ทำท่อระบายน้ำแต่ไม่มีป้ายเตือน เมื่อเกิดอุบัติเหตุใครต้องรับผิดชอบ

ทำท่อระบายน้ำแต่ไม่มีป้ายเตือน เมื่อเกิดอุบัติเหตุใครต้องรับผิดชอบ

สวัสดีครับเรื่องเล่าคดีปกครองกับทนายพฤกษ์ คดีปกครอง ในตอนนี้จะนำเสนอในเรื่องเกี่ยวกับอุบัติเหตุจากการสัญจรในทางสาธารณะอันเนื่องมาจากการการก่อสร้างหรือซ่อมแซมท่อหรือทางระบายน้ำและไม่มีการติดตั้งป้ายหรือสัญญาณเตือน

ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เหตุเกิดจากเทศบาลได้ทำสัญญาจ้างบริษัทเอกชนซ่อมแซมท่อระบายน้ำในพื้นผิวถนน ต่อมาในเวลากลางคืนที่มีการซ่อมแซมท่อระบายน้ำที่ชำรุดบกพร่องตามสัญญา ผู้ฟ้องคดีได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ชนเข้ากับฝาท่อระบายน้ำที่ผู้รับจ้างวางขวางทางจราจรไว้ ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้ฟ้องคดีต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลและเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก จึงขอให้เทศบาลและผู้รับจ้างชดใช้ค่าเสียหาย แต่ก็ไม่ได้รับชดใช้ จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครองขอให้เทศบาลและผู้รับจ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิด

ซึ่งในคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า ผู้รับจ้างจากเทศบาลซึ่งมีหน้าที่ซ่อมแซมฝาท่อระบายน้ำตามสัญญาจ้างจะต้องดำเนินการจัดหาและติดตั้งสิ่งป้องกันอันตรายตามจุดต่างๆที่มีการซ่อมแซมให้เพียงพอ การไม่ติดตั้งสิ่งป้องกันอันตรายหรือเครื่องหมายสัญญาณไฟต่างๆ เพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้ทางให้ทราบว่ามีการซ่อมแซม จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามสัญญาโดยประมาทเลินเล่อ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ส่วนเทศบาลซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเอกชนถือเป็นการมอบหมายให้เอกชนผู้รับจ้างดำเนินกิจการทางปกครองแทน มิได้สอดส่องดูแลอย่างเพียงพอเพื่อให้เอกชนผู้รับจ้างมีการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญา เทศบาลจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ผู้รับจ้างกระทำต่อผู้ฟ้องคดี

สำหรับในคดีนี้มีประเด็นค่าสินไหมทดแทนที่ศาลปกครองสูงสุดได้กำหนดให้ตามคำขอของผู้ฟ้องคดี โดยให้เทศบาลและเอกชนผู้รับจ้างชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ได้แก่

  1. ค่ารักษาพยาบาล เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาการบาดเจ็บและฟื้นฟูซ่อมแซมอวัยวะที่กระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุอันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิด
  2. ค่าจ้างพยาบาลพิเศษเฝ้าไข้
  3. ค่าใช้จ่ายของญาติที่มาดูแลระหว่างเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล
  4. ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างเจ็บป่วย
  5. ค่าเสียหายเพื่อการเสียความสามารถในการประกอบการงานทั้งในเวลาปัจจุบันและอนาคต
  6. ค่าทนทุกข์ทรมานจากอาการบาดเจ็บและการรักษาพยาบาลนั้น

อย่างไรก็ตามในคดีนี้นอกเหนือจากศาลปกครองสูงสุดจะได้วินิจฉัยเกี่ยวกับการทำละเมิดของเทศบาลและผู้รับจ้างแล้ว ยังได้วินิจฉัยภาวะการขับขี่รถจักรยานยนต์ของผู้ฟ้องคดีด้วย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีขับขี่รถจักรยานยนต์มาด้วยความเร็วสูง หากผู้ฟ้องคดีชะลอรถจักรยานยนต์และไม่ขับขี่ด้วยความเร็วสูง ก็อาจไม่เกิดเหตุร้ายแรงถึงขนาดตามที่เกิดขึ้น การบาดเจ็บสาหัสจึงเป็นผลมาจากความผิดของผู้ฟ้องคดีรวมอยู่ด้วย แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีผลมาจากการละเลยต่อหน้าที่ของเทศบาลและเอกชนผู้รับจ้างมากกว่า จึงหักส่วนแห่งความประมาทของผู้ฟ้องคดีออกจากจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดให้ทั้งหมด

โดยสรุปจากเรื่องเล่าในตอนนี้นะครับ การละเลยต่อหน้าที่ตามสัญญาโดยประมาทเลินเล่อของเอกชนผู้รับจ้างตามสัญญา หากเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี เทศบาลซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างหากมิได้สอดส่องดูแลอย่างเพียงพอเพื่อให้เอกชนผู้รับจ้างมีการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญา เทศบาลจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ผู้รับจ้างได้กระทำนั้นด้วย

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง