เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีซ้ำ | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.6

การฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ และการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

สวัสดีครับทนายพฤกษ์คดีปกครอง Podcast ในตอนนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฟ้องคดีปกครอง ในเรื่อง ฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ และการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาตรวจรับคำฟ้องของศาลปกครองครับ

การฟ้องซ้อน เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว และในคดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลปกครองอีก ซึ่งตามข้อ 36 (1) แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 บัญญัติว่า นับแต่เวลาที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว คดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาและผลแห่งการนี้ ห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีก

หลักการสำคัญของการฟ้องซ้อน
(1) ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว
(2) ในคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
(3) ผู้ฟ้องคดีคนเดียวกันยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีก

ซึ่งเรื่องเดียวกัน หมายถึง เรื่องที่อาศัยเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีที่มีอยู่ก่อนฟ้อง หรือสืบเนื่องมาจากมูลกรณีเดียวกันกับคดีก่อน แม้จะเปลี่ยนแปลงข้ออ้างหรือสภาพแห่งข้อหาหรือข้อเรียกร้องให้รับผิดต่างกัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะกฎหมายประสงค์ที่จะให้สิทธิหรือมูลฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้นได้ฟ้องให้เสร็จสิ้นในคดีเดียวกัน หากมีข้อขาดตกบกพร่อง ก็อาจขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องจะฟ้องเป็นคดีใหม่อีกไม่ได้

การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ เป็นกรณีที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นใดแห่งคดีแล้วมีการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยแล้ว ซึ่งตามข้อ 96 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 บัญญัติว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น เว้นแต่
(1) การแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยตามข้อ 95
(2) การพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ตามมาตรา 75
(3) การพิจารณาใหม่แห่งคดีที่สำนวนคดีหรือเอกสารในสำนวนคดีสูญหายหรือบุบสลายตามข้อ 21
(4) การยื่น การรับ หรือไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา 73
(5) การดำเนินการเกี่ยวกับการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวในระหว่างการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งคำอุทธรณ์อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น ตามข้อ 104 หรือ ข้อ 106
(6) การที่ศาลปกครองสูงสุดส่งคดีคืนไปยังศาลปกครองชั้นต้นที่ได้พิจารณาและพิพากษาหรือมีคำสั่งคดีนั้นเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่หรือพิจารณาและพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ ตามข้อ 112(7) การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง

หลักการสำคัญของการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
(1) ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว
(2) ห้ามศาลดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น
(3) ห้ามดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น

การฟ้องซ้ำ เป็นกรณีที่ศาลปกครองได้พิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดถึงที่สุดแล้ว และคู่กรณีเดียวกันได้นำคดีเดียวกันที่ศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วมาฟ้องต่อศาลอีก โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีก่อนที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ซึ่งตามข้อ 97 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 บัญญัติว่า คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่กรณีเดียวกันฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน

หลักการสำคัญของการฟ้องซ้ำ
(1) คดีมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดถึงที่สุดแล้ว
(2) คู่กรณีเดียวกันในคดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดนั้นฟ้องกันอีก
(3) ฟ้องในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน

โดยสรุป ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองหากการฟ้องคดีนั้นเป็นการฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำ ศาลก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

สำหรับสาระความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรติดตามรับชม ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ได้ ในตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีค่าธรรมเนียมศาล | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.5



https://www.youtube.com/watch?v=bS6fMKJ2VmY

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีค่าธรรมเนียมศาล

สวัสดีครับทนายพฤกษ์คดีปกครอง Podcast ในตอนนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมศาลในคดีปกครอง ซึ่งเรื่องค่าธรรมเนียมศาลนี้ก็ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาตรวจรับคำฟ้องของศาลปกครองครับ

ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยทั่วไปแล้วไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่กรณีการฟ้องคดีที่มีคำขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์ อันเนื่องมาจากคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่น หรือคดีพิพาทที่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) และ (4) ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีต่อศาล ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดสำหรับคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ตามมาตรา 45 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมศาล กรณีการฟ้องคดีปกครอง ขอให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) หรือ (4) สำหรับทุนทรัพย์ไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 2 แต่ไม่เกิน 200,000 บาท สำหรับทุนทรัพย์ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ให้เสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ 0.1

ในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระค่าธรรมเนียมศาลก็อาจมีคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลยื่นต่อศาล โดยมาตรา 45/1 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า การฟ้องคดีที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามมาตรา 45 วรรคสี่ หากคู่กรณีได้ยื่นคำขอต่อศาลโดยอ้างว่าไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาล หรือโดยสถานะของผู้ขอถ้าไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร ถ้าศาลเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะรับฟ้องไว้พิจารณา หรือในกรณีอุทธรณ์ซึ่งศาลเห็นว่ามีเหตุอันสมควรที่จะอุทธรณ์ได้ แล้วแต่กรณี และศาลได้ไต่สวนแล้วเห็นว่ามีเหตุตามคำขอจริงก็ให้ศาลอนุญาตให้คู่กรณีนั้นดำเนินคดี โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดโดยเฉพาะบางส่วน คำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้เป็นที่สุด

ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าว ผู้มีสิทธิยื่นคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ได้แก่คู่กรณีที่ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระค่าธรรมเนียมศาล หรือโดยสถานะของผู้ขอถ้าไม่ได้รับยกเว้นได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร โดยในการยื่นคำขอต้องทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลปกครองชั้นต้นพร้อมกับคำฟ้องหรือคำอุทธรณ์แล้วแต่กรณี หรือถ้าไม่ได้ยื่นพร้อมกับคำฟ้องหรือคำอุทธรณ์อาจยื่นคำขอต่อศาลปกครองชั้นต้นในภายหลังก็ได้

เมื่อได้ยื่นคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลต่อศาลแล้ว กรณีศาลมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมด คำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้เป็นที่สุดอุทธรณ์ไม่ได้ แต่กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเฉพาะบางส่วน หรือมีคำสั่งให้ยกคำขอผู้ยื่นคำขอมีสิทธิดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

ประการที่ 1 การยื่นคำขอให้พิจารณาคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลใหม่ เพื่ออนุญาตให้นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าไม่มีทรัพย์สินเพียงพอหรือโดยสถานะถ้าไม่ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจะได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร โดยยื่นคำร้องต่อศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่ง และเมื่อศาลมีคำสั่งเช่นใดก็ให้เป็นที่สุด

ประการที่ 2 ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด

โดยในการดำเนินการนี้ ผู้ยื่นคำขออาจใช้สิทธิขอพิจารณาคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลใหม่หรือยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเมื่อใช้สิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วใช้สิทธิอีกประการไม่ได้

สำหรับในเรื่องค่าธรรมเนียมศาลนี้ กรณีคดีที่ต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมศาลก็อาจมีสิทธิได้รับการคืนค่าธรรมเนียมศาล แบ่งได้ 3 กรณี ดังนี้

  1. กรณีศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลก็จะมีคำคำสั่งให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา
  2. กรณีถอนคำฟ้อง เมื่อศาลอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีถอนคำฟ้อง และสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลก็จะสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาล
  3. กรณีศาลมีคำพิพากษาให้ชนะคดีทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งตามมาตรา 72 วรรคหก แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีให้ศาลปกครองมีคำสั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนของการชนะคดี ดังนั้น เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ศาลก็จะมีคำสั่งในเรื่องการคืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนของการชนะคดีไว้ในคำพิพากษาด้วย

โดยสรุปครับ ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยทั่วไปจะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล เว้นแต่คดีที่มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งหากไม่ดำเนินการชำระให้ถูกต้องครบถ้วนศาลก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา แต่ทั้งนี้หากผู้ฟ้องคดีไม่มีทรัพย์สินเพียงพอจะชำระก็สามารถมีคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลได้ตามรายละเอียดที่ได้กล่าวมาแล้วครับ

สำหรับสาระความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรติดตามรับชม ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ได้ ในตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.4



https://www.youtube.com/watch?v=Ueqp_yIVKfs

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง 

สวัสดีครับ ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ในตอนนี้จะขอนำเสนอในเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง ครับ

ระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง ถือว่าเป็นอีกเงื่อนไขการฟ้องคดีที่มีความสำคัญต่อการฟ้องคดีต่อศาลปกครองครับ เพราะหากยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี ศาลปกครองก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยในเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองนี้ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ตามมาตรา 49 มาตรา 51 และมาตรา 52 นอกเหนือจากนั้น กรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ ระยะเวลาการฟ้องคดีดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น

กรณีระยะเวลาการฟ้องคดี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ 4 กรณี คือ

กรณีที่ 1. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) กรณีการเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครอง กำหนดให้ยื่นฟ้องคดีภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) กรณีหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนั้นล่าช้าเกินสมควร ให้ยื่นฟ้องคดีนับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผล เว้นแต่จะมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

กรณีที่ 2. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) เกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

กรณีที่ 3. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) เกี่ยวกับข้อพิพาทในสัญญาทางปกครอง ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 5 ปี นับแต่วันรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

กรณีที่ 4. การฟ้องคดีตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นกรณีการฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะบุคคล ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้

การฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินโดยที่ดินบางส่วนได้ทับที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีในฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณะภายในท้องที่ของตนซึ่งรวมถึงที่สาธารณะอันเป็นที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันด้วย  ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับคุ้มครองประโยชน์สาธารณะจะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ตามมาตรา 52

การฟ้องคดีเกี่ยวกับสถานะของบุคคล โดยสถานะบุคคล หมายถึง สถานะตามกฎหมายที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิในการเป็นบุคคลหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบุคคลโดยบุคคลจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธินั้นหรือไม่ต้องพิจารณาจากความเป็นบุคคลของผู้นั้นเป็นหลัก สถานะดังกล่าวอาจจะเป็นสถานะของบุคคลในประเทศชาติ เช่น สัญชาติของบุคคล

ต่อมา เป็นกรณีการฟ้องคดีที่เป็นประโยชน์แก่สวนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นกรณีที่หากศาลเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเอง หรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลจะรับไว้พิจารณาก็ได้ และคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาในกรณีเช่นนี้ย่อมเป็นที่สุด ครับ

การฟ้องคดีที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ยกตัวอย่าง เช่น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีประกอบกิจการโรงงานก่อให้เกิดสิ่งปฏิกูล และมลภาวะทางเสียงอันเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนรำคาญ และเสียสุขภาพ ผู้ฟ้องคดีได้ ร้องเรียนต่อสำนักงานเขตและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแต่มิได้รับการเยียวยาแก้ไข ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แต่เมื่อปรากฏว่าเหตุเดือดร้อนรำคาญยังคงมีอยู่จนถึงวันฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแก้ไขความเดือดร้อนรำคาญดังกล่าว อีกทั้งการไม่ปรับปรุงแก้ไขโรงงานอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนจำนวนมาก การรับคำฟ้องไว้พิจารณาจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

การฟ้องคดีที่มีเหตุจำเป็นอื่น เช่น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือต่อผู้ถูกฟ้องคดีขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วมีเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีติดต่อและรับว่าจะดำเนินการแก้ไขเยียวยาให้กับผู้ฟ้องคดีมาโดยตลอด ทำให้เชื่อว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะดำเนินการให้อันเป็นผลให้ผู้ฟ้องคดียื่นเรื่องร้องทุกข์เลยกำหนดเวลา จึงเป็นกรณีจำเป็นที่ต้องรับไว้พิจารณาตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

โดยสรุปครับ การฟ้องคดีปกครองต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลภายในระยะเวลาการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 มาตรา 51 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 นอกเหนือจากนั้น กรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ ระยะเวลาการฟ้องคดีดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น หากยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ศาลปกครองก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณาครับ

สำหรับสาระความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรติดตามรับชม ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ได้ ในตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง