เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีซ้ำ | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.6

การฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ และการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

สวัสดีครับทนายพฤกษ์คดีปกครอง Podcast ในตอนนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฟ้องคดีปกครอง ในเรื่อง ฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำ และการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขในการพิจารณาตรวจรับคำฟ้องของศาลปกครองครับ

การฟ้องซ้อน เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว และในคดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลปกครองอีก ซึ่งตามข้อ 36 (1) แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 บัญญัติว่า นับแต่เวลาที่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว คดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาและผลแห่งการนี้ ห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีก

หลักการสำคัญของการฟ้องซ้อน
(1) ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองแล้ว
(2) ในคดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
(3) ผู้ฟ้องคดีคนเดียวกันยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีก

ซึ่งเรื่องเดียวกัน หมายถึง เรื่องที่อาศัยเป็นมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีที่มีอยู่ก่อนฟ้อง หรือสืบเนื่องมาจากมูลกรณีเดียวกันกับคดีก่อน แม้จะเปลี่ยนแปลงข้ออ้างหรือสภาพแห่งข้อหาหรือข้อเรียกร้องให้รับผิดต่างกัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะกฎหมายประสงค์ที่จะให้สิทธิหรือมูลฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้นได้ฟ้องให้เสร็จสิ้นในคดีเดียวกัน หากมีข้อขาดตกบกพร่อง ก็อาจขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องจะฟ้องเป็นคดีใหม่อีกไม่ได้

การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ เป็นกรณีที่ศาลปกครองได้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นใดแห่งคดีแล้วมีการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยแล้ว ซึ่งตามข้อ 96 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 บัญญัติว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น เว้นแต่
(1) การแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อยตามข้อ 95
(2) การพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีใหม่ตามมาตรา 75
(3) การพิจารณาใหม่แห่งคดีที่สำนวนคดีหรือเอกสารในสำนวนคดีสูญหายหรือบุบสลายตามข้อ 21
(4) การยื่น การรับ หรือไม่รับอุทธรณ์ตามมาตรา 73
(5) การดำเนินการเกี่ยวกับการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวในระหว่างการยื่นอุทธรณ์ ซึ่งคำอุทธรณ์อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น ตามข้อ 104 หรือ ข้อ 106
(6) การที่ศาลปกครองสูงสุดส่งคดีคืนไปยังศาลปกครองชั้นต้นที่ได้พิจารณาและพิพากษาหรือมีคำสั่งคดีนั้นเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่หรือพิจารณาและพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ ตามข้อ 112(7) การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง

หลักการสำคัญของการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
(1) ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว
(2) ห้ามศาลดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้น
(3) ห้ามดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น

การฟ้องซ้ำ เป็นกรณีที่ศาลปกครองได้พิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดถึงที่สุดแล้ว และคู่กรณีเดียวกันได้นำคดีเดียวกันที่ศาลได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วมาฟ้องต่อศาลอีก โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับในคดีก่อนที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ซึ่งตามข้อ 97 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 บัญญัติว่า คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่กรณีเดียวกันฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน

หลักการสำคัญของการฟ้องซ้ำ
(1) คดีมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดถึงที่สุดแล้ว
(2) คู่กรณีเดียวกันในคดีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดนั้นฟ้องกันอีก
(3) ฟ้องในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน

โดยสรุป ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองหากการฟ้องคดีนั้นเป็นการฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำ ศาลก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

สำหรับสาระความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรติดตามรับชม ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ได้ ในตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง

คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง | ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง PODCAST EP.1



https://www.youtube.com/watch?v=lvsc68g_lyE

คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

สวัสดีครับ รายการ ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ในตอนนี้จะขอนำเสนอในเรื่อง คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติประเภทของคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เป็น 6 ประเภทคดี ได้แก่

ประเภทคดีที่ 1. คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1))

คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) นี้ เป็นกรณีหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจ นอกเหนืออำนาจ  ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  ไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น  ไม่สุจริต มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ ซึ่งอาจแบ่งพิจารณาได้ 3 กรณี คือ

  1. กรณีคดีพิพาทอันเกิดจากการออกกฎโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 3 ได้ให้ความหมายของ “กฎ” ไว้ว่า “กฎ” หมายความว่า พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลโดยเป็นการเฉพาะ

  1. กรณีคดีพิพาทอันเกิดจากการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มาตรา 5 ได้ให้ความหมายของ “คำสั่งทางปกครอง” หมายถึง การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

  1. กรณีคดีพิพาทอันเกิดจากการกระทำอื่นใด

ซึ่งการกระทำอื่นหมายถึง การใช้อำนาจทางปกครองตามกฏหมายโดยเป็นการกระทำทางปกครองที่เรียกว่า ปฏิบัติการทางปกครอง คือการใช้อำนาจตามกฏหมายเพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการออกกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฏหมายที่มีลักษณะเป็นนิติกรรมทางปกครอง

ประเภทคดีที่ 2. คดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2)) ซึ่งคดีพิพาทดังกล่าวสามารถแบ่ง พิจารณาได้ดังนี้

กรณีคดีพิพาทเกี่ยวกับการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งการละเลยต่อหน้าที่ หมายความว่า มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ต้องปฏิบัติ แต่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกลับเพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

ต่อมา เป็นกรณีคดีพิพาทเกี่ยวกับปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร หมายความว่า กฎหมายกำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติและได้ปฏิบัติหน้าที่นั้นแล้ว แต่ใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่นั้นนานกว่าที่พึงจะปฏิบัติ

ประเภทคดีที่ 3. คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่นหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3)

การกระทำละเมิด คือ การกระทำใดๆ ต่อบุคคลอื่นโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 อย่างไรก็ตาม คดีละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองจะต้องประกอบด้วยเงื่อนไข 2 ประการ คือ (1) เป็นคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่ในทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และ

(2) เป็นคดีหรือข้อพิพาทที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติหน้าที่อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

ประเภทคดีที่ 4. คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (4))

ประเภทคดีที่ 5. คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้บังคับให้บุคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (5))

กรณีนี้เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าหากมีข้อเท็จจริงใดเกิดขึ้นแล้ว หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้บุคลต้องกระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นข้อเท็จจริงที่กำหนดไว้ในกฎหมายนั้น

ประเภทที่ 6. คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง (มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (6))

เช่น กรณีข้อพิพาทอันเกิดจากสัญญาทางปกครอง คู่สัญญาอาจมีการกำหนดให้มีการระงับข้อพิพาทนั้นด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 กำหนดให้การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอาจทำได้โดยการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจเพิกถอนคำชี้ขาด และเมื่อข้อพิพาทจากสัญญาทางปกครองเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีปกครอง  ดังนั้น การคัดค้านคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (6) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545

สำหรับคดีพิพาทที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้แก่

  1. การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร
  2. การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฏหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายธุรการ
  3. คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงานกลาง ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือศาลชำนัญพิเศษอื่นๆ

จากที่ได้กล่าวมาเกี่ยวกับคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญครับ เพราะก่อนการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง นั้น เราควรต้องพิจารณาก่อนว่าข้อพิพาทดังกล่าวที่เกิดขึ้นนั้น อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ เพราะหากเป็นคดีพิพาทที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลก็อาจมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

สำหรับสาระความรู้เกี่ยวกับคดีปกครองในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรติดตามรับชม ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง Podcast ได้ ในตอนต่อไปนะครับ ขอบคุณครับ

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง  ทนายความคดีปกครอง