มีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ก่อนวันที่ลูกหนี้ผิดนัดชําระหนี้ | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ก่อนวันที่ลูกหนี้ผิดนัดชําระหนี้

สัญญาทางปกครอง 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 686)

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผิดสัญญารับทุนและได้ทําหนังสือ รับสภาพหนี้ไว้ให้แก่ผู้ฟ้องคดี จํานวน 6 ฉบับ โดยฉบับแรก ลงวันที่ 22 กันยายน 2553 และต่อมา ฉบับที่สอง เป็นการขอปรับลดการผ่อนชําระหนี้ จากเดิมเดือนละไม่น้อยกว่า 5,000 บาท ลดเหลือ เดือนละไม่น้อยกว่า 2,000 บาท เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 เป็นต้นไป โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 10 มกราคม 2554 ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 ผิดนัดชําระหนี้และต้องรับผิดชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจํานวน 96,000 บาท นับแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป การผิดนัดชําระหนี้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเกิดขึ้นภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ คือ ภายหลังวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ผู้ฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ ที่จะต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน ให้ทราบถึงการผิดนัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ตามมาตรา 686 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว แต่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 ทวงถามให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ชดใช้เงินจํานวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ฟ้องคดีภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้รับหนังสือข้างต้นในวันที่ 9 สิงหาคม 2559 จึงเป็นการบอกกล่าวไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก่อนวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผิดนัดชําระหนี้ กรณีจึงมิใช่ การมีหนังสือบอกกล่าวตามมาตรา 686 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 20) และการที่ผู้ฟ้องคดีนําคดีนี้มาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2559 ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือบอกกล่าวถึงการผิดนัด ชําระหนี้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ทราบ ตามมาตรา 686 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวเช่นกัน เนื่องจากกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่า การบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันจะต้องทําเป็นหนังสือ ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้มีหนังสือบอกกล่าวถึงการผิดนัดชําระหนี้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันทราบ ผู้ฟ้องคดีจึงยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ร่วมรับผิดชําระหนี้ กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1

โดยสรุป การมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ค้ำประกันชําระหนี้ก่อนวันที่ลูกหนี้ผิดนัดชําระหนี้ไม่ถือเป็นการบอกกล่าวการผิดนัดของลูกหนี้ไปยังผู้ค้ำประกัน จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องผู้ค้ำประกัน

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 364/2565 (ประชุมใหญ่)

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายคดีปกครอง