กรณีความขัดแย้งระหว่างพนักงานส่วนตําบลกับผู้บริหาร ของ อบต. | เรื่องเด่น คดีปกครอง

กรณีมีความขัดแย้งระหว่างพนักงานส่วนตําบลกับผู้บริหาร ของ อบต. 

การบริหารงานบุคคลภาครัฐ (การสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 (มาตรา 25 วรรคหนึ่ง)
  2. พระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจําตําแหน่งของข้าราชการและผู้ดํารงตําแหน่ง ผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ พ.ศ. 2538
  3. ประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัดหนองบัวลําภู เรื่อง หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตําบล ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2545 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ข้อ 171 ข้อ 175 และข้อ 176)

ในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตําบล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยนายกองค์การบริหารส่วนตําบล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) และโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัด (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ในการประชุมครั้งที่ 7/2558 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งดํารงตําแหน่ง ปลัดองค์การบริหารส่วนตําบล ไปประจําสํานักงานเลขานุการคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบล เป็นเวลา 6 เดือน เป็นการใช้อํานาจตามข้อ 176 ของประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตําบล (แก้ไขเพิ่มเติม) ลงวันที่ 14 มีนาคม 2546 โดยการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหนังสือถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ขอความเห็นชอบให้ผู้ฟ้องคดีไปประจําสํานักงานเลขานุการฯ หรือย้ายออกนอกพื้นที่ เป็นการรายงานพร้อมเหตุผลความจําเป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทราบว่า กรณีมีความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ หรือกรณีมีความขัดแย้งระหว่างผู้ฟ้องคดี กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และไม่สามารถดําเนินการโอนผู้ฟ้องคดีตามข้อ 171 และข้อ 175 ของประกาศ คณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตําบล ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2545 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ทําการตรวจสอบโดยมอบให้นายอําเภอ ซึ่งเป็นผู้มีอํานาจกํากับดูแลผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตรวจสอบ และนายอําเภอได้รายงานผลการตรวจสอบว่า กรณีการดําเนินการทางวินัยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้ฟ้องคดี ผลการสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีมูลความผิดวินัยฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการและถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของทางราชการ ซึ่งอยู่ระหว่างการดําเนินการของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ส่วนกรณีความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารกับผู้ฟ้องคดี อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อราชการ แต่มิได้มีเหตุบ่งชี้หรือพฤติการณ์ที่จะก่อให้เกิดอันตราย ต่อบุคคลแต่อย่างใด และรายงานเพิ่มเติมว่า ประธานกรรมการสอบสวนทางวินัยขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ขอความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ผู้ฟ้องคดีไปประจําสํานักงานเลขานุการฯ เนื่องจากเห็นว่า หากให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน แสดงให้เห็นถึงปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งมีอํานาจหน้าที่กําหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย รับผิดชอบในการบริหารราชการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ตลอดจนควบคุมและรับผิดชอบในการ บริหารราชการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงจากผู้ฟ้องคดีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยความเห็นชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีประจําสํานักงานเลขานุการฯ อยู่หลายครั้ง ในทุก ๆ สมัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีปัญหาขัดแย้งระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 ในการบริหารงานสะสมมาเป็นเวลานานแล้ว หากไม่ได้รับการแก้ไขย่อมส่งผลกระทบต่อ การบริการสาธารณะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งมีหน้าที่บริหารงานบุคคลสําหรับองค์การบริหารส่วนตําบลทุกแห่งในเขตจังหวัด ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 จึงต้องคํานึงถึงการบริหารราชการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นสําคัญ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 7/2558 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 มีมติเห็นชอบให้ผู้ฟ้องคดีไปประจําสํานักงานเลขานุการฯ เป็นเวลา 6 เดือน จึงเป็นไปตามข้อ 176 ของประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัด เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนตําบล (แก้ไขเพิ่มเติม) ลงวันที่ 14 มีนาคม 2546 ดังนั้น คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีไปประจําสํานักงานเลขานุการฯ เป็นระยะเวลา 6 เดือน จึงชอบด้วยกฎหมายและมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่ยกคําร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดี จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

เมื่อผู้ฟ้องคดีได้รับคําสั่งให้ไปประจําสํานักงานเลขานุการ ก.อบต. จังหวัด กรณีจึงต้องถือว่าในระหว่างที่ผู้ฟ้องคดีประจําสํานักงานเลขานุการฯ ผู้ฟ้องคดีมิได้ปฏิบัติหน้าที่ในตําแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตําบล ที่จะมีสิทธิได้รับเงินประจําตําแหน่งตามพระราชกฤษฎีกาการได้รับเงินประจําตําแหน่งของข้าราชการและผู้ดํารงตําแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ พ.ศ. 2538 ซึ่งกําหนดให้ข้าราชการจะมีสิทธิได้รับเงินประจําตําแหน่งก็ต่อเมื่อได้รับการแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งที่มีสิทธิได้รับเงินประจําตําแหน่งและต้องปฏิบัติหน้าที่หลักของตําแหน่งดังกล่าวด้วย ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินประจําตําแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตําบล และเงินค่าตอบแทนนักบริหารองค์การบริหารส่วนตําบล ระดับ 8 นอกเหนือจากเงินเดือนในช่วงเวลาดังกล่าว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ไม่ได้จ่ายเงินประจําตําแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตําบล เดือนละ 5,600 บาท เป็นระยะเวลา 5 เดือน และเดือนละ 7,000 บาท อีก 1 เดือน รวมเป็นเงินจํานวน 35,000 บาท และเงินค่าตอบแทนนักบริหารองค์การบริหารส่วนตําบล ระดับ 4 เดือนละ 5,600 บาท เป็นระยะเวลา 5 เดือน รวมเป็นเงิน จํานวน 33,600 บาท รวมเป็นเงิน จํานวนทั้งสิ้น 68,600 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี จึงมิได้เป็นการกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด

โดยสรุป กรณีมีความขัดแย้งระหว่างพนักงานส่วนตําบลกับผู้บริหาร ของ อบต. และไม่สามารถโอนพนักงานส่วนตําบลผู้นั้นไปดํารงตําแหน่งใน อบต. อื่น ภายในจังหวัด เดียวกันได้ การที่นายก อบต. โดยความเห็นชอบของ ก.อบต. จังหวัด มีคําสั่งให้พนักงานส่วนตําบล ดังกล่าวไปประจําสํานักงานเลขานุการฯ เป็นเวลา 6 เดือน จึงชอบด้วยกฎหมาย

คําสําคัญ : การสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่/ข้าราชการส่วนท้องถิ่น/คณะกรรมการพนักงานส่วนตําบล/พนักงานส่วนตําบล/ปลัดองค์การบริหารส่วนตําบล/การบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตําบล/ปัญหาขัดแย้งในการบริหารงาน

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ. 127/2566

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

การจัดซื้อจัดจ้างผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันจะต้องอยู่ในขอบเขตงานหลักของงานที่จ้าง | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การจัดซื้อจัดจ้างผลงานก่อสร้างประเภทเดียวกันจะต้องอยู่ในขอบเขตงานหลักของงานที่จ้าง

การจัดซื้อจัดจ้าง (คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าเสนอราคา)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหาร พัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.3/8891 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2565

เรื่อง ข้อหารือการพิจารณาผลงานประเภทเดียวกัน กําหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณา “ผลงานการก่อสร้างประเภทเดียวกัน” ไว้ 3 ประการ คือ
(1) ใช้เทคนิคการก่อสร้างเดียวกัน
(2) โครงสร้างหลักของงานก่อสร้างเป็นประเภทเดียวกัน
(3) ลักษณะการใช้งานเป็นประเภทเดียวกัน

ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดีตามประกาศประมูลจ้างโครงการก่อสร้างคูระบายน้ำ ถนนเทศบาล ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของเทศบาลตําบล (ผู้ถูกฟ้องคดี) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า งานที่ผู้ฟ้องคดีเสนอตามหนังสือรับรองผลงานในลําดับ 1 เป็นงานก่อสร้างที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ใช้สอยเฉพาะอาคารที่ทําการบ้านพักอาศัยของพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอําเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อก่อสร้างคูระบายน้ำสาธารณะ ตามโครงการก่อสร้างของผู้ถูกฟ้องคดี แม้การก่อสร้างตามหนังสือรับรองผลงานดังกล่าวจะมีการก่อสร้าง ถนน-ลาน คสล. รางระบายน้ำ-บ่อพัก ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับงานที่ประมูลจ้าง แต่การก่อสร้างดังกล่าวเป็นเพียงส่วนประกอบหรือส่วนเกี่ยวเนื่องและอยู่ภายในบริเวณอาคารสํานักงานและบริเวณ บ้านพักอาศัยของพนักงานเท่านั้น ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการรองรับการระบายน้ำสาธารณะ ดังนั้น ขอบเขตงานหลักของการก่อสร้างตามหนังสือรับรองผลงานดังกล่าวจึงเป็นงานก่อสร้างอาคารประกอบกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 (ภาคใต้) จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีหนังสือชี้แจงเพิ่มเติม เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การคํานวณราคากลางงานก่อสร้างว่า ค่า Factor F ที่นํามาคํานวณประมาณราคา ค่าก่อสร้างตามหนังสือรับรองผลงานดังกล่าวเป็นค่า Factor F งานก่อสร้างประเภทงานอาคารส่วนสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ถือว่าเป็นส่วนควบของงานก่อสร้างอาคาร จึงนําค่า Factor F ประเภทงานอาคารมาคํานวณราคากลางค่าก่อสร้าง แต่ในการก่อสร้างคูระบายน้ำของผู้ถูกฟ้องคดีได้ใช้ ค่า Factor F ในกลุ่มงานก่อสร้างทาง สะพานและท่อเหลี่ยม จึงมีรูปแบบและเทคนิคการก่อสร้างที่ต่างกัน อีกทั้งตามเอกสารสรุปประมาณราคาค่าก่อสร้างปรากฏว่า มูลค่างานรางระบายน้ำ-บ่อพัก ของงานก่อสร้างดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 30.45 ของโครงการก่อสร้างเท่านั้น ผลงานการก่อสร้าง ตามหนังสือรับรองผลงานลําดับ 1 ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นผลงานก่อสร้างคนละประเภทกันกับงานจ้าง ตามประกาศประมูลจ้างของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีโดยคณะกรรมการดําเนินการประมูลจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์จึงมีสิทธิที่จะไม่รับพิจารณาข้อเสนอของผู้ฟ้องคดี การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งว่าผู้ฟ้องคดีมีคุณสมบัติไม่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อกําหนดของเอกสารประมูลจ้าง จึงเป็นการกระทําที่ชอบตามประกาศประมูลจ้างแล้ว

นอกจากนี้ วัตถุประสงค์ของการกําหนดคุณสมบัติของผู้ประสงค์จะเสนอราคาตามประกาศประมูลจ้างที่พิพาทก็เพื่อให้ได้ผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์และขีดความสามารถในการก่อสร้างประเภทเดียวกัน ที่มีวงเงินการก่อสร้างใกล้เคียงกันกับงานที่จ้าง การนําผลงานก่อสร้างในประเภท เดียวกันที่มีมูลค่างานต่ำกว่าข้อกําหนดหลาย ๆ งานมารวมกันเพื่อให้มีวงเงินไม่น้อยกว่าข้อกําหนดในประกาศประมูลจ้างย่อมไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีเสนอหนังสือรับรองผลงานลําดับที่ 2-5 รวม 4 ฉบับ แม้จะเป็นงานก่อสร้างประเภทเดียวกันกับงานตามประกาศประมูลจ้างของผู้ถูกฟ้องคดี แต่เมื่อวงเงินในแต่ละสัญญาจ้างน้อยกว่าที่ผู้ถูกฟ้องคดีกําหนดจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ในประกาศประมูลจ้างของผู้ถูกฟ้องคดี

โดยสรุป แม้งานก่อสร้างอาคารสํานักงานและบ้านพักพนักงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามหนังสือรับรองผลงานของผู้ฟ้องคดีจะมีการก่อสร้างถนน-สาน คสล. และรางระบายน้ำ-บ่อพัก ในลักษณะเดียวกันกับงานจ้างก่อสร้างคูระบายน้ำในเขตเทศบาลที่จ้างในครั้งนี้ แต่เมื่องานก่อสร้างดังกล่าวเป็นเพียงส่วนประกอบหรือส่วนเกี่ยวเนื่อง ไม่อยู่ในขอบเขตงานหลักซึ่งเป็นงานก่อสร้างอาคาร อีกทั้งยังมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ใช้สอยเฉพาะอาคารที่ทําการและบ้านพักอาศัย ของพนักงานการไฟฟ้าฯ ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อรองรับการระบายน้ำสาธารณะ ประกอบกับมีรูปแบบ และเทคนิคการก่อสร้างที่ต่างกัน ผลงานการก่อสร้างตามหนังสือรับรองผลงานของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผลงานก่อสร้างคนละประเภทกับงานที่จ้าง

คําสําคัญ : การพัสดุ/จัดซื้อจัดจ้าง/ประมูลจ้าง/คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเสนอราคา ผลงานก่อสร้าง ประเภทเดียวกัน หนังสือรับรองผลงาน คูระบายน้ำ/งานก่อสร้างประเภทอาคาร

หมายเหตุ : หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.3/8891 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2565 เรื่อง ข้อหารือการพิจารณาผลงานประเภทเดียวกัน ได้กําหนดหลักเกณฑ์การพิจารณา “ผลงานการก่อสร้างประเภทเดียวกัน” ว่า การกําหนดผลงานมีวัตถุประสงค์นอกจากจะให้ตัวผู้รับจ้างที่มีประสบการณ์ของงานก่อสร้างในประเภทเดียวกันแล้ว ต้องคํานึงถึงมูลค่าของราคาค่างานที่ผู้รับจ้างมีประสบการณ์ของงานก่อสร้าง ในงานประเภทเดียวกัน และต้องคํานึงถึงมูลค่าของราคาค่างานที่ผู้รับจ้างเคยดําเนินการมาแล้วด้วย การที่จะเห็นถึงขีดความสามารถนี้ได้ ก็ย่อมจะต้องบริหารงานภายใต้การจ้างครั้งเดียว มิใช่การจ้าง ในหลาย ๆ ครั้งมารวมกัน ดังนั้น ผลงานที่นํามายื่นจึงต้องเป็นผลงานของผู้รับจ้างในสัญญาเดียว เท่านั้น และเป็นสัญญาที่ผู้รับจ้างได้ทํางานแล้วเสร็จตามสัญญา ซึ่งได้มีการส่งมอบงานและตรวจรับเรียบร้อยแล้ว โดย “ผลงานการก่อสร้างประเภทเดียวกัน” หมายความว่า งานก่อสร้างที่ใช้เทคนิคในการก่อสร้างส่วนของโครงสร้างหลักเป็นประเภทเดียวกัน และลักษณะการใช้งานเป็นประเภทเดียวกันกับงานที่ประกวดราคาจ้างก่อสร้าง ซึ่งการกําหนดผลงานเป็นดุลพินิจของหน่วยงานของรัฐที่จะพิจารณาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการกําหนดผลงานดังกล่าว

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 190/2566

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง
ทนายคดีสัญญาทางปกครอง

คําสั่งบรรจุแต่งตั้งซึ่งเกิดจากการพิจารณาผลการสอบที่ทุจริตและผิดกฎหมาย | เรื่องเด่น คดีปกครอง

คําสั่งบรรจุแต่งตั้งที่เกิดจากการพิจารณาผลการสอบที่ทุจริตและผิดกฎหมาย

การบริหารงานบุคคลภาครัฐ (การบรรจุและแต่งตั้ง/ข้าราชการส่วนท้องถิ่น)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตําบล เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกโดยการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตําบล พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 (ข้อ 6 และข้อ 8.5)
  2. ประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัดมหาสารคาม เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกโดยการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตําบล พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 (ข้อ 8.5)

องค์การบริหารส่วนตําบลที่ประสงค์จะสอบแข่งขันเพื่อสรรหาบุคคลเป็นพนักงาน ส่วนตําบล จะต้องมีหน่วยงานกลางที่คณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลคัดเลือกจากสถาบันการศึกษา หรือจากหน่วยงานของรัฐที่เห็นสมควร เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบแข่งขันทําหน้าที่ผลิตข้อสอบ ตรวจข้อสอบ และประมวลผลคะแนนหรืองานอื่นที่เกี่ยวข้องให้แก่องค์การบริหารส่วนตําบล และเพื่อความโปร่งใสอาจมีการตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ เพื่อแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละขั้นตอน อย่างชัดเจนเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ตามข้อ 5 ของประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตําบล เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการคัดเลือกโดยการสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตําบล พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 โดยในการวัดผล การสอบแข่งขัน ผู้เข้าสอบจะต้องมีความรู้ความสามารถทั่วไป ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะสําหรับ ตําาแหน่ง และภาคความเหมาะสมกับตําแหน่ง ในระดับดีทุกส่วน ซึ่งหลักเกณฑ์ตามข้อ 8.5 ของประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตําบลฯ ดังกล่าว ประกอบกับข้อ 8.5 ของประกาศคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัดมหาสารคาม เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการคัดเลือกโดยการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตําบล พ.ศ. 2555 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2555 กําหนดว่า การตัดสินว่าผู้ใดเป็นผู้สอบแข่งขันได้ให้ถือเกณฑ์ว่าต้องเป็น ผู้สอบได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของคะแนนเต็มแต่ละภาค ทั้งนี้ เพื่อให้การสอบแข่งขันเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม และมีมาตรฐาน เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นธรรมแก่ผู้สมัครสอบแข่งขัน ทุกคน และเพื่อให้องค์การบริหารส่วนตําบลได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตําแหน่งหน้าที่เข้ารับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นพนักงานส่วนตําบล อันจะเป็นการผดุงไว้ซึ่งระบบคุณธรรมในการสรรหาบุคคลเข้ารับราชการและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม

เมื่อในการดําเนินการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตําบล ขององค์การบริหารส่วนตําบล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ตามประกาศองค์การบริหารส่วนตําบล เรื่อง การคัดเลือกโดยการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตําบล ระดับ 1 ระดับ 2 และระดับ 3 ประจําปีงบประมาณ 2557 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2557 ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ฟ้องคดีสอบไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 ในแต่ละภาคที่สอบ แต่ได้มีการปลอมเอกสารแสดงผลคะแนนสอบ ของผู้สอบให้แตกต่างไปจากผลคะแนนการสอบที่แท้จริง อันเป็นการกระทําโดยทุจริตและผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง เพื่อให้เข้าใจว่าผู้สอบบางรายรวมทั้งผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่สอบได้ตามเกณฑ์ ที่กําหนด และรายงานผลคะแนนการสอบของผู้ฟ้องคดีต่อคณะกรรมการพนักงานส่วนตําบลจังหวัดมหาสารคาม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติเห็นชอบให้บรรจุและแต่งตั้งผู้ฟ้องคดี เป็นพนักงานส่วนตําบล ทั้ง ๆ ที่ผู้ฟ้องคดีมีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ตามที่กําหนดไว้ มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ให้ความเห็นชอบดังกล่าว จึงเป็นมติที่เกิดจากการพิจารณาผลการสอบที่ทุจริตและผิดกฎหมาย อย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ไม่ใช่เป็นเพียงความบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นตามปกติในการจัดสอบแข่งขัน เมื่อนายกองค์การบริหารส่วนตําบล (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้มีคําสั่งบรรจุและแต่งตั้งผู้ฟ้องคดีโดยอาศัยมติดังกล่าว คําสั่งนั้นจึงเป็นคําสั่งทางปกครองที่มีลักษณะผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ในทางกฎหมายถือเสมือนว่าไม่มีการออกคําสั่งทางปกครอง ไม่ว่าการทุจริตหรือการแสดงข้อความอันเป็นเท็จนั้นจะเกิดจากการกระทําของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ก็ตาม ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคําสั่ง ให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากตําแหน่งตั้งแต่วันที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง จึงชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการกระทําละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี

โดยสรุป คําสั่งบรรจุและแต่งตั้ง บุคคลเป็นพนักงานส่วนตําบลที่ออกโดยอาศัยมติของ ก.อบต. จังหวัด ซึ่งเกิดจากการพิจารณา ผลการสอบที่ทุจริตและผิดกฎหมาย เป็นคําสั่งทางปกครองที่มีลักษณะผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ในทางกฎหมายถือเสมือนว่าไม่มีการออกคําสั่งทางปกครอง ไม่ว่าการทุจริตนั้นจะเกิดจากการกระทําของผู้ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งหรือไม่ก็ตาม

คําสําคัญ : ข้าราชการส่วนท้องถิ่น/พนักงานส่วนตําาบล/คําสั่งทางปกครองที่มีลักษณะผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง/การทุจริตผลการสอบ/การปลอมแปลงเอกสาร/การสอบแข่งขัน

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อบ. 3/2566

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

คําสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนที่ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริง | เรื่องเด่น คดีปกครอง

คําสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนที่ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริง

การบริหารงานบุคคลภาครัฐ (การเพิกถอนหรือแก้ไขคําสั่งทางปกครอง)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (มาตรา 49 วรรคสอง)
  2. กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2550 (ข้อ 6 (4))

กรณีศึกษาธิการจังหวัดพะเยา (ผู้ถูกฟ้องคดี) มีคําสั่งสํานักงานศึกษาธิการจังหวัดพะเยา เรื่อง แก้ไขคําสั่งเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และให้รับค่าตอบแทนพิเศษ ตามมติของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดพะเยาที่พิจารณาว่า ผู้ฟ้องคดี ขาดราชการโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ตามข้อ 6 (4) ของกฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับแจ้งมติที่ประชุมของคณะกรรมการดังกล่าวในวันใด และอาจถือได้ว่าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นวันที่คณะกรรมการข้างต้นมีมติ เป็นระยะเวลาอย่างเร็วที่สุดที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้รู้ถึงเหตุที่จะให้เพิกถอนคําสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องดําเนินการเพิกถอนคําสั่งทางปกครอง ดังกล่าวภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 กล่าวคือ ภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 ก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีขาดราชการโดยที่ไม่ได้มีการขออนุญาตผู้บังคับบัญชาและไม่ได้ยื่นใบลากิจส่วนตัวให้ถูกต้องตามระเบียบ ทั้งที่ผู้ฟ้องคดีรับราชการมาเป็นเวลานาน ย่อมต้องทราบกฎระเบียบและข้อบังคับเกี่ยวกับการลาราชการเป็นอย่างดี แต่ผู้ฟ้องคดีกลับละเลยไม่ดําเนินการให้ถูกต้อง และเมื่อถึงรอบการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการปฏิบัติงานเพื่อพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ผู้ฟ้องคดีกลับปกปิดไม่ได้รายงานการขาดราชการดังกล่าว ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จนกระทั่งมีการร้องเรียนกล่าวหาผู้ฟ้องคดีว่ามีพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้วันเวลาราชการมาปฏิบัติหน้าที่ส่วนตัวและได้มีการดําเนินการทางวินัยกับผู้ฟ้องคดี จนเป็นผลให้มีการเลื่อนขั้นเงินเดือนให้กับผู้ฟ้องคดีโดยคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขั้นเงินเดือนที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิได้รับ ซึ่งแม้ว่าคําสั่งดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้ฟ้องคดี แต่เมื่อเป็นคําสั่งที่ทําขึ้นเนื่องจากผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับคําสั่งได้ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ผู้ออกคําสั่ง การเพิกถอนหรือแก้ไขคําสั่งดังกล่าวจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับให้ต้องกระทําภายในระยะเวลาเก้าสิบวันนับแต่ได้รู้ถึงเหตุที่จะให้เพิกถอนคําสั่งทางปกครองนั้นตามมาตรา 49 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีคําสั่งสํานักงานศึกษาธิการจังหวัดพะเยาแก้ไขคําสั่งเลื่อนเงินเดือนของผู้ฟ้องคดี จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

โดยสรุป คําสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนที่ออกโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนเนื่องจากผู้รับคําสั่งปกปิดข้อความจริงเกี่ยวกับการขาดราชการ การเพิกถอนหรือแก้ไขคําสั่งดังกล่าวไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับให้ต้องกระทําภายในเก้าสิบวัน

คําสําคัญ : ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา/การเพิกถอนหรือแก้ไขคําสั่งทางปกครอง/ คําสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือน/คําสั่งที่มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์/ผู้รับคําสั่งปกปิดข้อความจริง/ระยะเวลาเพิกถอนคําสั่งทางปกครอง

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 140/2566

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

คําสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นต่อผู้ซื้ออาคารต่อจากเจ้าของเดิม ซึ่งก่อสร้างหรือต่อเติมโดยฝ่าฝืนกฎหมาย | เรื่องเด่น คดีปกครอง

คําสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นต่อผู้ซื้ออาคารต่อจากเจ้าของเดิม ซึ่งก่อสร้างหรือต่อเติมโดยฝ่าฝืนกฎหมาย

การควบคุมอาคารและการผังเมือง

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 (มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42)
  2. พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2558 (มาตรา 39 ทวิ)
  3. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (มาตรา 30 วรรคหนึ่ง)
  4. กฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุม อาคาร พ.ศ. 2522 (ข้อ 36)

ตามข้อ 36 วรรคหนึ่ง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ออกตามความ ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 กําหนดให้บ้านแถวต้องมีที่ว่างด้านหน้าระหว่างรั้ว หรือแนวเขตที่ดินกับแนวผนังอาคารกว้างไม่น้อยกว่า 3 เมตร และต้องมีที่ว่างด้านหลังอาคารระหว่างรั้ว หรือแนวเขตที่ดินกับแนวผนังอาคารกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร ดังนั้น เมื่อเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้มีหนังสือร้องเรียนต่อนายกเทศมนตรีตําบล ส. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ว่ามีการก่อสร้างอาคาร ค.ส.ล. 3 ชั้น 8 คูหา เพื่อใช้เป็นที่พักอาศัย (บ้านแถว) โดยไม่ถูกต้องตามแผนผังบริเวณและแบบแปลนที่ยื่นขออนุญาต ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ทําการตรวจสอบตามข้อร้องเรียนแล้วพบว่า อาคารดังกล่าว มีการก่อสร้างผิดไปจากแผนผังบริเวณ แบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ทั้งยังไม่เป็นไปตามข้อ 36 วรรคหนึ่ง ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543)ฯ เนื่องจากบริเวณ ที่ว่างด้านหลังอาคารระหว่างรั้วหรือแนวเขตที่ดินกับแนวผนังอาคารด้านทิศเหนือมีระยะร่นกว้างเพียง 1.80 เมตร อันเป็นการกระทําที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎกระทรวง ที่เกี่ยวข้อง แม้ผู้ฟ้องคดีจะเป็นผู้ซื้ออาคารในกลุ่มอาคารพิพาทมาจากเจ้าของเดิมจํานวน 1 คูหา โดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างต่อเติมอาคารดังกล่าวก็ตาม แต่ในขณะที่เจ้าพนักงานท้องถิ่น ตรวจพบว่าอาคารดังกล่าวมีการก่อสร้างต่อเติมฝ่าฝืนกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมมีอํานาจออกคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีระงับการก่อสร้างอาคารและห้ามมิให้บุคคลใดใช้อาคารนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนของอาคารในส่วนที่ต่อเติมโดยมิได้ รับอนุญาตได้ตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รวมทั้ง มีอํานาจที่จะพิจารณาว่าการก่อสร้างต่อเติมด้านหลังของอาคารเป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้หรือไม่ แล้วดําเนินการออกคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของอาคารยื่นคําขออนุญาต หรือดําเนินการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ หรือดําเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามมาตรา 41 หรือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดําเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมด หรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กําหนดตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน แล้วแต่กรณี ต่อไป การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกรณีที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ จึงอาศัยอํานาจ ตามความในมาตรา 40 และมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มีคําสั่งจํานวน 3 ฉบับ ได้แก่ คําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีระงับการก่อสร้างอาคาร คําสั่งห้ามมิให้ผู้ฟ้องคดีใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารนี้ในส่วนที่ก่อสร้างผิดแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตจนกว่าจะได้จัดการแก้ไขให้ถูกต้องตามที่ได้รับใบอนุญาต และคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีดําเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง โดยจัดให้มีพื้นที่ว่างด้านหลังอาคาร ไม่น้อยกว่า 2 เมตร และให้ยื่นคําขอรับใบอนุญาตดัดแปลงอาคารต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คําสั่งทั้งสามฉบับ จึงเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้คําวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ที่วินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในการพิจารณาทํานองเดียวกัน กับเหตุผลในการออกคําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นคําวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

สิทธิโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 จะใช้กับกรณีที่คู่กรณีมีสิทธิตามกฎหมายและคําสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอาจกระทบต่อสิทธิดังกล่าว แต่กรณีนี้เป็นการก่อสร้างอาคารฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมายอย่างชัดแจ้ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงใช้อํานาจทางปกครองบังคับกับผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคารเพื่อให้กระทําการตามที่กฎหมายกําหนด หรือละเว้นการกระทําที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว กรณีย่อมมิใช่คําสั่งทางปกครองที่อาจกระทบถึงสิทธิของผู้ฟ้องคดีที่ต้องให้มีโอกาสได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ

โดยสรุป เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอํานาจออกคําสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารดําเนินการ กับอาคารที่ก่อสร้างฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร เช่น คําสั่งระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง ต่อเติมอาคาร คําสั่งห้ามมิให้ใช้หรือเข้าไปในส่วนที่ก่อสร้างผิดแบบแปลน คําสั่งให้ยื่นคําขออนุญาตดัดแปลงอาคาร คําสั่งให้ดําเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารให้ถูกต้อง ดังนั้น แม้ผู้ซื้ออาคารจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารที่เจ้าของเดิมกระทําฝ่าฝืนกฎหมายไว้ แต่หากขณะที่ เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพบว่าอาคารดังกล่าวมีการก่อสร้างหรือต่อเติมฝ่าฝืนกฎหมาย ผู้ซื้อได้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารแล้ว เจ้าพนักงานท้องถิ่นย่อมมีอํานาจออกคําสั่งไปยังผู้ซื้อซึ่งเป็น เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารคนปัจจุบันได้ 

คําสําคัญ : บ้านแถว ที่ว่างด้านหลังอาคาร/ระยะร่น การก่อสร้างต่อเติมอาคารฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งเป็น กรณีแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ สิทธิโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 577/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

คําสั่งให้รื้อถอนโฮมสเตย์ของเจ้าท่า | เรื่องเด่น คดีปกครอง

คําสั่งของเจ้าท่าที่ให้รื้อถอนโฮมสเตย์ออกจากทะเลสาบสงขลา (เกาะยอ)

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม/การคมนาคมและการขนส่ง

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 1304 (2))
  2. พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 (มาตรา 117 และมาตรา 118 ทวิ)
  3. พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 (มาตรา 18)
  4. กฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือ ในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2556 (ข้อ 4 และข้อ 5)
  5. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 เรื่อง การบรรเทาความเสียหาย ให้แก่ประชาชนในกรณีปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลําแม่น้ำ ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 (ข้อ 1 และข้อ 2)
  1. ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการพิจารณาอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลําแม่น้ำตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 (ข้อ 6 (2))

ผู้ฟ้องคดีซึ่งเดิมประกอบอาชีพประมงโดยเลี้ยงปลากะพงในกระชังบริเวณทะเลสาบสงขลา ได้ดัดแปลงขนที่ใช้ดูแลปลาในกระชังให้กลายเป็นอาคารไม้หลังคามุงกระเบื้อง พื้นที่รวม 176.12 ตารางเมตร เพื่อบริการนักท่องเที่ยวในลักษณะโฮมสเตย์ ซึ่งโฮมสเตย์ดังกล่าวสร้างขึ้น ในช่วงวันที่ 24 สิงหาคม 2537 จนถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 อันเป็นการปลูกสร้างในขณะที่ พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 มีผลใช้บังคับแล้ว การที่โฮมสเตย์ ของผู้ฟ้องคดีปลูกสร้างล่วงล้ำลําน้ำทะเลสาบ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า จึงเป็นการกระทํา ที่ฝ่าฝืนมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 เมื่อต่อมามีการตรา พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 และมีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 เรื่อง การบรรเทาความเสียหายให้แก่ประชาชนในกรณีปลูกสร้าง อาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลําแม่น้ำ ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ขึ้นใช้บังคับ ผู้ฟ้องคดีย่อมมีหน้าที่ ต้องแจ้งให้เจ้าท่าทราบถึงการปลูกสร้างอาคารที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ประกอบกับข้อ 1 ของคําสั่ง หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ยื่น แบบแจ้งการฝ่าฝืนการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลําแม่น้ำต่อผู้อํานวยการสํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาสงขลา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) แล้วเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2560 อย่างไรก็ตาม ข้อ 2 วรรคสาม ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวได้กําหนดแนวทางในการพิจารณาอนุญาต สําหรับอาคารหรือสิ่งอื่นใดที่สร้างอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 รวมถึงกําหนดลักษณะของอาคารและการล่วงล้ำที่พึ่งอนุญาตได้ โดยให้เจ้าท่า นําหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ กรณีเป็นอาคารหรือสิ่งอื่นใดที่สร้างอยู่ก่อนกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ ให้เจ้าท่าเป็นผู้พิจารณาอนุญาต ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมประกาศกําหนด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง คมนาคมได้อาศัยความในข้อ 2 วรรคสาม ของคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว ออกประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการพิจารณาอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลําแม่น้ำตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 โดยข้อ 6 (2) ของประกาศกระทรวงคมนาคมดังกล่าว ได้กําหนดประเภทของอาคารและสิ่งล่วงล้ำลําแม่น้ำที่ปลูกสร้างตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2537 ถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ที่พึ่งอนุญาตได้ไว้จํานวน 17 ประเภท เมื่อสิ่งปลูกสร้างของผู้ฟ้องคดี สร้างขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม 2537 จนถึงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 จึงถูกจํากัด ประเภทและลักษณะอาคารที่พึงอนุญาตได้ ตามนัยข้อ 6 (2) ของประกาศกระทรวงคมนาคมฉบับนี้ แม้ผู้ฟ้องคดีจะกล่าวอ้างว่า สิ่งปลูกสร้างของผู้ฟ้องคดีเป็นอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้สําหรับ วิถีชุมชนดั้งเดิม และใช้ประกอบอาชีพในภาคการเกษตร อันเป็นสิ่งปลูกสร้างที่พึงอนุญาตได้ ตามข้อ 6 (2) (ณ) แต่จากการพิจารณาลักษณะสิ่งปลูกสร้างของผู้ฟ้องคดีที่ดัดแปลงขนําเฝ้าปลา ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเข้าพักอาศัย ทําให้ขนําดังกล่าวเปลี่ยนสภาพและขยายขนาด จากที่มีอยู่เดิมจนเกินสมควรต่อการใช้ประโยชน์สําหรับเฝ้าปลาในกระชัง ย่อมแสดงให้เห็นว่านับแต่ที่ผู้ฟ้องคดีได้ทําการดัดแปลงจากขนําเป็นโฮมสเตย์ ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้าง สําหรับการประกอบอาชีพประมงในภาคการเกษตรแล้ว วัตถุประสงค์หลักและสาระสําคัญของการใช้ประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างของผู้ฟ้องคดีย่อมเปลี่ยนแปลงจากใช้เพื่อเฝ้ากระชังปลาไปเป็นโฮมสเตย์เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยว และเมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ได้ประกอบอาชีพประมงในภาคการเกษตรเช่นเดิม การประกอบกิจการโฮมสเตย์ของผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่วิถีชุมชนดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติกันมาช้านานของชาวบ้านในชุมชนที่เจ้าท่าจะสามารถพิจารณาอนุญาตให้ปลูกสร้างได้ตามข้อ 6 (2) (ณ) ของประกาศกระทรวงคมนาคมดังกล่าว

แม้ข้อ 5 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2537)ฯ จะกําหนดให้เจ้าท่า อาจอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลําแม่น้ำที่ไม่มีลักษณะตามข้อกําหนดในข้อ 4 เป็นการเฉพาะรายได้ แต่เมื่อสิ่งปลูกสร้างของผู้ฟ้องคดีไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยตามวิถีชุมชน ดั้งเดิม หรือประกอบอาชีพในภาคการเกษตรตามวิถีชุมชนดั้งเดิม กลับมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหา กําไรจากสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำลําแม่น้ำดังกล่าว อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม กรณีจึงเกินความจําเป็นในการใช้พื้นที่ล่วงล้ำลําแม่น้ำลงไปในทะเลอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสําหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีปลูกสร้างอาคารพิพาทล่วงล้ำ ลําแม่น้ำเพื่อประกอบกิจการโฮมสเตย์ดังกล่าว ย่อมเป็นการอนุญาตที่เกินกว่าความจําเป็นและสมควร ตามวัตถุประสงค์ ซึ่งไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะอนุญาตให้ปลูกสร้างล่วงล้ำลําแม่น้ำได้ ตามข้อ 5 (2) ของประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการพิจารณาอนุญาตปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลําแม่น้ำตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษา ความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคําสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลําแม่น้ำ จึงเป็นการกระทําที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลําแม่น้ำที่พิพาท ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้กระทําการ ฝ่าฝืนมาตรา 117 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 การที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทภายในระยะเวลาที่กําหนด ตามมาตรา 118 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่งผลให้การที ผู้อํานวยการสํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 4 (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) มีคําวินิจฉัยยกคําอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

โดยสรุป เมื่อเจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครอง ได้ปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำลําแม่น้ำ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ย่อมเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 117 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 การที่เจ้าท่ามีคําสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กําหนดตามมาตรา 118 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คําสําคัญ : อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อใช้สําหรับวิถีชุมชนดั้งเดิม การอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำ ลําแม่น้ำเกินความจําเป็นการสร้างโฮมสเตย์ล่วงล้ำลําแม่น้ำ/คําสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ำลําแม่น้ำ

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อส. 21/2560

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

คําสั่งไม่รับคําขอจดแจ้งรายการภาระจํายอมในโฉนดที่ดินแปลงสามยทรัพย์ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

คําสั่งไม่รับคําขอจดแจ้งรายการภาระจํายอมในโฉนดที่ดินแปลงสามยทรัพย์

ที่ดิน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 1299 มาตรา 1301 และมาตรา 1387)
  2. ระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับภาระจํายอม ในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น พ.ศ. 2550 (ข้อ 14 วรรคหนึ่ง)

ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงภารยทรัพย์กับผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน แปลงสามยทรัพย์ ได้ทําบันทึกข้อตกลงภาระจํายอมบางส่วน ตกลงยินยอมให้ที่ดินบางส่วนทางด้านทิศใต้ตกอยู่ในบังคับภาระจํายอมเรื่องทางเดิน ทางรถยนต์ ไฟฟ้า ประปา และสาธารณูปโภคอื่น อันเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้มาซึ่งภาระจํายอมตามมาตรา 1387 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยนิติกรรม ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ประเภทภาระจํายอมในสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินแปลงภารยทรัพย์ การได้มาซึ่งสิทธิในภาระจํายอม ของผู้ฟ้องคดีย่อมบริบูรณ์ใช้ยันต่อบุคคลภายนอกได้ตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่มีความจําเป็นที่จะต้องมีการจดทะเบียนไว้ในโฉนดที่ดินแปลงสามยทรัพย์ ของผู้ฟ้องคดี อย่างไรก็ตาม ข้อ 14 วรรคหนึ่ง ของระเบียบกรมที่ดิน ว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมเกี่ยวกับภาระจํายอมในที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น พ.ศ. 2550 ได้กําหนดไว้ว่า การจดทะเบียนภาระจํายอม ถ้าคู่กรณีประสงค์จะจดไว้ในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ด้วย พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถรับจดทะเบียนในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ได้ อันเป็นกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่จะรับจดทะเบียนภาระจํายอมในหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ได้ต่อเมื่อคู่กรณีมีคําขอ ดังนั้น เมื่อต่อมาผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคําขอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ขอให้จดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมประเภทภาระจํายอม เพื่อจดแจ้งรายการจดทะเบียนภาระจํายอมตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวลงในโฉนดที่ดินแปลงสามยทรัพย์ของผู้ฟ้องคดีด้วย โดยเป็นการยื่นคําร้องฝ่ายเดียว ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงภารยทรัพย์ไม่ได้ไปด้วย โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคําสั่งไม่รับคําขอจดแจ้งรายการจดทะเบียนภาระจํายอมในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ของผู้ฟ้องคดี กรณีจึงเป็นการออกคําสั่ง โดยชอบด้วยข้อ 14 วรรคหนึ่ง ของระเบียบกรมที่ดินดังกล่าวแล้ว และการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) วินิจฉัยยกอุทธรณ์ผู้ฟ้องคดี ย่อมชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

แม้การได้มาซึ่งภาระจํายอมจะมีผลโดยบริบูรณ์ เมื่อมีการจดทะเบียนในที่ดิน แปลงภารยทรัพย์ตามมาตรา 1299 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็ตาม แต่การจดทะเบียนภาระจํายอมในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ถือได้ว่าเป็นการรับรองสิทธิในภาระจํายอมที่เจ้าของที่ดินแปลงสามยทรัพย์มีอยู่เหนือที่ดินแปลงภารยทรัพย์ ซึ่งสามารถยกขึ้นกล่าวอ้าง กับบุคคลอื่นได้ตามกฎหมาย อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลง ระงับ หรือกลับคืนมาซึ่งภาระจํายอมจะมีผล บังคับโดยบริบูรณ์ตามกฎหมายก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ตามมาตรา 1301 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกภาระจํายอม นอกจากจะต้องมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกในที่ดินแปลงภารยทรัพย์แล้ว ก็จะต้องมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ด้วย เจ้าของที่ดินแปลงภารยทรัพย์ จึงจะสามารถยกขึ้นกล่าวอ้างต่อบุคคลอื่นได้ตามกฎหมาย กรณีจึงเห็นได้ว่า การจดทะเบียนภาระจํายอมในที่ดินแปลงสามยทรัพย์มีผลกระทบต่อสิทธิของเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ด้วย คู่กรณีที่จะแสดง ความประสงค์ในการขอจดทะเบียนภาระจํายอมในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ จึงหมายถึง ทั้งเจ้าของที่ดินแปลงสามยทรัพย์และแปลงภารยทรัพย์

โดยสรุป พนักงานเจ้าหน้าที่จะสามารถรับคําขอจดแจ้งรายการจดทะเบียนภาระจํายอมในที่ดินแปลงสามยทรัพย์ได้ ก็ต่อเมื่อคู่กรณีมีคําขอ โดยคู่กรณี หมายถึง ทั้งเจ้าของที่ดินแปลงสามยทรัพย์และแปลงภารยทรัพย์ เจ้าของที่ดินแปลงสามยทรัพย์จึงไม่อาจไปยื่นคําขอเพียงฝ่ายเดียวได้

คําสําคัญ : การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน/การจดทะเบียนภาระจํายอม

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 336/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

คําสั่งของเจ้าท่า ให้บุคคลปรับสภาพที่ดินให้มีสภาพตื้นเขินดังเดิม | เรื่องเด่น คดีปกครอง

คําสั่งของเจ้าท่าให้บุคคลปรับสภาพที่ดินให้มีสภาพตื้นเขินดังเดิม

การคมนาคมและการขนส่ง : กรณีฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคําสั่งที่ให้ดําเนินการปรับสภาพพื้นที่ดิน บริเวณคลองขวางให้เป็นไปตามสภาพที่ตื้นเขินดังเดิม

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 1304 (2))
  2. ประมวลกฎหมายที่ดิน (มาตรา 8 วรรคสอง (1))
  3. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 (มาตรา 38)
  4. พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 (มาตรา 3 มาตรา 117 มาตรา 118 ทวิ มาตรา 119 และมาตรา 120)

คลองขวางเป็นคลองสาธารณประโยชน์ซึ่งในอดีตประชาชนได้ใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำและส่งน้ำเข้าไปในพื้นที่ทําการเกษตร จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สิน สําหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ปัจจุบันคลองขวางจะเกิดการตื้นเขิน เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างพาดทับ ทําให้น้ำไม่สามารถไหลผ่านไปสู่แม่น้ำ เจ้าพระยาได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการถอนสภาพพื้นที่ดินบริเวณดังกล่าวหรือโอนไปใช้เพื่อการอย่างอื่นให้พ้นสภาพจากการเป็นทางน้ำสําหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามมาตรา 8 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน คลองขวางย่อมยังคงมีสภาพเป็นทางน้ำสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสําหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โดยเจ้าท่ามีอํานาจหน้าที่ในการดูแลรักษาตามพระราชบัญญัติ การเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2556

ปัจจุบันคําว่า “เจ้าท่า”ตามบทนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือ ในน่านน้ำไทยฯ หมายถึง อธิบดีกรมเจ้าท่า และบุคคลซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่ามอบหมาย อันเป็นกรณี ที่มีกฎหมายกําหนดเรื่องการมอบอํานาจไว้เป็นการเฉพาะแล้ว อธิบดีกรมเจ้าท่าอาจมอบหมาย ให้บุคคลอื่นเป็นเจ้าท่าได้ตามที่เห็นสมควร และเมื่ออธิบดีกรมเจ้าท่าได้มอบหมายให้บุคคลใด ทําหน้าที่เป็น “เจ้าท่า” แล้ว บุคคลนั้นย่อมมีอํานาจหน้าที่ในส่วนที่ได้รับมอบหมายตามที่กฎหมาย บัญญัติไว้ดังเช่นเป็นอํานาจของตนเอง บุคคลซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่ามอบหมาย จึงมีฐานะเป็น “เจ้าท่า” ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ เช่นเดียวกับอธิบดีกรมเจ้าท่า และไม่ถือว่าเป็น การปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า การมอบหมายดังกล่าวมิใช่เรื่องการมอบอํานาจตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ที่เป็นการมอบอํานาจให้บุคคลซึ่งดํารงตําแหน่งอื่น ปฏิบัติราชการแทนเจ้าของอํานาจ อันจะทําให้ผู้มอบอํานาจสามารถวางแนวทาง กําหนดรายละเอียด และกํากับดูแลการปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องกับการมอบอํานาจนั้นได้ ดังนั้น เมื่ออธิบดีกรมเจ้าท่า ได้มีคําสั่งที่ 442/2547 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 โดยข้อ 2 ของคําสั่งดังกล่าวได้กําหนด มอบอํานาจ “เจ้าท่า” ในการอนุญาตให้ขุดลอก ดูแลรักษาร่องน้ำทางเรือเดิน สําหรับร่องน้ำภายในประเทศ ที่เป็นบึง ลําคลอง แม่น้ำ ขนาดเล็กที่มีพื้นที่อยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ เพียงแห่งเดียว และร่องน้ำชายฝั่งทะเลขนาดเล็ก รวมถึงการดําเนินคดีกับผู้กระทําความผิดตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 ให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น จึงเป็นกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนตําบลบ้านกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ในฐานะผู้แทน ขององค์การบริหารส่วนตําบลบ้านกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจ้าท่า ให้ทําหน้าที่เป็น “เจ้าท่า” ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีอํานาจหน้าที่ในการดูแลรักษาคลองขวางซึ่งเป็น คลองสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในเขตพื้นที่ของตนตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ มิใช่ การปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่าที่จะต้องกระทําภายใต้การกํากับดูแลของอธิบดีกรมเจ้าท่า

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ถมดินในคลองขวางบริเวณส่วนที่ผ่านที่ดิน ของผู้ฟ้องคดีและปลูกสร้างบ้านพักคนงานรุกล้ําเข้าไปในคลองขวาง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีคําสั่ง ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ําคลองขวาง และต่อมาสํานักงานการขนส่งทางน้ำที่ 2 สาขานนทบุรี ตรวจสอบพบว่า ผู้ฟ้องคดีได้ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ําเข้าไปในคลองขวางลักษณะเป็นการถมดินเต็มพื้นที่คลองขวางบริเวณหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 หัวหน้า สํานักงานการขนส่งทางน้ำที่ 2 สาขานนทบุรี ผู้ได้รับมอบอํานาจจากอธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะเจ้าท่า จึงอาศัยอํานาจตามมาตรา 118 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มีคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งอื่นใดที่ล่วงล้ําเข้าไปในคลองขวาง และปรับสภาพพื้นที่ให้เป็นไปตามสภาพเดิมของคลองขวาง ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติตามคําสั่งโดยทําการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ําเข้าไปในคลองขวาง พร้อมทั้งขุดดิน ออกจากคลองขวางแล้วปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพคลองดังเดิม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เห็นว่า ผู้ฟ้องคดี ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามคําสั่ง เนื่องจากมิได้สั่งให้ผู้ฟ้องคดีขุดดินออกจากคลองขวาง จึงได้มีคําสั่ง ให้ผู้ฟ้องคดีดําเนินการปรับสภาพพื้นที่ดินบริเวณคลองขวางให้เป็นไปตามสภาพที่ตื้นเขินดังเดิม กรณีย่อมเห็นได้ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคําสั่งดังกล่าวเป็นการออกคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทํา ด้วยประการใด ๆ ให้คลองขวางเกิดการตื้นเขิน และเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ซึ่งไม่สอดคล้องกับอํานาจหน้าที่ ในฐานะ “เจ้าท่า” ในการดูแลรักษาคลองขวาง อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชน ใช้ประโยชน์ร่วมกันตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 117 มาตรา 118 ทวิ มาตรา 119 และมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการเดินเรือหรือการสัญจรทางน้ำให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนควบคุมมิให้มีการกระทําใด ๆ ที่อาจจะเป็นการกีดขวางหรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือหรือการสัญจร ทางน้ำของประชาชน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และมีลักษณะเป็นการสร้างภาระให้เกิดกับ ผู้ฟ้องคดีเกินสมควรแก่เหตุ

โดยสรุป การที่บุคคลผู้ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำคลองสาธารณประโยชน์ได้ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าท่า โดยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป พร้อมทั้งได้ขุดดินเพื่อปรับสภาพให้กลับเป็นคลองด้วย แต่เจ้าท่าได้มีคําสั่งให้บุคคลดังกล่าวปรับสภาพที่ดินให้มีสภาพตื้นเขินดังเดิม ซึ่งเป็นคําสั่งที่ไม่สอดคล้องกับอํานาจหน้าที่ในฐานะเจ้าท่า และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ย่อมเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบและเป็นการสร้างภาระเกินสมควรแก่เหตุ

คําสําคัญ : คลองสาธารณประโยชน์/สาธารณสมบัติของแผ่นดินสําหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน/บุคคลซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่ามอบหมายให้ทําหน้าที่เป็นเจ้าท่า การใช้ดุลพินิจในการออกคําสั่งโดยมิชอบ/ คําสั่งที่มีลักษณะเป็นการสร้างภาระเกินสมควรแก่เหตุ

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 663/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

การพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนส่วนบุคคล | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนส่วนบุคคล

งานทะเบียน (งานทะเบียนอาวุธปืน) : การพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนส่วนบุคคล

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น
  2. พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 (มาตรา 7 และมาตรา 9)
  3. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (มาตรา 30 และมาตรา 45 วรรคสอง)

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ซื้ออาวุธปืนชนิดกึ่งอัตโนมัติ ขนาด 9 มม. ยี่ห้อกล็อก รุ่น 19 GEN 4 ตามโครงการสวัสดิการอาวุธปืนสํานักงานศาลยุติธรรม และได้ยื่นคําร้องขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป. 1) แต่นายทะเบียนอาวุธปืนอําเภอเมืองยะลา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ได้ตรวจสอบการอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป. 4) จากต้นขั้วและฐานข้อมูลทะเบียนอาวุธปืนแล้ว ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีเคยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนมาก่อนแล้วจํานวน 5 กระบอก ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 จึงมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีมีและใช้อาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.3) ตามคําขอ ของผู้ฟ้องคดี โดยมิได้มีการให้โอกาสผู้ฟ้องคดีได้รับทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน ก่อนการออกคําสั่งนั้น เมื่อการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีมีและใช้อาวุธปืนเป็นอํานาจของนายทะเบียนท้องที่ซึ่งต้องใช้ดุลพินิจประกอบกับวัตถุประสงค์ในการอนุญาตให้บุคคลทั่วไปมีและใช้อาวุธปืนตามมาตรา 7 ประกอบมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียม อาวุธปืน พ.ศ. 2490 แม้ผู้ฟ้องคดีจะได้รับสิทธิให้ซื้ออาวุธปืนตามโครงการสวัสดิการอาวุธปืนของ ศาลยุติธรรม ก็เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีคุณสมบัติและเข้าเงื่อนไขตามโครงการสวัสดิการอาวุธปืนดังกล่าวเท่านั้น หาได้มีผลผูกพันให้นายทะเบียนท้องที่จะต้องมีคําสั่งอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีไม่ อีกทั้ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับขณะนั้น ไม่มีบทบัญญัติในหมวด สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หรือในหมวดอื่นใดที่บัญญัติรับรองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลในอันที่จะซื้อ มี และใช้อาวุธปืนไว้แต่อย่างใด ประกอบกับอาวุธปืนเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศและความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่อาจถือว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รับรองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ในอันที่จะซื้อ มี และใช้อาวุธปืนได้โดยปริยาย และเมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้มีสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่จะซื้อ มี และใช้อาวุธปืนดังกล่าว การที่ผู้ฟ้องคดียื่นคําขอใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน จึงเป็นการยื่น คําขอรับสิทธิมีและใช้อาวุธปืน ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่เคยมีสิทธิดังกล่าวมาก่อน การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปฏิเสธ ไม่ออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนตามคําขอของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นแต่เพียงการยืนยันถึงความไม่มีสิทธิที่จะมีและใช้อาวุธปืนของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น หาได้มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นคู่กรณีในกระบวนการ พิจารณาทางปกครองเพื่อออกคําสั่งทางปกครองแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่จําต้องแจ้งข้อเท็จจริง ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนการออกคําสั่ง ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังนั้น คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีมีหรือใช้อาวุธปืนดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ไม่ได้กําหนดระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะ กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 45 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ผู้มีอํานาจพิจารณาอุทธรณ์มิได้พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีภายในกําหนดเวลา 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคําอุทธรณ์ และมิได้มีหนังสือแจ้งขยาย ระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่ กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

โดยสรุป การมีและใช้อาวุธปืนมิใช่สิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง แม้บุคคลผู้ยื่นคําขอรับใบอนุญาต จะไม่มีเหตุต้องห้าม นายทะเบียนท้องที่ก็มีดุลพินิจพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต หากพิจารณาแล้วมีคําสั่งไม่อนุญาต ก็ไม่จําต้องให้โอกาสผู้ขออนุญาตได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนการออกคําสั่งแต่อย่างใด

คําสําคัญ : ขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน/สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ/ดุลพินิจ/อํานาจนายทะเบียนท้องที่/ระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 130/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง

ประกาศกรมชลประทาน เรื่อง กําหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่ตําบลไร่หลักทอง ตําบลบ้านช้าง ตำบลนาวังหิน ตําบลนาเริก ตําบลหมอนนาง อําเภอพนัสนิคม และตําบลท่าบุญมี อําเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี เป็นกรณีมีเหตุจําเป็นเร่งด่วน

ประกาศกรมชลประทาน เรื่อง กําหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่ตําบลไร่หลักทอง ตําบลบ้านช้าง ตำบลนาวังหิน ตําบลนาเริก ตําบลหมอนนาง อําเภอพนัสนิคม และตําบลท่าบุญมี อําเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี เป็นกรณีมีเหตุจําเป็นเร่งด่วน

ทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีเวนคืน ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเวนคืน โทร. 063-6364547

act-137

ประกาศกรมชลประทาน เรื่อง กําหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่ตําบลไร่หลักทอง ตําบลบ้านช้าง ตำบลนาวังหิน ตําบลนาเริก ตําบลหมอนนาง อําเภอพนัสนิคม และตําบลท่าบุญมี อําเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี เป็นกรณีมีเหตุจําเป็นเร่งด่วน

ตามที่ได้มีการประกาศใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากําหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ ตําบลไร่หลักทอง ตําาบลบ้านช้าง ตําบลนาวังหิน ตําบลนาเริก ตําบลหมอนนาง อําเภอพนัสนิคม และตําบลท่าบุญมี อําเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2566 เพื่อประโยชน์แก่การชลประทาน ในการก่อสร้างคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำพร้อมอาคารประกอบ ตามโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดําริ จังหวัดชลบุรี นั้น

อธิบดีกรมชลประทานในฐานะเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 เห็นว่า การก่อสร้างคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำพร้อมอาคาร ประกอบตามโครงการดังกล่าวเป็นกรณีมีเหตุจําเป็นเร่งด่วนที่ถ้าปล่อยเนิ่นช้าไปจะเป็นอุปสรรคแก่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมหรือประโยชน์ของรัฐอันสําคัญอย่างอื่น

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 28 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืน และการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ประกอบกับมาตรา 11 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ การชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2530 กรมชลประทานโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ จึงกําหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกากําหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตําาบลไร่หลักทอง ตําาบลบ้านช้าง ตําบลนาวังหิน ตําบลนาเริก ตําบลหมอนนาง อําาเภอพนัสนิคม และตําบลท่าบุญมี อําเภอเกาะจันทร์ จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2566 เป็นกรณีมีเหตุจําเป็นเร่งด่วน เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจเข้าครอบครองหรือใช้อสังหาริมทรัพย์นั้นก่อนการเวนคืนโดยตราพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ เจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิได้รับเงิน ค่าทดแทน และในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยชอบด้วยกฎหมายไม่มารับเงิน ค่าทดแทน เจ้าหน้าที่จะวางเงินค่าทดแทนไว้ ณ ธนาคารออมสิน ในชื่อของผู้มีสิทธิได้รับเงิน ค่าทดแทนโดยแยกฝากเป็นบัญชีเฉพาะราย ก่อนเจ้าหน้าที่ดําเนินการเพื่อเข้าครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์ต่อไป

ประกาศ ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง

– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง