ถูกเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะ ฟ้องศาลปกครองได้หรือไม่

ถูกเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะ ฟ้องศาลปกครองได้หรือไม่

สวัสดีครับ เรื่องเล่าคดีปกครอง กับทนายพฤกษ์ คดีปกครอง ที่จะนำมาเสนอในวันนี้เนื่องจากมีคำถามจากหลายท่านติดต่อเข้ามาสอบถามเกี่ยวกับกรณีได้รับหนังสือเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะ สามารถฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้หรือไม่ ในตอนนี้ผมจึงขอหยิบยกนำเสนอในเรื่องเกี่ยวกับการเรียกคืนเงินจากร้านค้าที่ได้รับจากโครงการเราชนะ ซึ่งในช่วงโควิดระบาดที่ผ่านมารัฐบาลมีการสนับสนุนวงเงินให้แก่ประชาชนในการชำระค่าสินค้าหรือบริการจากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับในส่วนของผู้ประกอบการก็จะมีเงื่อนไขว่าต้องรับชำระสินค้าหรือบริการโดยตรงจากประชาชนและห้ามผ่านคนกลางหากฝ่าฝืน อาจถูกเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะได้

            สำหรับข้อเท็จจริงในเรื่องที่นำมาเล่าเป็นตัวอย่างนี้ เป็นกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยในกรณีการฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะ โดยผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ประกอบกิจการร้านขายสินค้าที่ได้เข้าร่วมโครงการเราชนะ ต่อมา ได้รับหนังสือแจ้งจากผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ให้คืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะ เนื่องจากมี พฤติการณ์ เข้าข่ายไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของโครงการ รวมทั้งผู้ฟ้องคดีไม่ได้ชี้แจงโต้แย้งภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งเรียกคืนเงินจากโครงการดังกล่าว แต่ถูกยกอุทธรณ์จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองอ

            ในกรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาเห็นว่า การที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการเราชนะโดยให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีอำนาจตามกฎหมายในการดำเนินการโครงการดังกล่าว โดยในส่วนของขั้นตอนการประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ เป็นกรณีที่ถือว่าก่อให้เกิดสิทธิสิทธิประโยชน์ในทางทรัพย์สินที่บุคคลจะได้รับตามโครงการฯ อันมีลักษณะลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามนัยของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 สำหรับการที่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ตกลงยอมรับเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นเพื่อให้มีการนำเงินช่วยเหลือที่ได้รับไปใช้จ่ายในการลดค่าครองชีพ อันเป็นไปเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ. 2563 ซึ่งถือเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่จำเป็น ในการพิจารณาอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ดังนั้น การอนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมโครงการฯ จึงถือเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการสิ้นผลของการได้รับสิทธิประโยชน์ตามโครงการฯ ที่ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคตว่าจะมีการฝ่าฝืนเงื่อนไขหรือไม่ และข้อสงวนสิทธิในการยกเลิกคำสั่งอนุมัตินั้น ตามมาตรา 39 วรรคสอง (2) และ (3) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะเนื่องจากมีการพบว่า ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข หนังสือเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะดังกล่าว ถือว่ามีผลเป็นการเพิกถอนการอนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมโครงการฯ มีลักษณะการใช้อำนาจตามเงื่อนไขประกอบการออกคำสั่งที่อนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมโครงการฯ และเป็นการใช้อำนาจตามข้อ 20 ของหลักเกณฑ์ว่าด้วยวิธีพิจารณาตรวจสอบข้อมูลและเรื่องร้องเรียนสำหรับโครงการเราชนะ อันเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล อันมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น คำสั่งในส่วนที่มีผลเป็นการเพิกถอนการอนุมัติให้ผู้ฟ้องคดีเข้าร่วมโครงการฯ จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง สำหรับส่วนที่กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินมีลักษณะเป็นการทวงถามให้คืนเงินที่ได้รับไปโดยไม่มีสิทธิเนื่องจากทำผิดเงื่อนไข เมื่อในหนังสือดังกล่าว ได้ระบุว่า หากผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยกับคำสั่ง ผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง นั้น เป็นกรณีที่ถือได้ว่ามีเจตนาหรือความประสงค์ที่จะให้คำสั่งในส่วนนี้เป็นคำสั่งทางปกครอง

            ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งที่เรียกให้ผู้ฟ้องคดีคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องจากการกระทำดังกล่าว และการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหาย ศาลปกครองสามารถออกคำบังคับให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้ และเมื่อได้มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งเรียกเงินคืนดังกล่าวดังกล่าวแล้ว ถือว่าผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่มีกฎหมายกำหนดไว้สำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องนั้นไว้โดยเฉพาะแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง อีกทั้ง เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องภายในระยะเวลาการฟ้องคดี ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาได้

            โดยสรุป การที่ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังมีหนังสือเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะ จากร้านค้าหรือผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเราชนะ เพราะเข้าข่ายทำผิดเงื่อนไข หนังสือเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะดังกล่าวจึงมีผลเป็นการเพิกถอนคำสั่งอนุมัติให้ร้านค้าหรือผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ อันมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งเรียกคืนเงินที่ได้รับจากโครงการเราชนะ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งไม่โดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง

– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547

– Line: @prueklaw 

#สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง