เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ตอนที่ 2

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ตอนที่ 2

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ตอนที่ 2

เงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองนั้น เป็นสาระสำคัญที่ศาลปกครองต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่า คดีที่ฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ศาลจะสามารถรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาได้หรือไม่  ซึ่งจากเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ตอนที่ 1 ที่ได้กล่าวถึงในเรื่องของคำฟ้องที่ต้องมีรายการครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด การเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครอง และการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังมีเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครอง ดังต่อไปนี้

4. ต้องฟ้องคดีภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

4.1 ระยะเวลาการฟ้องขอให้เพิกถอนกฎ คำสั่งทางปกครอง ขอให้ศาลสั่งห้ามการกระทำทางปกครองอื่น

– การฟ้องคดีจะต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ม.49 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ

4.2 ระยะเวลาในการฟ้องคดีขอให้ศาลสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ภายในเวลาที่ศาลกำหนด

– การฟ้องคดีจะต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

4.3 ระยะเวลาในการฟ้องคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ

– การฟ้องคดีเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

4.4 ระยะเวลาในการฟ้องคดีเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ

– การฟ้องคดีเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐให้ฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

4.5 ระยะเวลาในการฟ้องคดีเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

– การฟ้องคดีเกี่ยวกับความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐให้ฟ้องภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

4.6 ระยะเวลาในการฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคล

– การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือสถานะของบุคคล จะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้

4.7 ระยะเวลาในการฟ้องคดีในกรณีที่จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่น

– การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลปกครองเห็นว่า คดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเองหรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลจะรับไว้พิจารณาก็ได้

อ่านต่อ : เงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง

5. ค่าธรรมเนียมศาล

การฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้นโดยหลักแล้วไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่เป็นการการฟ้องขอให้สั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สินอันสืบเนื่องจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4)  ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าวต้องชำระค่าธรรมเนียมศาลให้ถูกต้อง

6. ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถตามกฎหมาย

– การฟ้องคดีต่อศาลปกครองผู้ฟ้องคดีต้องมีความสามารถในการใช้สิทธิ (ข้อ 26 ระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ)

– ผู้เยาว์ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี บริบูรณ์ ศาลอาจอนุญาตให้ฟ้องคดีปกครองด้วยตัวเองได้ ถ้าศาลเห็นสมควร (ข้อ 27 ระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ)         

7. ต้องไม่เป็นการฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

ในการฟ้องซ้อนนั้น เป็นกรณีที่นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีก หากผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้น จะเป็นกรณีการฟ้องซ้อน เช่นเดียวกับในกรณีการฟ้องซ้ำ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ กล่าวคือ เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง