คําสั่งของเจ้าท่า ให้บุคคลปรับสภาพที่ดินให้มีสภาพตื้นเขินดังเดิม | เรื่องเด่น คดีปกครอง

คําสั่งของเจ้าท่าให้บุคคลปรับสภาพที่ดินให้มีสภาพตื้นเขินดังเดิม

การคมนาคมและการขนส่ง : กรณีฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคําสั่งที่ให้ดําเนินการปรับสภาพพื้นที่ดิน บริเวณคลองขวางให้เป็นไปตามสภาพที่ตื้นเขินดังเดิม

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 1304 (2))
  2. ประมวลกฎหมายที่ดิน (มาตรา 8 วรรคสอง (1))
  3. พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 (มาตรา 38)
  4. พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ําไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 (มาตรา 3 มาตรา 117 มาตรา 118 ทวิ มาตรา 119 และมาตรา 120)

คลองขวางเป็นคลองสาธารณประโยชน์ซึ่งในอดีตประชาชนได้ใช้เป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำและส่งน้ำเข้าไปในพื้นที่ทําการเกษตร จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สิน สําหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามมาตรา 1304 (2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ปัจจุบันคลองขวางจะเกิดการตื้นเขิน เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้างพาดทับ ทําให้น้ำไม่สามารถไหลผ่านไปสู่แม่น้ำ เจ้าพระยาได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการถอนสภาพพื้นที่ดินบริเวณดังกล่าวหรือโอนไปใช้เพื่อการอย่างอื่นให้พ้นสภาพจากการเป็นทางน้ำสําหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันตามมาตรา 8 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน คลองขวางย่อมยังคงมีสภาพเป็นทางน้ำสาธารณะอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสําหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โดยเจ้าท่ามีอํานาจหน้าที่ในการดูแลรักษาตามพระราชบัญญัติ การเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2556

ปัจจุบันคําว่า “เจ้าท่า”ตามบทนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือ ในน่านน้ำไทยฯ หมายถึง อธิบดีกรมเจ้าท่า และบุคคลซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่ามอบหมาย อันเป็นกรณี ที่มีกฎหมายกําหนดเรื่องการมอบอํานาจไว้เป็นการเฉพาะแล้ว อธิบดีกรมเจ้าท่าอาจมอบหมาย ให้บุคคลอื่นเป็นเจ้าท่าได้ตามที่เห็นสมควร และเมื่ออธิบดีกรมเจ้าท่าได้มอบหมายให้บุคคลใด ทําหน้าที่เป็น “เจ้าท่า” แล้ว บุคคลนั้นย่อมมีอํานาจหน้าที่ในส่วนที่ได้รับมอบหมายตามที่กฎหมาย บัญญัติไว้ดังเช่นเป็นอํานาจของตนเอง บุคคลซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่ามอบหมาย จึงมีฐานะเป็น “เจ้าท่า” ตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ เช่นเดียวกับอธิบดีกรมเจ้าท่า และไม่ถือว่าเป็น การปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า การมอบหมายดังกล่าวมิใช่เรื่องการมอบอํานาจตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ที่เป็นการมอบอํานาจให้บุคคลซึ่งดํารงตําแหน่งอื่น ปฏิบัติราชการแทนเจ้าของอํานาจ อันจะทําให้ผู้มอบอํานาจสามารถวางแนวทาง กําหนดรายละเอียด และกํากับดูแลการปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องกับการมอบอํานาจนั้นได้ ดังนั้น เมื่ออธิบดีกรมเจ้าท่า ได้มีคําสั่งที่ 442/2547 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2547 โดยข้อ 2 ของคําสั่งดังกล่าวได้กําหนด มอบอํานาจ “เจ้าท่า” ในการอนุญาตให้ขุดลอก ดูแลรักษาร่องน้ำทางเรือเดิน สําหรับร่องน้ำภายในประเทศ ที่เป็นบึง ลําคลอง แม่น้ำ ขนาดเล็กที่มีพื้นที่อยู่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ๆ เพียงแห่งเดียว และร่องน้ำชายฝั่งทะเลขนาดเล็ก รวมถึงการดําเนินคดีกับผู้กระทําความผิดตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 ให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น จึงเป็นกรณีที่นายกองค์การบริหารส่วนตําบลบ้านกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ในฐานะผู้แทน ขององค์การบริหารส่วนตําบลบ้านกลาง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจ้าท่า ให้ทําหน้าที่เป็น “เจ้าท่า” ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีอํานาจหน้าที่ในการดูแลรักษาคลองขวางซึ่งเป็น คลองสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในเขตพื้นที่ของตนตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทยฯ มิใช่ การปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่าที่จะต้องกระทําภายใต้การกํากับดูแลของอธิบดีกรมเจ้าท่า

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้ถมดินในคลองขวางบริเวณส่วนที่ผ่านที่ดิน ของผู้ฟ้องคดีและปลูกสร้างบ้านพักคนงานรุกล้ําเข้าไปในคลองขวาง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีคําสั่ง ให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ําคลองขวาง และต่อมาสํานักงานการขนส่งทางน้ำที่ 2 สาขานนทบุรี ตรวจสอบพบว่า ผู้ฟ้องคดีได้ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ําเข้าไปในคลองขวางลักษณะเป็นการถมดินเต็มพื้นที่คลองขวางบริเวณหน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 หัวหน้า สํานักงานการขนส่งทางน้ำที่ 2 สาขานนทบุรี ผู้ได้รับมอบอํานาจจากอธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะเจ้าท่า จึงอาศัยอํานาจตามมาตรา 118 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว มีคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งอื่นใดที่ล่วงล้ําเข้าไปในคลองขวาง และปรับสภาพพื้นที่ให้เป็นไปตามสภาพเดิมของคลองขวาง ผู้ฟ้องคดีได้ปฏิบัติตามคําสั่งโดยทําการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ล่วงล้ําเข้าไปในคลองขวาง พร้อมทั้งขุดดิน ออกจากคลองขวางแล้วปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพคลองดังเดิม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เห็นว่า ผู้ฟ้องคดี ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามคําสั่ง เนื่องจากมิได้สั่งให้ผู้ฟ้องคดีขุดดินออกจากคลองขวาง จึงได้มีคําสั่ง ให้ผู้ฟ้องคดีดําเนินการปรับสภาพพื้นที่ดินบริเวณคลองขวางให้เป็นไปตามสภาพที่ตื้นเขินดังเดิม กรณีย่อมเห็นได้ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคําสั่งดังกล่าวเป็นการออกคําสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทํา ด้วยประการใด ๆ ให้คลองขวางเกิดการตื้นเขิน และเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ซึ่งไม่สอดคล้องกับอํานาจหน้าที่ ในฐานะ “เจ้าท่า” ในการดูแลรักษาคลองขวาง อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชน ใช้ประโยชน์ร่วมกันตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 117 มาตรา 118 ทวิ มาตรา 119 และมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการเดินเรือหรือการสัญจรทางน้ำให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ตลอดจนควบคุมมิให้มีการกระทําใด ๆ ที่อาจจะเป็นการกีดขวางหรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือหรือการสัญจร ทางน้ำของประชาชน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ และมีลักษณะเป็นการสร้างภาระให้เกิดกับ ผู้ฟ้องคดีเกินสมควรแก่เหตุ

โดยสรุป การที่บุคคลผู้ปลูกสร้างอาคารรุกล้ำคลองสาธารณประโยชน์ได้ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าท่า โดยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป พร้อมทั้งได้ขุดดินเพื่อปรับสภาพให้กลับเป็นคลองด้วย แต่เจ้าท่าได้มีคําสั่งให้บุคคลดังกล่าวปรับสภาพที่ดินให้มีสภาพตื้นเขินดังเดิม ซึ่งเป็นคําสั่งที่ไม่สอดคล้องกับอํานาจหน้าที่ในฐานะเจ้าท่า และไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย ย่อมเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบและเป็นการสร้างภาระเกินสมควรแก่เหตุ

คําสําคัญ : คลองสาธารณประโยชน์/สาธารณสมบัติของแผ่นดินสําหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน/บุคคลซึ่งอธิบดีกรมเจ้าท่ามอบหมายให้ทําหน้าที่เป็นเจ้าท่า การใช้ดุลพินิจในการออกคําสั่งโดยมิชอบ/ คําสั่งที่มีลักษณะเป็นการสร้างภาระเกินสมควรแก่เหตุ

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 663/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง