คําสั่งไม่รับคําขอจดแจ้งรายการภาระจํายอมในโฉนดที่ดินแปลงสามยทรัพย์ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

คําสั่งไม่รับคําขอจดแจ้งรายการภาระจํายอมในโฉนดที่ดินแปลงสามยทรัพย์

ที่ดิน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 1299 มาตรา 1301 และมาตรา 1387)
  2. ระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับภาระจํายอม ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น พ.ศ. 2550 (ข้อ 14 วรรคหนึ่ง)

ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงภารยทรัพย์กับผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แปลงสามยทรัพย์ ได้ทําบันทึกข้อตกลงภาระจํายอมบางส่วน ตกลงยินยอมให้ที่ดินบางส่วนทางด้านทิศใต้ตกอยู่ในบังคับภาระจํายอมเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์ ไฟฟ้า ประปา และสาธารณูปโภคอื่น อันเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้มาซึ่งภาระจํายอมตามมาตรา 1387 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยนิติกรรม ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ประเภทภาระจํายอมในสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินแปลงภารยทรัพย์ การได้มาซึ่งสิทธิในภาระจํายอม ของผู้ฟ้องคดีย่อมบริบูรณ์ใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้ตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่มีความจําเป็นที่จะต้องมีการจดทะเบียนไว้ในโฉนดที่ดินแปลงสามยทรัพย์ ของผู้ฟ้องคดี อย่างไรก็ตาม ข้อ 14 วรรคหนึ่ง ของระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมเกี่ยวกับภาระจํายอมในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น พ.ศ. 2550 ได้กําหนดไว้ว่า การจดทะเบียนภาระจํายอม ถ้าคู่กรณีประสงค์จะจดไว้ในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถรับจดทะเบียนในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ได้ อันเป็นกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนภาระจํายอมในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ได้ต่อเมื่อคู่กรณีมีคําขอ ดังนั้น เมื่อต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคําขอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ขอให้จดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมประเภทภาระจํายอม เพื่อจดแจ้งรายการจดทะเบียนภาระจํายอมตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวลงในโฉนดที่ดินแปลงสามยทรัพย์ของผู้ฟ้องคดีด้วย โดยเป็นการยื่นคําร้องฝ่ายเดียว ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงภารยทรัพย์ไม่ได้ไปด้วย โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคําสั่งไม่รับคําขอจดแจ้งรายการจดทะเบียนภาระจํายอมในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นการออกคําสั่ง โดยชอบด้วยข้อ 14 วรรคหนึ่ง ของระเบียบกรมที่ดินดังกล่าวแล้ว และการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) วินิจฉัยยกอุทธรณ์ผู้ฟ้องคดี ย่อมชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

แม้การได้มาซึ่งภาระจํายอมจะมีผลโดยบริบูรณ์ เมื่อมีการจดทะเบียนในที่ดิน แปลงภารยทรัพย์ตามมาตรา 1299 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็ตาม แต่การจดทะเบียนภาระจํายอมในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ถือได้ว่าเป็นการรับรองสิทธิในภาระจํายอมที่เจ้าของที่ดินแปลงสามยทรัพย์มีอยู่เหนือที่ดินแปลงภารยทรัพย์ ซึ่งสามารถยกขึ้นกล่าวอ้าง กับบุคคลอื่นได้ตามกฎหมาย อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลง ระงับ หรือกลับคืนมาซึ่งภาระจํายอมจะมีผล บังคับโดยบริบูรณ์ตามกฎหมายก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ตามมาตรา 1301 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกภาระจํายอม นอกจากจะต้องมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกในที่ดินแปลงภารยทรัพย์แล้ว ก็จะต้องมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ด้วย เจ้าของที่ดินแปลงภารยทรัพย์ จึงจะสามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลอื่นได้ตามกฎหมาย กรณีจึงเห็นได้ว่า การจดทะเบียนภาระจํายอมในที่ดินแปลงสามยทรัพย์มีผลกระทบต่อสิทธิของเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ด้วย คู่กรณีที่จะแสดง ความประสงค์ในการขอจดทะเบียนภาระจํายอมในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ จึงหมายถึง ทั้งเจ้าของที่ดินแปลงสามยทรัพย์และแปลงภารยทรัพย์

โดยสรุป พนักงานเจ้าหน้าที่จะสามารถรับคําขอจดแจ้งรายการจดทะเบียนภาระจํายอมในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ได้ ก็ต่อเมื่อคู่กรณีมีคําขอ โดยคู่กรณี หมายถึง ทั้งเจ้าของที่ดินแปลงสามยทรัพย์และแปลงภารยทรัพย์ เจ้าของที่ดินแปลงสามยทรัพย์จึงไม่อาจไปยื่นคําขอเพียงฝ่ายเดียวได้

คําสําคัญ : การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน/การจดทะเบียนภาระจํายอม

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 336/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

คําสั่งของเจ้าท่า ให้บุคคลปรับสภาพที่ดินให้มีสภาพตื้นเขินดังเดิม | เรื่องเด่น คดีปกครอง

คําสั่งของเจ้าท่าให้บุคคลปรับสภาพที่ดินให้มีสภาพตื้นเขินดังเดิม

การคมนาคมและการขนส่ง : กรณีฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคําสั่งที่ให้ดําเนินการปรับสภาพพื้นที่ดิน บริเวณคลองขวางให้เป็นไปตามสภาพที่ตื้นเขินดังเดิม

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 1304 (2))
  2. ประมวลกฎหมายที่ดิน (มาตรา 8 วรรคสอง (1))
  3. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 (มาตรา 38)
  4. พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 (มาตรา 3 มาตรา 117 มาตรา 118 ทวิ มาตรา 119 และมาตรา 120)

คลองขวางเป็นคลองสาธารณประโยชน์ซึ่งในอดีตประชาชนได้ใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำและส่งน้ำเข้าไปในพื้นที่ทําการเกษตร จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สิน สําหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ปัจจุบันคลองขวางจะเกิดการตื้นเขิน เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างพาดทับ ทําให้น้ำไม่สามารถไหลผ่านไปสู่แม่น้ำ เจ้าพระยาได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการถอนสภาพพื้นที่ดินบริเวณดังกล่าวหรือโอนไปใช้เพื่อการอย่างอื่นให้พ้นสภาพจากการเป็นทางน้ำสําหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามมาตรา 8 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน คลองขวางย่อมยังคงมีสภาพเป็นทางน้ำสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสําหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โดยเจ้าท่ามีอํานาจหน้าที่ในการดูแลรักษาตามพระราชบัญญัติ การเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2556

ปัจจุบันคําว่า “เจ้าท่า”ตามบทนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือ ในน่านน้ำไทยฯ หมายถึง อธิบดีกรมเจ้าท่า และบุคคลซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่ามอบหมาย อันเป็นกรณี ที่มีกฎหมายกําหนดเรื่องการมอบอํานาจไว้เป็นการเฉพาะแล้ว อธิบดีกรมเจ้าท่าอาจมอบหมาย ให้บุคคลอื่นเป็นเจ้าท่าได้ตามที่เห็นสมควร และเมื่ออธิบดีกรมเจ้าท่าได้มอบหมายให้บุคคลใด ทําหน้าที่เป็น “เจ้าท่า” แล้ว บุคคลนั้นย่อมมีอํานาจหน้าที่ในส่วนที่ได้รับมอบหมายตามที่กฎหมาย บัญญัติไว้ดังเช่นเป็นอํานาจของตนเอง บุคคลซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่ามอบหมาย จึงมีฐานะเป็น “เจ้าท่า” ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ เช่นเดียวกับอธิบดีกรมเจ้าท่า และไม่ถือว่าเป็น การปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า การมอบหมายดังกล่าวมิใช่เรื่องการมอบอํานาจตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ที่เป็นการมอบอํานาจให้บุคคลซึ่งดํารงตําแหน่งอื่น ปฏิบัติราชการแทนเจ้าของอํานาจ อันจะทําให้ผู้มอบอํานาจสามารถวางแนวทาง กําหนดรายละเอียด และกํากับดูแลการปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องกับการมอบอํานาจนั้นได้ ดังนั้น เมื่ออธิบดีกรมเจ้าท่า ได้มีคําสั่งที่ 442/2547 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 โดยข้อ 2 ของคําสั่งดังกล่าวได้กําหนด มอบอํานาจ “เจ้าท่า” ในการอนุญาตให้ขุดลอก ดูแลรักษาร่องน้ำทางเรือเดิน สําหรับร่องน้ำภายในประเทศ ที่เป็นบึง ลําคลอง แม่น้ำ ขนาดเล็กที่มีพื้นที่อยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ เพียงแห่งเดียว และร่องน้ำชายฝั่งทะเลขนาดเล็ก รวมถึงการดําเนินคดีกับผู้กระทําความผิดตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 ให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น จึงเป็นกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนตําบลบ้านกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ในฐานะผู้แทน ขององค์การบริหารส่วนตําบลบ้านกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจ้าท่า ให้ทําหน้าที่เป็น “เจ้าท่า” ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีอํานาจหน้าที่ในการดูแลรักษาคลองขวางซึ่งเป็น คลองสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในเขตพื้นที่ของตนตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ มิใช่ การปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่าที่จะต้องกระทําภายใต้การกํากับดูแลของอธิบดีกรมเจ้าท่า

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ถมดินในคลองขวางบริเวณส่วนที่ผ่านที่ดิน ของผู้ฟ้องคดีและปลูกสร้างบ้านพักคนงานรุกล้ําเข้าไปในคลองขวาง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีคําสั่ง ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ําคลองขวาง และต่อมาสํานักงานการขนส่งทางน้ำที่ 2 สาขานนทบุรี ตรวจสอบพบว่า ผู้ฟ้องคดีได้ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ําเข้าไปในคลองขวางลักษณะเป็นการถมดินเต็มพื้นที่คลองขวางบริเวณหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 หัวหน้า สํานักงานการขนส่งทางน้ำที่ 2 สาขานนทบุรี ผู้ได้รับมอบอํานาจจากอธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะเจ้าท่า จึงอาศัยอํานาจตามมาตรา 118 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มีคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งอื่นใดที่ล่วงล้ําเข้าไปในคลองขวาง และปรับสภาพพื้นที่ให้เป็นไปตามสภาพเดิมของคลองขวาง ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติตามคําสั่งโดยทําการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ําเข้าไปในคลองขวาง พร้อมทั้งขุดดิน ออกจากคลองขวางแล้วปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพคลองดังเดิม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เห็นว่า ผู้ฟ้องคดี ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามคําสั่ง เนื่องจากมิได้สั่งให้ผู้ฟ้องคดีขุดดินออกจากคลองขวาง จึงได้มีคําสั่ง ให้ผู้ฟ้องคดีดําเนินการปรับสภาพพื้นที่ดินบริเวณคลองขวางให้เป็นไปตามสภาพที่ตื้นเขินดังเดิม กรณีย่อมเห็นได้ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคําสั่งดังกล่าวเป็นการออกคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทํา ด้วยประการใด ๆ ให้คลองขวางเกิดการตื้นเขิน และเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ซึ่งไม่สอดคล้องกับอํานาจหน้าที่ ในฐานะ “เจ้าท่า” ในการดูแลรักษาคลองขวาง อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชน ใช้ประโยชน์ร่วมกันตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 117 มาตรา 118 ทวิ มาตรา 119 และมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการเดินเรือหรือการสัญจรทางน้ำให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนควบคุมมิให้มีการกระทําใด ๆ ที่อาจจะเป็นการกีดขวางหรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือหรือการสัญจร ทางน้ำของประชาชน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และมีลักษณะเป็นการสร้างภาระให้เกิดกับ ผู้ฟ้องคดีเกินสมควรแก่เหตุ

โดยสรุป การที่บุคคลผู้ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำคลองสาธารณประโยชน์ได้ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าท่า โดยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป พร้อมทั้งได้ขุดดินเพื่อปรับสภาพให้กลับเป็นคลองด้วย แต่เจ้าท่าได้มีคําสั่งให้บุคคลดังกล่าวปรับสภาพที่ดินให้มีสภาพตื้นเขินดังเดิม ซึ่งเป็นคําสั่งที่ไม่สอดคล้องกับอํานาจหน้าที่ในฐานะเจ้าท่า และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ย่อมเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบและเป็นการสร้างภาระเกินสมควรแก่เหตุ

คําสําคัญ : คลองสาธารณประโยชน์/สาธารณสมบัติของแผ่นดินสําหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน/บุคคลซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่ามอบหมายให้ทําหน้าที่เป็นเจ้าท่า การใช้ดุลพินิจในการออกคําสั่งโดยมิชอบ/ คําสั่งที่มีลักษณะเป็นการสร้างภาระเกินสมควรแก่เหตุ

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 663/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

การพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนส่วนบุคคล | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนส่วนบุคคล

งานทะเบียน (งานทะเบียนอาวุธปืน) : การพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนส่วนบุคคล

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น
  2. พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 (มาตรา 7 และมาตรา 9)
  3. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (มาตรา 30 และมาตรา 45 วรรคสอง)

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ซื้ออาวุธปืนชนิดกึ่งอัตโนมัติ ขนาด 9 มม. ยี่ห้อกล็อก รุ่น 19 GEN 4 ตามโครงการสวัสดิการอาวุธปืนสํานักงานศาลยุติธรรม และได้ยื่นคําร้องขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป. 1) แต่นายทะเบียนอาวุธปืนอําเภอเมืองยะลา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ได้ตรวจสอบการอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป. 4) จากต้นขั้วและฐานข้อมูลทะเบียนอาวุธปืนแล้ว ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีเคยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนมาก่อนแล้วจํานวน 5 กระบอก ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 จึงมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีมีและใช้อาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.3) ตามคําขอ ของผู้ฟ้องคดี โดยมิได้มีการให้โอกาสผู้ฟ้องคดีได้รับทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน ก่อนการออกคําสั่งนั้น เมื่อการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีมีและใช้อาวุธปืนเป็นอํานาจของนายทะเบียนท้องที่ซึ่งต้องใช้ดุลพินิจประกอบกับวัตถุประสงค์ในการอนุญาตให้บุคคลทั่วไปมีและใช้อาวุธปืนตามมาตรา 7 ประกอบมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียม อาวุธปืน พ.ศ. 2490 แม้ผู้ฟ้องคดีจะได้รับสิทธิให้ซื้ออาวุธปืนตามโครงการสวัสดิการอาวุธปืนของ ศาลยุติธรรม ก็เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีคุณสมบัติและเข้าเงื่อนไขตามโครงการสวัสดิการอาวุธปืนดังกล่าวเท่านั้น หาได้มีผลผูกพันให้นายทะเบียนท้องที่จะต้องมีคําสั่งอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีไม่ อีกทั้ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับขณะนั้น ไม่มีบทบัญญัติในหมวด สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หรือในหมวดอื่นใดที่บัญญัติรับรองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลในอันที่จะซื้อ มี และใช้อาวุธปืนไว้แต่อย่างใด ประกอบกับอาวุธปืนเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศและความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่อาจถือว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รับรองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ในอันที่จะซื้อ มี และใช้อาวุธปืนได้โดยปริยาย และเมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้มีสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่จะซื้อ มี และใช้อาวุธปืนดังกล่าว การที่ผู้ฟ้องคดียื่นคําขอใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน จึงเป็นการยื่น คําขอรับสิทธิมีและใช้อาวุธปืน ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่เคยมีสิทธิดังกล่าวมาก่อน การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปฏิเสธ ไม่ออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนตามคําขอของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นแต่เพียงการยืนยันถึงความไม่มีสิทธิที่จะมีและใช้อาวุธปืนของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น หาได้มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นคู่กรณีในกระบวนการ พิจารณาทางปกครองเพื่อออกคําสั่งทางปกครองแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่จําต้องแจ้งข้อเท็จจริง ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนการออกคําสั่ง ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังนั้น คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีมีหรือใช้อาวุธปืนดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ไม่ได้กําหนดระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะ กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 45 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ผู้มีอํานาจพิจารณาอุทธรณ์มิได้พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีภายในกําหนดเวลา 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคําอุทธรณ์ และมิได้มีหนังสือแจ้งขยาย ระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่ กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

โดยสรุป การมีและใช้อาวุธปืนมิใช่สิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง แม้บุคคลผู้ยื่นคําขอรับใบอนุญาต จะไม่มีเหตุต้องห้าม นายทะเบียนท้องที่ก็มีดุลพินิจพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต หากพิจารณาแล้วมีคําสั่งไม่อนุญาต ก็ไม่จําต้องให้โอกาสผู้ขออนุญาตได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนการออกคําสั่งแต่อย่างใด

คําสําคัญ : ขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน/สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ/ดุลพินิจ/อํานาจนายทะเบียนท้องที่/ระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 130/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

ผู้มีอํานาจสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตําแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม | เรื่องเด่น คดีปกครอง

ผู้มีอํานาจสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตําแหน่งเนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม

การปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 มาตรา 12 (3) มาตรา 13 วรรคสี่ และวรรคห้า และมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) และ (7)

คดีนี้ นายอําเภอเมืองเชียงใหม่ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้มีประกาศอําเภอเมืองเชียงใหม่ ลงวันที่ 26 มกราคม 2554 ให้มีการรับสมัครผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ตําบล ห. อําเภอ ม. จังหวัด ช. โดยมีผู้สมัครจํานวน 2 ราย คือ นาย ย. อดีตผู้ใหญ่บ้าน และผู้ฟ้องคดี ต่อมา วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้รับหนังสือคัดค้านจากนาย ย. ว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามการเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะผู้ฟ้องคดีไม่มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตพื้นที่หมู่ที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้มีหนังสือเชิญคณะกรรมการตรวจสอบและพิจารณาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เพื่อพิจารณาทบทวนคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดี ซึ่งที่ประชุมของคณะกรรมการส่วนใหญ่มีมติให้ดําเนินการ เลือกผู้ใหญ่บ้านในวันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2554 และให้มีหนังสือหารือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เชียงใหม่ ต่อมา ผู้ฟ้องคดีได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้มีการแต่งตั้ง ให้ผู้ฟ้องคดีดํารงตําแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการ จังหวัดเชียงใหม่ ได้ตอบหนังสือหารือข้างต้น โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งได้สรุปผล การสอบสวนข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีมิได้มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตหมู่ที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีความเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ขาดคุณสมบัติและมีคําสั่งลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2556 ให้ผู้ฟ้องคดีผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 พ้นจากตําแหน่ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามของการเป็นผู้ใหญ่บ้านตามมาตรา 12 (3) ประกอบกับมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ทั้งนี้ เมื่อการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านตามผลการเลือกตั้ง เป็นอํานาจของนายอําเภอ ตามนัยมาตรา 13 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 การที่ความปรากฏในภายหลังว่า ผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับการเลือก เป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม มิให้สมัครรับเลือกผู้ใหญ่บ้าน ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น กรณีย่อมเป็นอํานาจของนายอําเภอที่จะเป็นผู้ออกคําสั่ง ให้ผู้ใหญ่บ้านนั้นพ้นจากตําแหน่ง มิใช่อํานาจของผู้ว่าราชการจังหวัด เนื่องจากการที่ผู้ว่าราชการจังหวัด จะมีอํานาจในการสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านพ้นจากตําแหน่งนั้น จะต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายกําหนดไว้ชัดเจนดังเช่นมาตรา 13 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งเป็นกรณีที่ผู้ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านได้รับเลือกมาโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม หรือกรณีที่ผู้ใหญ่บ้านบกพร่องในหน้าที่หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตําแหน่งตามบทบัญญัติมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (7) แห่งพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นคนละกรณีกับกรณีที่เป็นเหตุที่พิพาท ตามฟ้องที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ใหญ่บ้าน

ดังนั้น คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ให้ผู้ฟ้องคดี พ้นจากตําแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1 เนื่องจากขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามของการเป็น ผู้ใหญ่บ้าน ตามมาตรา 12 (3) ประกอบมาตรา 14 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติลักษณะ ปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 จึงชอบด้วยกฎหมาย

โดยสรุป เมื่อการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นอํานาจของนายอําเภอ การที่ปรากฏในภายหลังว่า ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกผู้ใหญ่บ้าน จึงย่อมเป็นอํานาจของนายอําเภอที่เป็นผู้ออกคําสั่งให้ผู้ใหญ่บ้านนั้นพ้นจากตําแหน่งเช่นกัน

คําสําคัญ : คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ใหญ่บ้าน/การถอดถอนผู้ใหญ่บ้าน/อํานาจ นายอําเภอ/อํานาจผู้ว่าราชการจังหวัด

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 98/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.4

เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง กรณีระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง 

สวัสดีครับ ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ในตอนนี้จะขอนำเสนอในเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง ครับ

ระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง ถือว่าเป็นอีกเงื่อนไขการฟ้องคดีที่มีความสำคัญต่อการฟ้องคดีต่อศาลปกครองครับ เพราะหากยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี ศาลปกครองก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา โดยในเรื่องระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองนี้ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ตามมาตรา 49 มาตรา 51 และมาตรา 52 นอกเหนือจากนั้น กรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ ระยะเวลาการฟ้องคดีดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น

กรณีระยะเวลาการฟ้องคดี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ 4 กรณี คือ

กรณีที่ 1. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) กรณีการเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครอง กำหนดให้ยื่นฟ้องคดีภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2) กรณีหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวนั้นล่าช้าเกินสมควร ให้ยื่นฟ้องคดีนับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผล เว้นแต่จะมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

กรณีที่ 2. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) เกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จะต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

กรณีที่ 3. การฟ้องคดีตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) เกี่ยวกับข้อพิพาทในสัญญาทางปกครอง ต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน 5 ปี นับแต่วันรู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี

กรณีที่ 4. การฟ้องคดีตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นกรณีการฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะบุคคล ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้

การฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่น กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินโดยที่ดินบางส่วนได้ทับที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ฟ้องคดีในฐานะองค์การบริหารส่วนตำบลย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณะภายในท้องที่ของตนซึ่งรวมถึงที่สาธารณะอันเป็นที่ดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันด้วย  ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับคุ้มครองประโยชน์สาธารณะจะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ตามมาตรา 52

การฟ้องคดีเกี่ยวกับสถานะของบุคคล โดยสถานะบุคคล หมายถึง สถานะตามกฎหมายที่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิในการเป็นบุคคลหรือที่เกี่ยวเนื่องกับการเป็นบุคคลโดยบุคคลจะได้รับความคุ้มครองตามสิทธินั้นหรือไม่ต้องพิจารณาจากความเป็นบุคคลของผู้นั้นเป็นหลัก สถานะดังกล่าวอาจจะเป็นสถานะของบุคคลในประเทศชาติ เช่น สัญชาติของบุคคล

ต่อมา เป็นกรณีการฟ้องคดีที่เป็นประโยชน์แก่สวนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เป็นกรณีที่หากศาลเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่นโดยศาลเห็นเอง หรือคู่กรณีมีคำขอ ศาลจะรับไว้พิจารณาก็ได้ และคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาในกรณีเช่นนี้ย่อมเป็นที่สุด ครับ

การฟ้องคดีที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ยกตัวอย่าง เช่น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีประกอบกิจการโรงงานก่อให้เกิดสิ่งปฏิกูล และมลภาวะทางเสียงอันเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนรำคาญ และเสียสุขภาพ ผู้ฟ้องคดีได้ ร้องเรียนต่อสำนักงานเขตและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแต่มิได้รับการเยียวยาแก้ไข ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แต่เมื่อปรากฏว่าเหตุเดือดร้อนรำคาญยังคงมีอยู่จนถึงวันฟ้องคดี โดยผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแก้ไขความเดือดร้อนรำคาญดังกล่าว อีกทั้งการไม่ปรับปรุงแก้ไขโรงงานอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชนจำนวนมาก การรับคำฟ้องไว้พิจารณาจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

การฟ้องคดีที่มีเหตุจำเป็นอื่น เช่น กรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นหนังสือต่อผู้ถูกฟ้องคดีขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วมีเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีติดต่อและรับว่าจะดำเนินการแก้ไขเยียวยาให้กับผู้ฟ้องคดีมาโดยตลอด ทำให้เชื่อว่าผู้ถูกฟ้องคดีจะดำเนินการให้อันเป็นผลให้ผู้ฟ้องคดียื่นเรื่องร้องทุกข์เลยกำหนดเวลา จึงเป็นกรณีจำเป็นที่ต้องรับไว้พิจารณาตามมาตรา 52 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

โดยสรุปครับ การฟ้องคดีปกครองต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลภายในระยะเวลาการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 มาตรา 51 และมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 นอกเหนือจากนั้น กรณีที่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ ระยะเวลาการฟ้องคดีดังกล่าวก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น หากยื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา ศาลปกครองก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้นไว้พิจารณาครับ

สำหรับสาระความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรติดตามรับชม ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ได้ ในตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง