พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 มาตรา 51 และมาตรา 52 แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่กฎหมายเฉพาะกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้แล้ว ก็ย่อมต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น การฟ้องคดีปกครองภายในระยะเวลานี้นั้นถือเป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองตามที่ทนายคดีปกครองได้เคยกล่าวไว้แล้วในบทก่อนหน้า
การฟ้องคดีปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ 4 กรณี คือ
1. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
การฟ้องคดีที่เป็นข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) เป็นการฟ้องเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดเนื่องจากการกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสาคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริตหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
การฟ้องคดีเป็นข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) เป็นการฟ้องเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร คือ กรณีที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่มีอำนาจริเริ่มใช้ได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำต้องรอให้มีผู้ยื่นคำขอให้ดำเนินการต้องฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี และกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจริเริ่มใช้ได้ด้วยตนเอง หากแต่จะดำเนินการได้เมื่อมีผู้มายื่นคำร้องขอเท่านั้น ต้องฟ้องคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงหรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่เห็นว่าไม่มีเหตุผล
การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดให้ยื่นฟ้องคดีภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผลแล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
2. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
การฟ้องคดีเป็นข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
3. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
การฟ้องคดีเป็นข้อพิพาทตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 5 ปี นับแต่วันรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
การรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีกรณีการเลิกสัญญาทางปกครองซึ่งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะจึงต้องนำวิธีการบอกเลิกสัญญาทางแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามมาตรา 386 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 169 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังผู้ถูกฟ้องคดีตามที่อยู่ที่ปรากฏในหลักฐานการจดทะเบียนนิติบุคคลแต่ไม่มีผู้รับ จึงถือว่าไม่ได้มีการบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อมาเมื่อที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวพร้อมทั้งขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีนำเงินไปชำระค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ส่งหนังสือดังกล่าว โดยวิธีปิดหนังสือ ณ ภูมิลำเนาของผู้ถูกฟ้องคดี ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 15 วัน นับจากวันที่ปิดหนังสือดังกล่าว
4. การฟ้องคดีตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
กรณีการฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะบุคคลตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้
การฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินโดยที่ดินบางส่วนได้ทับที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีในฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณะภายในท้องที่ของตนซึ่งรวมถึงที่สาธารณะอันเป็นที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันด้วย ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับคุ้มครองประโยชน์สาธารณะจะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ตามมาตรา 52
การฟ้องคดีเกี่ยวกับสถานะของบุคคล โดยสถานะบุคคล หมายถึง สถานะตามกฎหมายที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิในการเป็นบุคคลหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบุคคลโดยบุคคลจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธินั้นหรือไม่ต้องพิจารณาจากความเป็นบุคคลของผู้นั้นเป็นหลัก สถานะดังกล่าวอาจจะเป็นสถานะของบุคคลในประเทศชาติ เช่น สัญชาติของบุคคล หรือสถานะในครอบครัว เช่น เพศ อายุ บิดามารดา บุตร สามีภริยา เป็นต้น
กรณีการฟ้องคดีที่เป็นประโยชน์แก่สวนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นกรณีที่ศาลหากเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเอง หรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลจะรับไว้พิจารณาก็ได้ และคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาในกรณีเช่นนี้ย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
การฟ้องคดีที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีประกอบกิจการโรงงานก่อให้เกิดสิ่งปฏิกูล และมลภาวะทางเสียงอันเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนรำคาญ และเสียสุขภาพ ผู้ฟ้องคดีได้ ร้องเรียนต่อสำนักงานเขตและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแต่มิได้รับการเยียวยาแก้ไข ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แต่เมื่อปรากฏว่าเหตุเดือดร้อนรำคาญยังคงมีอยู่จนถึงวันฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแก้ไขความเดือดร้อนรำคาญดังกล่าว อีกทั้งการไม่ปรับปรุงแก้ไขโรงงานอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนจำนวนมาก การรับคำฟ้องไว้พิจารณาจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
การฟ้องคดีที่มีเหตุจำเป็นอื่น เช่น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือต่อผู้ถูกฟ้องคดีขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วมีเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีติดต่อและรับว่าจะดำเนินการแก้ไขเยียวยาให้กับผู้ฟ้องคดีมาโดยตลอด ทำให้เชื่อว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะดำเนินการให้อันเป็นผลให้ผู้ฟ้องคดียื่นเรื่องร้องทุกข์เลยกำหนดเวลา จึงเป็นกรณีจำเป็นที่ต้องรับไว้พิจารณาตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
PODCAST : เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.4
———————————————
ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw
สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง
“บริการให้คำปรึกษาและแนะนำเกี่ยวกับคดีปกครอง
การดำเนินการก่อนฟ้องคดี การฟ้องคดี
การอุทธรณ์คำพิพากษา และการบังคับคดี”
ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
ปรึกษาคดี Line