิกสัญญา และริบหลักประกันสัญญาไว้เป็นค่าปรับ คู่สัญญาฝั่งบริษัทเอกชนจะสามารถดำเนินการอย่างใดได้บ้าง

            ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เนื่องจากเทศบาลได้จัดทำโครงการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในทรัพย์สินของประชาชนในท้องที่ด้วยการติดกล้องวงจรปิดหรือกล้อง cctv โดยผู้ฟ้องคดีเป็นบริษัทเอกชน ซึ่งชนะการสอบราคาและได้ทำสัญญาซื้อขายกล้องวงจรปิดหรือกล้อง cctv พร้อมติดตั้งกับเทศบาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติดและความปลอดภัยในท้องที่ ซึ่งถือเป็นการจัดทำบริการสาธารณะในอำนาจหน้าที่ของเทศบาล สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบกล้อง cctv พร้อมติดตั้งให้แก่เทศบาล โดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้รายงานความเห็นต่อนายกเทศมนตรีว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและรายละเอียดแนบท้ายสัญญาอย่างครบถ้วน จึงไม่ทำการตรวจรับงานในครั้งนี้ เทศบาลเห็นว่าผู้ฟ้องคดีผิดสัญญาจึงมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันสัญญาไว้เป็นค่าปรับ โดยสงวนสิทธิ์ไม่รับกล้องวงจรปิดที่ผู้ฟ้องคดีนำมาติดตั้งไว้ และให้ผู้ฟ้องคดีนำกล้องวงจรปิดที่เกี่ยวข้องกับคืนไป เนื่องจากเป็นทรัพย์ที่รื้อถอนได้ เพื่อให้แต่ละฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ากล้องวงจรปิดที่ส่งมอบเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาแล้ว การที่เทศบาลไม่ตรวจรับมอบงานเป็นการผิดสัญญา ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือทวงถามให้เทศบาลชำระเงิน แต่เทศบาลเพิกเฉย จึงฟ้องคดีต่อศาลศาลปกครอง เพื่อขอให้เทศบาลชำระค่ากล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไปแล้วให้แก่ผู้ฟ้องคดี

            ในคดีนี้ศาลปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ส่งมอบกล้องวงจรปิดพร้อมอุปกรณ์และมีการดำเนินการเข้าทดสอบตามวันเวลาที่เทศบาลกำหนด โดยมีผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมทำการตรวจสอบ ต่อมา เทศบาลได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีเข้าดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีจึงได้ทำการติดตั้งกล้องวงจรปิดและมีหนังสือขอส่งมอบงาน โดยมีการแก้ไขและส่งมอบงานครั้งที่ 2 แต่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ภายหลังการตรวจสอบแล้วได้รายงานผลการตรวจสอบว่า ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติไม่เป็นไปตามสัญญา เทศบาลจึงมีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันสัญญาไว้เป็นค่าปรับ และให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการนำกล้องวงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกลับคืนไป ดังนั้น ในกรณีนี้การที่ผู้ฟ้องคดีส่งมอบกล้องวงจรปิดพร้อมติดตั้งไม่ครบถ้วนตามที่ระบุในสัญญาผู้ฟ้องคดีจึงเป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญา เทศบาลมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งการบอกเลิกสัญญาส่งผลให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม อย่างไรก็ดีในการไต่สวนพยานผู้เชี่ยวชาญของศาลปกครองและจากรายงานของพยานผู้เชี่ยวชาญระบุว่ากล้องวงจรปิดของผู้ฟ้องคดีสามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งถ้อยคำของพยานซึ่งเป็นผู้ใช้กล้องวงจรปิดระบุว่าสามารถมองเห็นภาพทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จึงเห็นได้ว่า กล้องวงจรปิดตามสัญญาดังกล่าวนั้นใช้งานได้ เทศบาลจึงต้องใช้ค่าการงานในการติดตั้งกล้องวงจรปิดในส่วนที่สามารถใช้งานได้ให้แก่ผู้ฟ้องคดี และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า จากการตรวจสอบอุปกรณ์กล้องวงจรปิดตามสัญญาจำนวน 14 รายการ เป็นอุปกรณ์ที่ไม่มีปัญหา 11 รายการ และพบปัญหาการติดตั้งและใช้งาน 3 รายการ จึงพิพากษาให้เทศบาลชำระเงินตามสัญญาในส่วนของอุปกรณ์ที่ไม่มีปัญหาในการติดตั้งและใช้งาน

            โดยสรุป จากเรื่องเล่าคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองในตอนนี้บริษัทเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญาหากมีการดำเนินการที่ไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องตามสัญญาโดยเป็นฝ่ายผิดสัญญา คู่สัญญาอีกฝ่ายคือหน่วยงานของรัฐมีสิทธิที่จะไม่ตรวจรับงานตามสัญญาทางปกครองและบอกเลิกสัญญาได้โดยชอบ ซึ่งการเลิกสัญญาดังกล่าวส่งผลให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยในการกลับคืนสู่ฐานะเดิมนี้หมายถึงฐานะเดิมก่อนทำสัญญาหรือใกล้เคียงที่สุดที่สามารถทำได้ เช่นกรณีเกี่ยวกับส่วนที่เป็นการงานที่ได้กระทำให้ตามสัญญาและยอมให้ใช้ประโยชน์ซึ่งการที่จะชดใช้คืนให้ทำได้ด้วยการใช้เงินตามส่วนของค่างานนั้น หน่วยงานของรัฐจึงต้องชดใช้ค่าการงานที่ใช้ประโยชน์ได้ตามสัญญา

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายช่วยเหลือคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

ทำท่อระบายน้ำแต่ไม่มีป้ายเตือน เมื่อเกิดอุบัติเหตุใครต้องรับผิดชอบ



https://www.youtube.com/watch?v=ESwAmr6c2Yw

ทำท่อระบายน้ำแต่ไม่มีป้ายเตือน เมื่อเกิดอุบัติเหตุใครต้องรับผิดชอบ

สวัสดีครับเรื่องเล่าคดีปกครองกับทนายพฤกษ์ คดีปกครอง ในตอนนี้จะนำเสนอในเรื่องเกี่ยวกับอุบัติเหตุจากการสัญจรในทางสาธารณะอันเนื่องมาจากการการก่อสร้างหรือซ่อมแซมท่อหรือทางระบายน้ำและไม่มีการติดตั้งป้ายหรือสัญญาณเตือน

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เหตุเกิดจากเทศบาลได้ทำสัญญาจ้างบริษัทเอกชนซ่อมแซมท่อระบายน้ำในพื้นผิวถนน ต่อมาในเวลากลางคืนที่มีการซ่อมแซมท่อระบายน้ำที่ชำรุดบกพร่องตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ชนเข้ากับฝาท่อระบายน้ำที่ผู้รับจ้างวางขวางทางจราจรไว้ ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้ฟ้องคดีต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก จึงขอให้เทศบาลและผู้รับจ้างชดใช้ค่าเสียหาย แต่ก็ไม่ได้รับชดใช้ จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้เทศบาลและผู้รับจ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิด

ซึ่งในคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า ผู้รับจ้างจากเทศบาลซึ่งมีหน้าที่ซ่อมแซมฝาท่อระบายน้ำตามสัญญาจ้างจะต้องดำเนินการจัดหาและติดตั้งสิ่งป้องกันอันตรายตามจุดต่างๆที่มีการซ่อมแซมให้เพียงพอ การไม่ติดตั้งสิ่งป้องกันอันตรายหรือเครื่องหมายสัญญาณไฟต่างๆ เพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้ทางให้ทราบว่ามีการซ่อมแซม จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามสัญญาโดยประมาทเลินเล่อ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ส่วนเทศบาลซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเอกชนถือเป็นการมอบหมายให้เอกชนผู้รับจ้างดำเนินกิจการทางปกครองแทน มิได้สอดส่องดูแลอย่างเพียงพอเพื่อให้เอกชนผู้รับจ้างมีการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญา เทศบาลจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ผู้รับจ้างกระทำต่อผู้ฟ้องคดี

สำหรับในคดีนี้มีประเด็นค่าสินไหมทดแทนที่ศาลปกครองสูงสุดได้กำหนดให้ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี โดยให้เทศบาลและเอกชนผู้รับจ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ได้แก่

  1. ค่ารักษาพยาบาล เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาการบาดเจ็บและฟื้นฟูซ่อมแซมอวัยวะที่กระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุอันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิด
  2. ค่าจ้างพยาบาลพิเศษเฝ้าไข้
  3. ค่าใช้จ่ายของญาติที่มาดูแลระหว่างเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล
  4. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างเจ็บป่วย
  5. ค่าเสียหายเพื่อการเสียความสามารถในการประกอบการงานทั้งในเวลาปัจจุบันและอนาคต
  6. ค่าทนทุกข์ทรมานจากอาการบาดเจ็บและการรักษาพยาบาลนั้น

อย่างไรก็ตามในคดีนี้นอกเหนือจากศาลปกครองสูงสุดจะได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการทำละเมิดของเทศบาลและผู้รับจ้างแล้ว ยังได้วินิจฉัยภาวะการขับขี่รถจักรยานยนต์ของผู้ฟ้องคดีด้วย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีขับขี่รถจักรยานยนต์มาด้วยความเร็วสูง หากผู้ฟ้องคดีชะลอรถจักรยานยนต์และไม่ขับขี่ด้วยความเร็วสูง ก็อาจไม่เกิดเหตุร้ายแรงถึงขนาดตามที่เกิดขึ้น การบาดเจ็บสาหัสจึงเป็นผลมาจากความผิดของผู้ฟ้องคดีรวมอยู่ด้วย แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีผลมาจากการละเลยต่อหน้าที่ของเทศบาลและเอกชนผู้รับจ้างมากกว่า จึงหักส่วนแห่งความประมาทของผู้ฟ้องคดีออกจากจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดให้ทั้งหมด

โดยสรุปจากเรื่องเล่าในตอนนี้นะครับ การละเลยต่อหน้าที่ตามสัญญาโดยประมาทเลินเล่อของเอกชนผู้รับจ้างตามสัญญา หากเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี เทศบาลซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างหากมิได้สอดส่องดูแลอย่างเพียงพอเพื่อให้เอกชนผู้รับจ้างมีการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญา เทศบาลจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ผู้รับจ้างได้กระทำนั้นด้วย

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง 

ความเสียหายจากการยกเลิกการประกวดราคาหน่วยงานต้องรับผิดหรือไม่



https://youtu.be/BaTwvMu3N6c

ความเสียหายจากการยกเลิกการประกวดราคาหน่วยงานต้องรับผิดหรือไม่

            เรื่องเล่าคดีปกครองกับทนายพฤกษ์ คดีปกครองในตอนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่หน่วยงานของรัฐยกเลิกการประกาศประกวดราคาเนื่องจากหน่วยงานของรัฐไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ซึ่งหากให้มีการทำสัญญาต่อไปจะเป็นการขัดต่อกฎหมายและทำให้สัญญาตกเป็นโมฆะ หน่วยงานของรัฐจึงยกเลิกการประกวดราคาอันมิใช่ความผิดของบริษัทเอกชน ทำให้บริษัทเอกชนผู้ที่ได้รับคัดเลือกจากการเข้าประกวดราคาต้องได้รับความเสียหาย หน่วยงานของรัฐจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการยกเลิกการประกวดราคาหรือไม่

            ข้อเท็จจริงในกรณีนี้มีอยู่ว่า กรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศประกวดราคาจ้างกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อหาผู้รับจ้างมาทำการกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่ที่กำหนด และผู้รับจ้างจะต้องลงทุนก่อสร้างและเดินระบบกำจัดมูลฝอย ซึ่งมีมูลค่าโครงการเป็นเงินกว่าแปดพันล้าน ผู้ฟ้องคดีเป็นบริษัทเอกชนซึ่งมีคุณสมบัติและศักยภาพที่จะดำเนินการโครงการได้จึงเข้าร่วมเสนอราคา และผลการพิจารณาปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอย ภายหลังจากการประกาศผลการพิจารณาผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการเตรียมการเพื่อจัดทำโครงการดังกล่าวไปแล้วบางส่วน ต่อมา กรุงเทพมหานครมีหนังสือขอให้ขอขยายระยะเวลายื่นราคาออกไปอีก 180 วัน นับจากวันครบกำหนดยืนราคาเดิม โดยอ้างเหตุว่าต้องใช้เวลาในการพิจารณาตามขั้นตอนของทางราชการ โดยผู้ฟ้องคดียินยอมขยายเวลาการยืนราคาดังกล่าว และได้มีการขอขยายระยะเวลาการยืนราคาออกไปอีก 12 ครั้ง ซึ่งเป็นเวลารวม 510 วัน จากนั้นกรุงเทพมหานครมีหนังสือแจ้งยกเลิกการประกวดราคาโครงการกำจัดขยะมูลฝอยโดยให้เหตุผลว่า หากเซ็นสัญญาต่อไปจะขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และทำให้สัญญาเป็นโมฆะ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งยกเลิกการประกวดราคาแต่ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์จึงนำคดียื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย

            ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่กรุงเทพมหานครมีหนังสือแจ้งยกเลิกการประกวดราคาโดยให้เหตุผลว่า หากดำเนินการโครงการต่อไปจะขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เพราะวงเงินเกินหนึ่งพันล้านบาท ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องเสนอผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการผ่านกระทรวงที่สังกัดและได้รับความเห็นชอบโครงการจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมทั้งขออนุมัติในหลักการจากคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะดำเนินการ การที่กรุงเทพมหานครประกาศประกวดราคาโดยมิได้ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวซึ่งถือเป็นขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนด นั้น เกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ในสังกัด จนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเข้าประกวดราคาโดยสุจริตและเชื่อว่าเป็นประกาศประกวดราคาที่ชอบด้วยกฎหมายและจะได้เข้าทำสัญญาต่อไป การที่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ทำสัญญาเพราะมีคำสั่งยกเลิกการประกวดราคา ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ดังนั้น จึงถือว่า การที่กรุงเทพมหานครกระทำโดยประมาทเลินเล่อส่งผลให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงให้แก่ผู้ฟ้องคดี

            โดยสรุป การที่หน่วยงานของรัฐจะดำเนินโครงการซึ่งเป็นกรณีที่ต้องมีขั้นตอนและวิธีการในการดำเนินการให้เป็นไปภายใต้บังคับของกฎหมาย หน่วยงานนั้นจะต้องดำเนินการประกวดราคาให้ถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด กรณีการดำเนินการที่ไม่ได้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งอาจเกิดจากความประมาทของเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้อง หน่วยงานของรัฐนั้นไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดกับบริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประกวดราคาโดยสุจริตและได้รับความเสียหาย จากการยกเลิกการประกวดราคาอันที่ไม่ใช่ความผิดของบริษัทนั้นได้ หน่วยงานของรัฐจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงอันเป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดแก่บริษัทเอกชนที่ชนะการประกวดราคานั้น

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง 

หน่วยงานของรัฐก่อสร้างทางรุกล้ำที่ดินเอกชน ฟ้องศาลปกครองได้หรือไม่ 



https://youtu.be/2LPXKcXfHwk?si=Z0uhk4gDJ7QAeJ5O

หน่วยงานของรัฐก่อสร้างทางรุกล้ำที่ดินประชาชน ฟ้องศาลปกครองได้หรือไม่ 

เรื่องเล่าคดีปกครองกับทนายพฤกษ์ คดีปกครอง ในตอนนี้จะนำเสนอในเรื่องเกี่ยวกับการที่หน่วยงานของรัฐ ปรับปรุงทางและสร้างท่อระบายน้ำเพื่อประโยชน์ในการระบายน้ำช่วงหน้าฝน โดยการปรับปรุงและก่อสร้างดังกล่าวมีการรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอยู่ ดังนั้น การที่หน่วยงานรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน สามารถใช้สิทธิ์ฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้รื้อถอนทางหรือท่อระบายน้ำนั้นออกจากที่ดินของตนได้หรือไม่

สำหรับข้อเท็จจริงจากเรื่องเล่าคดีนี้ มีอยู่ว่า กรมทางหลวงโดยแขวงทางหลวง ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ดำเนินโครงการปรับปรุงทางและสร้างระบบระบายน้ำใต้ทางเท้าของทางหลวงแผ่นดิน ในการดำเนินการตามโครงการของบริษัทเอกชนดังกล่าวมีการปรับปรุงทางและสร้างระบบระบายน้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน เห็นว่ามีการก่อสร้างทางและระบบระบายน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของตน ตลอดแนวยาวของที่ดิน ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือขอให้สำนักทางหลวงดำเนินการแก้ไขปัญหาก่อสร้างทางและระบบระบายน้ำดังกล่าว ต่อมามีการตรวจสอบที่ดินและพบว่าเขตทางหลวงบางช่วงมีการรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านรายอื่นๆจริง จึงมีการลดระยะเขตทางให้ตรงกับความเป็นจริงและให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณากำหนดค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเขตทาง ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่กรมทางหลวงก่อสร้างทางเท้าและท่อระบายน้ำลุกลามเข้ามาในที่ดินของตนเป็นการกระทำละเมิดทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่สามารถใช้ที่ดินในส่วนที่มีการปรับได้ จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้รื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดี

ในกรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาเห็นว่า การที่กรมทางหลวงโดยแขวงทางหลวงได้ทำสัญญาว่าจ้างให้บริษัทเอกชนทำการปรับปรุงทางและทำท่อระบายน้ำใต้ทางเท้า โดยปรับปรุงทางและท่อระบายน้ำรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี และเมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าการดำเนินการตามสัญญาว่าจ้างของเอกชนมีการรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีจริง เมื่อกรมทางหลวงยังไม่ได้ดำเนินการเวนคืนที่ดินส่วนที่รุกล้ำนั้น ตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้ง ยังไม่มีการตกลงซื้อขายที่ดินส่วนดังกล่าว และไม่มีหลักฐานว่าผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้อุทิศที่ดินส่วนที่ถูกรุกล้ำนั้นให้เป็นทางสาธารณะประโยชน์ กรณีนี้ถือเป็นการกระทำละเมิดทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เมื่อผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ให้ที่ดินกลับไปสู่สภาพเดิม และไม่ประสงค์ที่จะขายที่ดินดังกล่าวให้แก่กรมทางหลวง ประกอบกับเมื่อพิจารณาทางเท้าและท่อระบายน้ำที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ของผู้ฟ้องคดี โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความจำเป็น และประโยชน์สาธารณะแล้ว การทำให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่สภาพเดิมโดยรื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำที่รุกล้ำไม่ได้กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เนื่องจากแม้จะรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำไปแล้ว ก็ยังคงเหลือทางเท้าและท่อระบายน้ำกว้างเพียงพอที่ประชาชนจะใช้ประโยชน์ได้ จึงพิพากษาให้กรมทางหลวงดำเนินการรื้อถอนทางเท้าและท่อระบายน้ำส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี

โดยสรุป จากเรื่องเล่าในตอนนี้ การที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่จะก่อสร้าง ปรับปรุงขยายถนน หรือทางระบายน้ำ ซึ่งมีแนวเขตติดกันกับที่ดินของเอกชน หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ จะต้องทำการสำรวจตรวจสอบหลักเขตหรือแนวที่ดินให้มีความชัดเจนก่อนที่จะทำสัญญาจ้างก่อสร้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระหว่างการก่อสร้างหรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ ดังนั้น หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ไม่สามารถอ้างว่าการดำเนินการก่อสร้างหรือปรับปรุงทางดังกล่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะได้ หากเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอื่นโดยที่ยังไม่มีการเวนคืนตามกฎหมาย หรือมีข้อตกลงในเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง

– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547

– Line: @prueklaw 

#สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง 

ถูกเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะ ฟ้องศาลปกครองได้หรือไม่



https://www.youtube.com/watch?v=LOOjeSdrm3o&t

ถูกเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะ ฟ้องศาลปกครองได้หรือไม่

สวัสดีครับ เรื่องเล่าคดีปกครอง กับทนายพฤกษ์ คดีปกครอง ที่จะนำมาเสนอในวันนี้เนื่องจากมีคำถามจากหลายท่านติดต่อเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับกรณีได้รับหนังสือเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะ สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้หรือไม่ ในตอนนี้ผมจึงขอหยิบยกนำเสนอในเรื่องเกี่ยวกับการเรียกคืนเงินจากร้านค้าที่ได้รับจากโครงการเราชนะ ซึ่งในช่วงโควิดระบาดที่ผ่านมารัฐบาลมีการสนับสนุนวงเงินให้แก่ประชาชนในการชำระค่าสินค้าหรือบริการจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับในส่วนของผู้ประกอบการก็จะมีเงื่อนไขว่าต้องรับชำระสินค้าหรือบริการโดยตรงจากประชาชนและห้ามผ่านคนกลางหากฝ่าฝืน อาจถูกเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะได้

            สำหรับข้อเท็จจริงในเรื่องที่นำมาเล่าเป็นตัวอย่างนี้ เป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยในกรณีการฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะ โดยผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ประกอบกิจการร้านขายสินค้าที่ได้เข้าร่วมโครงการเราชนะ ต่อมา ได้รับหนังสือแจ้งจากผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ให้คืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะ เนื่องจากมี พฤติการณ์ เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการ รวมทั้งผู้ฟ้องคดีไม่ได้ชี้แจงโต้แย้งภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งเรียกคืนเงินจากโครงการดังกล่าว แต่ถูกยกอุทธรณ์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองอ

            ในกรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาเห็นว่า การที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการเราชนะโดยให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยในส่วนของขั้นตอนการประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ เป็นกรณีที่ถือว่าก่อให้เกิดสิทธิสิทธิประโยชน์ในทางทรัพย์สินที่บุคคลจะได้รับตามโครงการฯ อันมีลักษณะลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามนัยของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 สำหรับการที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ตกลงยอมรับเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเพื่อให้มีการนำเงินช่วยเหลือที่ได้รับไปใช้จ่ายในการลดค่าครองชีพ อันเป็นไปเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ. 2563 ซึ่งถือเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่จำเป็น ในการพิจารณาอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ดังนั้น การอนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมโครงการฯ จึงถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการสิ้นผลของการได้รับสิทธิประโยชน์ตามโครงการฯ ที่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคตว่าจะมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขหรือไม่ และข้อสงวนสิทธิในการยกเลิกคำสั่งอนุมัตินั้น ตามมาตรา 39 วรรคสอง (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะเนื่องจากมีการพบว่า ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข หนังสือเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะดังกล่าว ถือว่ามีผลเป็นการเพิกถอนการอนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมโครงการฯ มีลักษณะการใช้อำนาจตามเงื่อนไขประกอบการออกคำสั่งที่อนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมโครงการฯ และเป็นการใช้อำนาจตามข้อ 20 ของหลักเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ อันเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล อันมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น คำสั่งในส่วนที่มีผลเป็นการเพิกถอนการอนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมโครงการฯ จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง สำหรับส่วนที่กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินมีลักษณะเป็นการทวงถามให้คืนเงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิเนื่องจากทำผิดเงื่อนไข เมื่อในหนังสือดังกล่าว ได้ระบุว่า หากผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง ผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง นั้น เป็นกรณีที่ถือได้ว่ามีเจตนาหรือความประสงค์ที่จะให้คำสั่งในส่วนนี้เป็นคำสั่งทางปกครอง

            ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องจากการกระทำดังกล่าว และการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหาย ศาลปกครองสามารถออกคำบังคับให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ และเมื่อได้มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งเรียกเงินคืนดังกล่าวดังกล่าวแล้ว ถือว่าผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่มีกฎหมายกำหนดไว้สำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องนั้นไว้โดยเฉพาะแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง อีกทั้ง เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องภายในระยะเวลาการฟ้องคดี ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาได้

            โดยสรุป การที่ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีหนังสือเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะ จากร้านค้าหรือผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเราชนะ เพราะเข้าข่ายทำผิดเงื่อนไข หนังสือเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะดังกล่าวจึงมีผลเป็นการเพิกถอนคำสั่งอนุมัติให้ร้านค้าหรือผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ อันมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งไม่โดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง

– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547

– Line: @prueklaw 

#สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง 

ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเพราะตกสำรวจ ใครต้องรับผิดชอบ



https://www.youtube.com/watch?v=67SY6wWWJNw

ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือเพราะตกสำรวจ ใครต้องรับผิดชอบ

สวัสดีครับ เรื่องเล่าคดีปกครอง กับทนายพฤกษ์ คดีปกครอง ที่จะนำมาเสนอในวันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการสำรวจข้อมูลราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีน้ำท่วมซึ่งมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือและการเยียวยาจากภาครัฐ

กรณีอุทกภัยหรือเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนอกจากที่จะต้องยอมรับและช่วยเหลือตนเองรวมทั้งช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้ว สิ่งที่ประชาชนคาดหวังและนึกถึงเป็นลำดับต่อมาก็คือความช่วยเหลือและการเยียวยาจากภาครัฐ ซึ่งความช่วยเหลือนั้นต้องเป็นความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

คดีปกครองที่จะนำมาเล่าในตอนนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินเยียวยาช่วยเหลือน้ำท่วม โดยมีเหตุมาจากการเกิดน้ำท่วมในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของ อบต. และจังหวัดได้มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) นายอำเภอในฐานะผู้กำกับดูแล อบต. และเป็นประธานคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ ได้สั่งการให้ อบต. สำรวจครัวเรือนที่ประสบอุทกภัยเพื่อให้การช่วยเหลือ หลังจากนั้นได้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือให้ผู้ประสบอุทกภัยตามบัญชีรายชื่อที่สำรวจ แต่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ประสบอุทกภัยและอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือกลับไม่มีรายชื่อในแบบสำรวจ ผู้ฟ้องคดีก็เลยทวงถามไปทาง อบต. และได้รับการแจ้งกลับมาว่า มีการจ่ายเงินช่วยเหลือกันไปเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ตนก็เป็นผู้ประสบอุทกภัยมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือแต่ อบต. สำรวจรายชื่อตกหล่นทำให้ตนเสียสิทธิ จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง โดยฟ้องให้ นายก อบต. และ อบต. ชดใช้ค่าเสียหายจากการที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

โดยคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีได้อ้างว่า เนื่องจากในการสำรวจรายชื่อผู้ประสบอุทกภัยมีระยะเวลาในการสำรวจกระชั้นชิดและมีเจ้าหน้าที่ออกสำรวจไม่เพียงพอ รวมทั้งได้มีการประกาศแจ้งเสียงตามสายเพื่อให้ผู้เดือดร้อนไปแจ้งรายชื่อแล้ว แต่ผู้ฟ้องคดีมิได้ไปแจ้งสิทธิ

ในคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อการสั่งการของนายอำเภอเป็นการสั่งการโดยมีกฎหมายให้อำนาจกระทำได้ และเป็นการสั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย อบต. จึงมีหน้าที่สำรวจรายชื่อครัวเรือนที่ประสบอุทกภัยตามที่อำเภอมอบหมาย ถือได้ว่าเป็นหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ แม้ อบต. จะเพิ่งได้รับข้อสั่งการ แต่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบต. ย่อมต้องมีข้อมูลพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายในท้องที่ของตน โดยอาศัยข้อมูลที่มีอยู่แล้วก็น่าจะเพียงพอกับระยะเวลาดำเนินการ และไม่ใช่กรณีที่ราษฎรต้องแจ้งสิทธิของตนก่อน เมื่อ อบต. สำรวจและจัดเก็บรายชื่อไม่ถูกต้อง ทำให้รายชื่อของราษฎรที่อยู่ในหลักเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือตกสำรวจ จึงถือได้ว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ประสบอุทกภัยไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ จึงเป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อบต. จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี

โดยสรุปเรื่องเล่าในตอนนี้ หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ความรับผิดชอบของตน นอกจากจะต้องให้ความช่วยเหลือเป็นการเฉพาะหน้าแล้ว การสำรวจตรวจสอบข้อมูลเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ผู้ประสบภัยก็ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การช่วยเหลืออย่างถูกต้องครบถ้วน

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง

– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547

– Line: @prueklaw 

#สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง