มีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ก่อนวันที่ลูกหนี้ผิดนัดชําระหนี้ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ก่อนวันที่ลูกหนี้ผิดนัดชําระหนี้

สัญญาทางปกครอง 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 686)

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผิดสัญญารับทุนและได้ทําหนังสือ รับสภาพหนี้ไว้ให้แก่ผู้ฟ้องคดี จํานวน 6 ฉบับ โดยฉบับแรก ลงวันที่ 22 กันยายน 2553 และต่อมา ฉบับที่สอง เป็นการขอปรับลดการผ่อนชําระหนี้ จากเดิมเดือนละไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ลดเหลือ เดือนละไม่น้อยกว่า 2,000 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 เป็นต้นไป โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 10 มกราคม 2554 ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 ผิดนัดชําระหนี้และต้องรับผิดชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจํานวน 96,000 บาท นับแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป การผิดนัดชําระหนี้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเกิดขึ้นภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ คือ ภายหลังวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ผู้ฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ ที่จะต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน ให้ทราบถึงการผิดนัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ตามมาตรา 686 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว แต่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ทวงถามให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชดใช้เงินจํานวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้รับหนังสือข้างต้นในวันที่ 9 สิงหาคม 2559 จึงเป็นการบอกกล่าวไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก่อนวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผิดนัดชําระหนี้ กรณีจึงมิใช่ การมีหนังสือบอกกล่าวตามมาตรา 686 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 20) และการที่ผู้ฟ้องคดีนําคดีนี้มาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือบอกกล่าวถึงการผิดนัด ชําระหนี้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทราบ ตามมาตรา 686 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า การบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันจะต้องทําเป็นหนังสือ ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้มีหนังสือบอกกล่าวถึงการผิดนัดชําระหนี้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันทราบ ผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ร่วมรับผิดชําระหนี้ กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1

โดยสรุป การมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ก่อนวันที่ลูกหนี้ผิดนัดชําระหนี้ไม่ถือเป็นการบอกกล่าวการผิดนัดของลูกหนี้ไปยังผู้ค้ำประกัน จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องผู้ค้ำประกัน

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 364/2565 (ประชุมใหญ่)

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายคดีปกครอง

พนักงานมหาวิทยาลัยฟ้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนที่ไม่เป็นธรรม | เรื่องเด่น คดีปกครอง

พนักงานมหาวิทยาลัยฟ้องขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้หน่วยงานทางปกครองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนที่ไม่เป็นธรรมและการละเลยไม่พิจารณาผลการประเมินการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือน

สัญญาทางปกครอง (สัญญาจ้างพนักงานมหาวิทยาลัย)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง)

ศาลปกครองสูงสุดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยฟ้องขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้หน่วยงานทางปกครองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนที่ไม่เป็นธรรม และการละเลยไม่พิจารณาผลการประเมินการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือน เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

อย่างไรก็ดี การที่อธิการบดี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ซึ่งเป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ในกิจการทั้งปวงตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น พ.ศ. 2558 ได้ว่าจ้างผู้ฟ้องคดีให้เข้ามาปฏิบัติงานในตําแหน่งนักเทคนิคการแพทย์ ชํานาญการพิเศษ สังกัดผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ที่จะต้องปฏิบัติต่อกันตามที่กําหนดไว้ในสัญญาจ้างดังกล่าว ซึ่งการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญา เป็นเรื่องของนิติสัมพันธ์ที่ผูกพันกันระหว่างคู่กรณีในสัญญาเป็นการเฉพาะราย เมื่อมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจ้างพิพาท ผู้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องดังกล่าวได้มีเพียงผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เท่านั้น และแม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จะเป็นผู้ลงนามในสัญญาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการกระทําในฐานะผู้แทนหรือผู้รับมอบอํานาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 มิใช่คู่สัญญากับผู้ฟ้องคดีที่ผู้ฟ้องคดีจะใช้สิทธิโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามที่กําหนดไว้ในสัญญา ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการกระทําของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542

โดยสรุป กรณีพนักงานมหาวิทยาลัยฟ้องขอให้หน่วยงานทางปกครองชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนที่ไม่เป็นธรรม และการละเลยไม่พิจารณาผลการประเมินการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือน เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ คบ. 88/2565 (ประชุมใหญ่)

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง 

สัญญาทางปกครองที่มีวัตถุประสงค์ถือเอาปริมาณงานตามใบแจ้งปริมาณงานและราคาเป็นจำนวนโดยประมาณ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การแสดงเจตนายื่นเสนอราคาโดยสําคัญผิดในปริมาณงานและราคากลาง

สัญญาทางปกครอง (สัญญาจ้างทํางานกับรัฐ)

ในสัญญาทางปกครองแม้จะมีหลักการว่า รัฐในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดทํา บริการสาธารณะย่อมมีอํานาจในการตัดสินใจเพียงฝ่ายเดียว โดยมีผลให้สัญญาเลิกกันได้โดยไม่ต้อง เสนอเรื่องต่อศาลเพื่อมีคําพิพากษาหรือคําสั่งให้สัญญาเป็นอันเลิกกันก็ตาม แต่หลักการดังกล่าว มิได้หมายความว่าการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจะมีได้เฉพาะแต่คู่สัญญาฝ่ายรัฐเท่านั้น คู่สัญญาฝ่ายเอกชนยังคงมีสิทธิ์แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาได้ เพียงแต่การแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาของ คู่สัญญาฝ่ายเอกชนจะไม่มีผลทางกฎหมายได้เอง ต้องมีการร้องขอให้ศาลมีคําสั่งหรือคําพิพากษา ให้สัญญาทางปกครองเป็นอันเลิกกัน หากปรากฏว่าคู่สัญญาฝ่ายปกครองเป็นฝ่ายผิดสัญญาอย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้คู่สัญญาฝ่ายเอกชนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาต่อไปได้ นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ สัญญาทางปกครองเป็นอันเลิกกันได้เมื่อมีกรณีที่เป็นเหตุสุดวิสัยซึ่งมิใช่ความผิดของคู่กรณีฝ่ายใด อันเป็นเหตุที่ทําให้คู่สัญญาไม่อาจปฏิบัติการชําระหนี้ตามสัญญาได้โดยสิ้นเชิง หรือกรณีที่มีข้อเท็จจริง หรือพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นได้ว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมกันโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย ให้สัญญาทางปกครองเป็นอันเลิกกันตามหลักการทั่วไปว่าด้วยสัญญาดังที่ปรากฏในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

เมื่อสัญญาจ้างทํางานโครงการปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติฯ แสดงให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ของสัญญาที่ถือเอาปริมาณงานที่กําหนดไว้ในบัญชีรายการก่อสร้างหรือใบแจ้งปริมาณงานและราคาเป็นจํานวนโดยประมาณเท่านั้น โดยหากปริมาณงาน ที่ทําเสร็จจริงเกินกว่าปริมาณที่กําหนดไว้ในสัญญาหรือใบแจ้งปริมาณงานและราคา ข้อกําหนดในสัญญาก็ได้กําหนดเกณฑ์การจ่ายค่าจ้างไว้อย่างชัดเจน ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างรวมถึงงานโยธาอื่น ๆ ย่อมต้องทราบถึงการดําเนินการตามสัญญาในลักษณะนี้เป็นอย่างดี ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดียื่นใบเสนอราคางานโครงการพิพาท จึงไม่ถือเป็นการแสดงเจตนาโดยสําคัญผิดในปริมาณงานและราคากลาง และไม่ทําให้สัญญาจ้างโครงการดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ผู้ฟ้องคดีต้องผูกพัน ปฏิบัติตามข้อกําหนดในสัญญาฉบับพิพาท นอกจากนี้ เหตุที่ปริมาณดินมีจํานวนมากกว่าที่กําหนดในประกาศสอบราคาก็ไม่ถือเป็นเหตุที่แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3ในฐานะคู่สัญญาฝ่ายปกครองเป็นฝ่ายผิดสัญญาอย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดี ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาต่อไปได้ และไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ทําให้คู่สัญญาไม่อาจ ปฏิบัติการชําระหนี้ตามสัญญาได้โดยสิ้นเชิง การที่ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อบอกเลิกสัญญาและเรียกเงินค่าจ้างส่วนที่ได้ทําไปแล้ว จํานวน 84,500 บาท จึงเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสัญญา อีกทั้งยังมีผลทําให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นฝ่ายที่ไม่สามารถ ทํางานให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลากลับเป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเอง เป็นผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีสิทธิ บอกเลิกสัญญาต่อผู้ฟ้องคดีได้ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 5 ตุลาคม 2557 บอกเลิกสัญญาต่อผู้ฟ้องคดีแล้ว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2557 และเรียกค่าปรับเป็นเงิน จํานวน 397,800 บาท การใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นการกระทําโดยชอบ ด้วยข้อสัญญา

ในการนี้ แม้ว่าเงินจํานวน 84,500 บาท ที่ผู้ฟ้องคดีเรียกร้องจะเป็นจํานวนเดียวกัน กับที่ผู้ฟ้องคดีเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รับผิดตามหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 แต่เมื่อในขณะยื่นฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีเพียงแต่มีหนังสือบอกเลิกสัญญาฝ่ายเดียว โดยไม่ชอบ โดยที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังมิได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาด้วยแต่อย่างใด กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า สัญญาพิพาทเลิกกันแล้วก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะนําคดีมาฟ้อง การที่ผู้ฟ้องคดีมีคําขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้เงินจํานวน 84,500 บาท จึงมิใช่การเรียกร้องค่าการงานที่พึงได้รับจากการเลิกสัญญา หากแต่เป็นการเรียกร้องเงินตามสัญญา อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่าย ผิดสัญญาเนื่องจากไม่สามารถทํางานให้แล้วเสร็จภายในกําหนด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ชําระเงินจํานวน 84,500 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี

โดยสรุป เมื่อสัญญามีวัตถุประสงค์ให้ถือเอาปริมาณงานตามใบแจ้งปริมาณงานและราคาเป็นจํานวนโดยประมาณ การที่ปริมาณงานจริงมีจํานวนมากกว่าที่กําหนดในประกาศจัดซื้อจัดจ้างไม่ถือเป็นกรณีที่ผู้รับจ้างเสนอราคาโดยสําคัญผิดในปริมาณงานและราคากลาง จึงไม่ทําให้สัญญาตกเป็นโมฆะ

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 499/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง