ประสบอุบัติเหตุจากต้นไม้ริมทางหลวงล้มทับ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

ประสบอุบัติเหตุจากต้นไม้ริมทางหลวงล้มทับ

ละเมิดต่อบุคคลภายนอก : ละเมิดจากการละเลย (กรณีประสบอุบัติเหตุจากต้นไม้ริมทางหลวงล้มทับ)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 420)
  2. พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 (มาตรา 4 มาตรา 19)
  3. กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2552 (ข้อ 2 (2))

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 ขณะผู้ฟ้องคดีกําลังขับรถยนต์ไปปฏิบัติงานที่สํานักงานเทศบาลตําบล ปรากฏว่าต้นหว้าขนาดใหญ่ซึ่งขึ้นอยู่ในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 202 ได้โค่นล้มลงมาทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีได้รับบาดเจ็บ โดยที่มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 บัญญัติให้อธิบดีกรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีหน้าที่กํากับ ตรวจตรา และควบคุมทางหลวง… ซึ่งหมายความรวมถึงที่ดิน พืช พันธุ์ไม้ทุกชนิด เจ้าหน้าที่ของกรมทางหลวง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) จึงมีหน้าที่ในการจัดให้มีและบํารุงรักษาต้นไม้ในเขตทางหลวงให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย โดยต้นไม้ในเขตทางหลวงดังกล่าวไม่ได้จํากัดเฉพาะต้นไม้ที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปลูกเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ด้วย เพื่อมิให้กีดขวางเส้นทางสัญจรหรือก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ใช้เส้นทาง และหากเกิดความเสียหายใด ๆ จากต้นไม้ในเขตทางหลวง กรณีจึงเป็นเรื่องที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีที่เป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีอํานาจหน้าที่โดยตรงในการดําเนินกิจการต่าง ๆ ในเขตรับผิดชอบของทางหลวงเพื่อประโยชน์ในการจราจรสาธารณะทางบก รวมถึงการจัดให้มีและบํารุงรักษาต้นไม้ที่อยู่บนพื้นที่เขตทางหลวงให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย ตามข้อ 2 (2) ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2552

เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะสภาพอากาศในวันเกิดเหตุปรากฏว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 24 ถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2560 พายุโซนร้อนเชินกาจะทําให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากเป็นบริเวณกว้างหลายพื้นที่ ซึ่งอาจทําให้เกิดน้ําท่วมฉับพลัน น้ําป่าไหลหลาก หรือน้ําล้นตลิ่งด้วย โดยข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับภาพถ่ายที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายนําส่งว่า ในวันและเวลาเกิดเหตุได้มีพายุลมแรงและฝนตกหนักต่อเนื่องยาวนานในบริเวณที่เกิดเหตุ อีกทั้ง เมื่อพิจารณารายงานผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด สรุปได้ว่า นาย พ. หัวหน้าหมวดทางหลวงอํานาจเจริญ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบทางหลวงหมายเลข 202 ที่เกิดเหตุ ได้ให้ถ้อยคําว่า ได้มีการกําหนดแผนการดูแลบํารุงรักษาต้นไม้ในสายทางที่รับผิดชอบเป็นแผนการปฏิบัติงานประจําเดือนของหมวดทางหลวงโดยได้ตัดแต่งกิ่ง ตัดไม้แห้งและไม้ยืนต้นที่เอนเอียงโน้มเข้าหาทาง มีการตรวจสภาพต้นไม้เป็นประจำปรากฏตามบันทึกค่าใช้จ่ายงานบํารุงปกติ ใบขออนุญาตการใช้รถส่วนกลาง ภาพถ่ายการดูแลบํารุงรักษาตัดแต่งกิ่งต้นไม้ โดยในวันเกิดเหตุ นาย พ. ได้ไปตรวจสอบและตัดต้นไม้ที่ล้มทับขวางทางหลวง โดยได้ตรวจสอบบริเวณจุดเกิดเหตุด้วย แต่ไม่พบว่ามีต้นไม้เอนเอียงเข้าหาทางหรือล้มทับขวางทาง ประกอบกับต้นไม้ที่ล้มทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีเป็นไม้สดเขียวชอุ่ม ไม่มีลักษณะผุกลวง ไม่มีลักษณะ เอนเอียง จึงไม่อาจคาดหมายได้ว่าต้นไม้ดังกล่าวจะโค่นล้ม อีกทั้ง ระยะเวลาที่ตรวจสอบห่างจาก เวลาที่เกิดเหตุไม่กี่ชั่วโมง โดยอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเวลาประมาณ 8 นาฬิกา การที่ต้นไม้โค่นล้ม จึงเป็นเหตุสุดวิสัยเนื่องจากภัยธรรมชาติของพายุเซินกา คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ เห็นว่า นาย พ.ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยตรวจตราดูแลบํารุงรักษาทางที่เกิดเหตุและมีการตรวจสอบสภาพต้นไม้โดยตัดแต่งกิ่งต้นไม้อันจะเป็นอันตรายตามสายทางที่เกิดเหตุแล้ว ถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบ ของทางราชการ และไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความประมาทเลินเล่อ นอกจากนี้ ข้อเท็จจริง ปรากฏตามภาพถ่ายการตัดแต่งกิ่งต้นไม้บริเวณทางหลวงหมายเลข 202 ของเจ้าหน้าที่หมวดทางหลวงอํานาจเจริญที่ปฏิบัติงานในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนกรกฎาคม 2560 ประกอบใบขออนุญาตการใช้ รถส่วนกลางเพื่อออกไปตัดต้นไม้ที่แห้งตายในไหล่ทาง รวมถึงบันทึกข้อความขออนุมัติทํางานนอกเวลาราชการและวันหยุดราชการ ซึ่งระบุว่า ตามที่ได้มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ทําให้ผิวทาง ชํารุดเสียหายและมีหลุมบ่อจํานวนมาก จําเป็นต้องเร่งซ่อมแซมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว จึงขออนุมัติทํางานนอกเวลาราชการระหว่างวันที่ 28 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2560 แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีการวางแผนดูแลบํารุงรักษาตัดแต่งต้นไม้ตามระยะเวลาที่กําหนด กรณีจึงต้อง ถือว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ดูแลบํารุงรักษาต้นไม้ทั้งในช่วงก่อนและหลังวันที่เกิดเหตุตามอํานาจหน้าที่ด้วยความระมัดระวังตามสมควรแล้ว

จากการพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งภาพถ่ายทั้งหมด เห็นได้ว่า ในวันเกิดเหตุ ได้มีพายุลมแรงและฝนตกหนักต่อเนื่อง จึงเชื่อได้ว่าการที่ต้นหว้าโค่นล้มลงทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดี เป็นผลโดยตรงจากภัยธรรมชาติของพายุโซนร้อนเซินกา ซึ่งสังเกตได้จากการที่ต้นหว้ายังอยู่ในสภาพ สมบูรณ์ มีใบเขียวชอุ่ม และไม่มีลักษณะผุกลวงอันอาจจะก่อให้เกิดอันตราย จึงเป็นการหักโค่นล้ม ด้วยเหตุที่มีฝนตกหนักและพายุลมแรง ไม่ได้เกิดจากขาดการดูแลบํารุงรักษาตามมาตรฐานงานบํารุงทางปกติ ประกอบกับต้นหว้าที่หักโค่นมีลักษณะเป็นต้นไม้สด มิใช่ต้นไม้ยืนต้นตายหรือต้นไม้ผุกลวง จึงไม่อาจคาดหมายได้ว่าต้นไม้ดังกล่าวจะหักโค่นล้มลง นอกจากนี้ เหตุอันเกิดจากภัยธรรมชาติของพายุโซนร้อนเงินกาไม่ได้ส่งผลให้เฉพาะต้นหว้าโค่นล้มทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีเพียงคนเดียว แต่ผลกระทบจากพายุโซนร้อนเงินกาดังกล่าวยังทําให้เกิดเหตุต้นไม้ล้มทับขวางทางอีกหลายต้น และหลายแห่งในทางหลวงหมายเลข 202 กรณีจึงเห็นได้ว่าแม้เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลและบํารุงรักษาต้นไม้ในเขตทางหลวงอย่างทั่วถึงเพียงใด แต่เมื่อเกิดเหตุ วาตภัยจากพายุโซนร้อนเป็นกาซึ่งเป็นภัยธรรมชาติก็ไม่อาจป้องกันมิให้เกิดภยันตรายจากการที่ต้นไม้ โค่นล้มในลักษณะนี้ได้ และไม่สามารถป้องกันมิให้เกิดภยันตรายแก่ผู้ใช้ทางได้ ดังนั้น การที่ต้นหว้าหักโค่นล้มทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีจึงเกิดจากลมพายุฝนหรือวาตภัย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่อาจป้องกันไม่ให้เกิดภยันตรายได้จึงถือเป็นเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมาย กําหนดให้ต้องปฏิบัติในการดูแลบํารุงรักษาต้นไม้ในเขตทางหลวง จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย และไม่เป็นการกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

โดยสรุป หากอุบัติเหตุเกิดขึ้นจากการที่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในการดูแลรักษาต้นไม้ริมทางดังกล่าว หน่วยงานต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหาย ทว่าจากข้อเท็จจริงในคดีนี้การที่ต้นหว้าโค่นล้มลงทับรถยนต์ของผู้ฟ้องคดีเป็นผลโดยตรงจากพายุโซนร้อน ซึ่งสังเกตได้จากการที่ต้นหว้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ มีใบเขียวชอุ่ม ไม่มีลักษณะผุกลวงอันอาจจะก่อให้เกิดอันตราย จึงไม่ได้เป็นการหักโค่นล้มจากขาดการดูแลบํารุงรักษาตามมาตรฐานปกติ นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ทางหลวงได้มีการตัดแต่งกิ่ง ตัดไม้แห้งและไม้ยืนต้น ที่เอนเอียงโน้มเข้าหาทาง และมีการตรวจสภาพต้นไม้เป็นประจํา ประกอบกับพายุโซนร้อนยังทําให้ต้นไม้ล้มอีกหลายต้นและหลายแห่ง แม้เจ้าหน้าที่ได้ดูแลบํารุงรักษาตัดแต่งต้นไม้อย่างทั่วถึงเพียงใด ก็ไม่อาจป้องกันภัยธรรมชาติจากพายุฝนหรือวาตภัยได้ จึงถือเป็นเหตุสุดวิสัยไม่อาจถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ละเลยต่อหน้าที่ และไม่เป็นการกระทําละเมิด

คําสําคัญ : ละเมิดต่อบุคคลภายนอก/ละเมิดจากการละเลย/ต้นไม้ริมทาง/การบํารุงรักษาต้นไม้/ ต้นไม้สด/พายุฝนลมแรง วาตภัย ไม่อาจป้องกันได้/เหตุสุดวิสัย/ละเมิดหรือไม่

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.322/2566

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

ยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาโดยฝากส่งกับร้านที่ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนในห้างสรรพสินค้า | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาศาลปกครองโดยฝากส่งกับร้านที่ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนในห้างสรรพสินค้า

วิธีพิจารณาคดีปกครอง (การยื่นคําอุทธรณ์ทางไปรษณีย์)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (มาตรา 3 และมาตรา 73 วรรคหนึ่ง)
  2. พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 (มาตรา 4 และมาตรา 5)
  3. พระราชกฤษฎีกากําหนดอํานาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด พ.ศ. 2546 (มาตรา 3)
  4. ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 (ข้อ 13 วรรคหนึ่ง)

เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 4 และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกากําหนดอํานาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด พ.ศ. 2546 แล้ว เห็นได้ว่า กิจการไปรษณีย์เป็นกิจการที่รัฐทรงไว้ซึ่งอํานาจสิทธิขาดที่จะดําเนินการ แต่รัฐได้อาศัยอํานาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย มอบหมายให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด เป็นผู้ดําเนินการแทนรัฐ ดังนั้น เจ้าพนักงานไปรษณีย์ ตามข้อ 13 รรคหนึ่ง แห่งระเบียบฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ จึงหมายถึงบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด หรือตัวแทน หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด ให้ดําเนินกิจการ ไปรษณีย์ เมื่อคดีนี้ ศาลปกครองชั้นต้นได้อ่านผลแห่งคําพิพากษาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 ซึ่งจะครบกําหนดยื่นอุทธรณ์คําพิพากษาในวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ตามมาตรา 73 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคําอุทธรณ์โดยนําส่งทางไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EMS) ณ ร้าน P. ซึ่งตั้งอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 เวลา 17.59 นาฬิกา แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ร้าน P. ไม่ได้อยู่ภายใต้การกํากับดูแลของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด และไม่ได้ตั้งขึ้นในลักษณะของที่ทําการไปรษณีย์อนุญาต ร้าน P. จึงมิได้เป็น ที่ทําการไปรษณีย์ หรือเป็นร้าน หรือสถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดเป็นสถานที่รับ รวบรวมสิ่งของเพื่อส่งโดยทางไปรษณีย์ หรือได้รับอนุญาตให้เป็นผู้รับดําเนินงานร้านไปรษณีย์ไทย จากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด ดังนั้น ร้าน P. จึงไม่ใช่ตัวแทน หรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด ให้ดําเนินกิจการไปรษณีย์ อีกทั้ง การที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด ส่งมอบ ป้ายสติ๊กเกอร์หมายเลขพัสดุให้แก่ผู้ประกอบการที่ใช้บริการ e-Parcel ติดลงบนสิ่งของที่ลูกค้านํามา ฝากส่งไว้ก่อนเพื่อความสะดวกในการรับฝาก และเพื่อให้ลูกค้าที่นํามาฝากส่งได้ทราบหมายเลขพัสดุ แต่พัสดุชิ้นดังกล่าวจะยังไม่เข้าสู่ระบบไปรษณีย์ จนกว่าผู้ประกอบการที่ใช้บริการ e-Parcel จะนํามา ฝากส่ง ณ ที่ทําการไปรษณีย์ การส่งคําอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2565 ณ ร้าน P. จึงมิใช่เป็นการยื่นต่อเจ้าพนักงานไปรษณีย์ตามข้อ 13 แห่งระเบียบฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ และถือไม่ได้ว่าวันที่ส่งคําอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล กรณีจึงเป็นการยื่น อุทธรณ์เมื่อพ้นกําหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา 73 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

โดยสรุป การยื่นคําอุทธรณ์โดยฝากส่งกับร้านค้าตามห้างสรรพสินค้าที่ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วน ซึ่งมิได้เป็นตัวแทนหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด ไม่ถือเป็นการส่งคําอุทธรณ์ต่อเจ้าพนักงานไปรษณีย์

คําสําคัญ : การยื่นคําอุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์ทางไปรษณีย์ ที่ทําการไปรษณีย์ เจ้าพนักงานไปรษณีย์/ กําหนดเวลายื่นอุทธรณ์

คําสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 739/2566

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง