การไต่สวนมูลฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

การไต่สวนมูลฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

ทนายความคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขอนำเสนอเรื่องเกี่ยวกับ การไต่สวนมูลฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

โดยการไต่สวนมูลฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ นั้น พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 17 วางหลักไว้ว่า การไต่สวนมูลฟ้องนั้น ให้ดำเนินการตามมาตรา 165 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สำหรับกรณีตามมาตรา 16 (2) ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับการไต่สวนมูลฟ้องกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์

ไม่ว่าจะเป็นคดีที่พนักงานอัยการหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์หรือคดีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ ก่อนเริ่มไต่สวนมูลฟ้อง ถ้าจำเลยมาศาล ให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้นำบทบัญญัติมาตรา 173 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ในการไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยอาจแถลงให้ศาลทราบถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล และจะระบุในคำแถลงถึงตัวบุคคล เอกสาร หรือวัตถุที่จะสนับสนุนข้อเท็จจริงตาม คำแถลงของจำเลยด้วยก็ได้ กรณีเช่นนี้ ศาลอาจเรียกบุคคล เอกสารหรือวัตถุดังกล่าวมาเป็นพยานศาลเพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งคดีได้ตามที่เห็นสมควร โดยโจทก์และจำเลยอาจถามพยานศาลได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาล

ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องที่พนักงานอัยการหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ได้

คำสั่งของศาลที่ว่าคดีมีมูลให้แสดงเหตุผลอย่างชัดเจนประกอบด้วย

ทั้งนี้ มาตรา 17 ดังกล่าวข้างต้น สรุปขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีดังนี้

1) การกำหนดให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 มาใช้นั้น เป็นการให้นำรูปแบบการไต่สวนมูลฟ้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 165 มาใช้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ส่วนกระบวนพิจารณาที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 บัญญัติไว้โดยเฉพาะ แตกต่างจากในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 17 วรรคสอง ว่า “หากจำเลยมาศาลต้องถามจำเลยว่า มีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 คือ ถ้าจำเลยมาศาลต้องตั้งทนายขอแรงให้ก่อนการไต่สวนมูลฟ้อง และนอกจากนี้ รูปแบบการไต่สวนพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบจะใช้ระบบไต่สวนเหมือนกับชั้นพิจารณา

2) ในการไต่สวนมูลฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ศาลคือผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนอาจมีคำสั่งมอบหมายให้เจ้าพนักงานคดีดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานในประเด็นแห่งคดีก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้องก็ได้ (ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ข้อ 16 วรรคหนึ่ง) ซึ่งกรณีที่ศาลมีคำสั่งเช่นนี้ ในทางปฏิบัติจะมีการกำหนดวันนัดตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน โดยเจ้าพนักงานคดี ก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้องและบางคดีอาจมีวันนัดตรวจพยานหลักฐานโดยผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะพิจารณาคดีนั้นก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้องแบบในชั้นพิจารณาก็ได้ตามที่ศาลเห็นสมควร

3) ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ หากโจทก์ไม่มาศาลโดยไม่มีเหตุ อันสมควร ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุจำเป็นต้องไต่สวนพยาน ศาลอาจไต่สวนพยานต่อไป กรณีนี้มิให้นำบทบัญญัติ มาตรา 166 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับ คือ ไม่ใช่ยกฟ้องทันทีถ้าโจทก์ไม่มา ทุกกรณีเหมือนคดีอาญาทั่วไป (ตามข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีการดำเนินคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ข้อ 13) แต่หากเห็นว่าไม่มีเหตุจำเป็นต้องไต่สวนพยานศาลจะยกฟ้องตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 เลยก็ได้
กรณีที่โจทก์ไม่มาในนัดไต่สวนมูลฟ้อง การที่ศาลจะมีคำสั่งให้ไต่สวนพยานหลักฐานต่อไปหรือไม่ ศาลจะคำนึงถึงคำฟ้องของโจทก์ว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะหรือไม่ หรือมีความเสียหายที่มีผลกระทบต่อรัฐ และพยานหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ในสำนวนเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีหรือไม่

4) ตามมาตรา 17 วรรคสาม ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จำเลยอาจแถลงให้ศาลทราบถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งว่าคดีไม่มีมูล และระบุในคำแถลงถึงตัวบุคคล เอกสาร หรือวัตถุที่จะสนับสนุนข้อเท็จจริงตามคำแถลงของจำเลยด้วยก็ได้ ซึ่งศาลอาจเรียกบุคคล เอกสาร หรือวัตถุดังกล่าวมาเป็นพยานศาลเพื่อประกอบการวินิจฉัยสั่งคดีได้โดยโจทก์และจำเลยจะถามพยานได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล

5) เมื่อมีการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว หากจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นไต่สวนมูลฟ้องให้ศาลมีคำสั่งประทับฟ้องไว้ทันที โดยไม่ต้องมีคำสั่งว่าคดีมีมูลหรือไม่มีมูล (ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 16 วรรคสอง)

ทนายคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พร้อมให้คำแนะนำในทุกขั้นตอนเกี่ยวกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547

ทนายพฤกษ์ คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

รูปแบบของคำฟ้องในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

รูปแบบของคำฟ้องในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

บทความนี้ทนายความคดีทุจริตและประพฤติมิชอบนำเสนอในเรื่องเกี่ยวกับ รูปแบบของคำฟ้องในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

โดยรูปแบบของคำฟ้องในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 15 บัญญัติให้การฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 158 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยมีข้อความเป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิดคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำความผิดพร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้

ทั้งนี้ มาตรา 15 ดังกล่าวข้างต้น สรุปรูปแบบคำฟ้องในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ มีดังนี้

1) ต้องทำเป็นหนังสือโดยโจทก์ไม่อาจฟ้องด้วยวาจาได้ แม้จะเป็นคดีที่มีอัตราโทษที่อยู่ในอำนาจศาลแขวงก็ตาม

2) ต้องมีข้อความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158

3) ต้องมีข้อความที่เป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิดคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวคือ คดีที่ฟ้องต้องมีข้อหาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 3

4) ต้องระบุพฤติการณ์ที่เป็นการกล่าวหาว่ากระทำความผิด

5) ต้องชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาได้ คือ การบรรยายให้เห็นว่ามีพยานหลักฐานใดที่เกี่ยวข้อง และเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง เพื่อจะนำมาสนับสนุนข้อเท็จจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง

ทนายคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พร้อมให้คำแนะนำในทุกขั้นตอนเกี่ยวกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547

ทนายพฤกษ์ คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

ผู้มีอำนาจฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

ผู้มีอำนาจฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

บทความนี้ทนายความคดีทุจริตและประพฤติมิชอบนำเสนอในเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณาผู้มีอำนาจฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 16 บัญญัติว่า ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลสั่งดังต่อไปนี้

(1) ในคดีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ หรือคดีนั้นอัยการสูงสุดหรือประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตาม (2) หรือ (3) แล้วแต่กรณี

(2) ในคดีที่พนักงานอัยการ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

(3) ในคดีที่อัยการสูงสุด หรือประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง

ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องตาม (1) หรือ (2) แล้ว ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา

โดยสรุป ผู้มีอำนาจฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ประกอบด้วย

(1) อัยการสูงสุด กรณีที่สำนวนการไต่สวนที่มาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยอัยการสูงสุดจะมอบอำนาจให้พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดีแทนอัยการสูงสุด

(2) พนักงานอัยการ กรณีสำนวนการไต่สวนที่รับมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ท. หรือพนักงานสอบสวน

(3) ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่ฟ้องอัยการสูงสุดเป็นจำเลย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 95

(4) คณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่อัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนการไต่สวนและคำวินิจฉัยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะฟ้องคดีได้

(5) ผู้เสียหาย กรณีเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย และเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดนั้น และกรณีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 152, 153, 154, 155, 156,158, 159, 162, 164, 165, และ 166 ที่ “รัฐ” เท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ โดยประชาชนทั่วไปฟ้องเองไม่ได้

ทนายคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พร้อมให้คำแนะนำในทุกขั้นตอนเกี่ยวกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547

ทนายพฤกษ์ คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

คดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

คดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

         ในการพิจารณาว่าคดีใดที่จะเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ นั้น ทนายความคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิจารณาตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดจั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ดังนี้

        “ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” หมายความว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค

        “คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ” หมายความว่า คดีดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะมีข้อหาหรือความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องกันรวมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม

         (1) คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น หรือความผิดอื่นอันเนื่องมาจากการประพฤติมิชอบ

         (2) คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงินที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดตาม (1) หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือกฎหมายอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ

         (3) คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษบุคคลในความผิดเกี่ยวกับการเรียก รับ ยอมจะรับ หรือให้ ขอให้รับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือการใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจหรือข่มขืนใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำใดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น

         (4) คดีอาญาที่ฟ้องขอให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลตามกฎหมายที่กำหนดให้เป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

         (5) คดีอาญาที่ฟ้องขอให้ลงโทษบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลตาม (1) ถึง (4) ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน หรือผู้สมคบ

         (6) คดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบหรือจงใจยื่นบัญชีและเอกสารดังกล่าวด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ

         (7) คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

         (8) กรณีที่มีการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องขอตาม (1) ถึง (7)

         ความในวรรคหนึ่ง มิให้รวมถึง

         (1) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

         (2) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว

         “ทุจริตต่อหน้าที่” หมายความว่า ทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น

         “ประพฤติมิชอบ” หมายความว่า การกระทำที่ไม่ใช่ทุจริตต่อหน้าที่ แต่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดโดยอาศัยเหตุที่มีตำแหน่งหรือหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งหรือมติของคณะรัฐมนตรี ที่มุ่งหมายจะควบคุมดูแลการรับ การเก็บรักษา หรือการใช้เงินหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน

         “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และให้หมายความรวมถึงเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย

         รวมถึงกรณีความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท บางบทไม่ใช่ข้อหาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ต้องรับพิจารณาพิพากษาทุกบท ตามมาตรา 8

         “มาตรา 8 ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบรับพิจารณาพิพากษาข้อหาความผิดบทอื่นไว้ด้วย”

         และกรณีความผิดหลายกรรม บางกรรมเป็นข้อหาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ รับพิจารณาพิพากษาทุกกรรม หรือไม่รับบางกรรมที่ไม่ใช่ข้อหาคดีทุจริตหรือประพฤติมิชอบก็ได้

         “มาตรา 9 ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันในความผิดที่เกี่ยวข้องกัน และบางกรรมไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบจะรับพิจารณาพิพากษาทุกกรรม หรือไม่รับพิจารณาพิพากษาเฉพาะกรรมใดกรรมหนึ่งหรือหลายกรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ยังศาลที่มีอำนาจก็ได้ ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงความสะดวกและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นสำคัญ”

       ดังนั้น โดยสรุปคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ได้แก่

  1. คดีที่เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
  2. คดีที่เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
  3. คดีที่เป็นความผิดฐานฟอกเงิน
  4. คดีที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
  5. คดีที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการเรียก รับ ยอมจะรับ หรือให้ ขอให้รับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือการใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้อิทธิพลเพื่อจูงใจหรือข่มขืนใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำใด
  6. คดีที่เกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
  7. คดีที่เกี่ยวกับการร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
  8. คดีที่การกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
  9. คดีที่ความผิดหลายกรรม บางกรรมเป็นข้อหาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ รับพิจารณาพิพากษาทุกกรรม หรือไม่รับบางกรรมที่ไม่ใช่ข้อหาคดีทุจริตหรือประพฤติมิชอบก็ได้

ทนายคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พร้อมให้คำแนะนำในทุกขั้นตอนเกี่ยวกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547

ทนายพฤกษ์ คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

เขตอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

เขตอำนาจศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

         บทความนี้ทนายความคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จะขอนำเสนอเรื่องอันเกี่ยวกับเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยในเขตอำนาจการรับผิดชอบคดีของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ประกอบด้วย

1) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร สำหรับคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตกรุงเทพมหานครจะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางก็ได้ แต่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจไม่รับไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 5 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559

2) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 1 ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดสระบุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ

3) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 2 ตั้งอยู่ที่จังหวัดระยอง มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดระยอง จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว

4) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 ตั้งอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดสุรินทร์ ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

5) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 4 ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครพนม บึงกาฬ มหาสารคาม มุกดาหาร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี

6) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 5 ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน

7) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 6 ตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดพิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี

8) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 7 ตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสงคราม กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร

9) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 8 ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช กระบี่ ชุมพร พังงา ภูเก็ต ระนอง และสุราษฎร์ธานี

10) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 ตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดสงขลา ตรัง นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา และสตูล

สำหรับคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย กฎหมายให้ชำระคดีนั้นที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แต่ถ้ามีการสอบสวนในท้องที่ที่อยู่ในเขตของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาคใดให้ชำระที่ศาลนั้นได้ด้วย ตามมาตรา 5 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559

ทนายคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พร้อมให้คำแนะนำในทุกขั้นตอนเกี่ยวกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547

ทนายพฤกษ์ คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ