การพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนส่วนบุคคล | เรื่องเด่น คดีปกครอง

การพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนส่วนบุคคล

งานทะเบียน (งานทะเบียนอาวุธปืน) : การพิจารณาออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนส่วนบุคคล

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น
  2. พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 (มาตรา 7 และมาตรา 9)
  3. พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (มาตรา 30 และมาตรา 45 วรรคสอง)

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ซื้ออาวุธปืนชนิดกึ่งอัตโนมัติ ขนาด 9 มม. ยี่ห้อกล็อก รุ่น 19 GEN 4 ตามโครงการสวัสดิการอาวุธปืนสํานักงานศาลยุติธรรม และได้ยื่นคําร้องขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน หรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป. 1) แต่นายทะเบียนอาวุธปืนอําเภอเมืองยะลา (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ได้ตรวจสอบการอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป. 4) จากต้นขั้วและฐานข้อมูลทะเบียนอาวุธปืนแล้ว ปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีเคยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนมาก่อนแล้วจํานวน 5 กระบอก ผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 จึงมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีมีและใช้อาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนส่วนบุคคล (แบบ ป.3) ตามคําขอ ของผู้ฟ้องคดี โดยมิได้มีการให้โอกาสผู้ฟ้องคดีได้รับทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน ก่อนการออกคําสั่งนั้น เมื่อการพิจารณาอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีมีและใช้อาวุธปืนเป็นอํานาจของนายทะเบียนท้องที่ซึ่งต้องใช้ดุลพินิจประกอบกับวัตถุประสงค์ในการอนุญาตให้บุคคลทั่วไปมีและใช้อาวุธปืนตามมาตรา 7 ประกอบมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียม อาวุธปืน พ.ศ. 2490 แม้ผู้ฟ้องคดีจะได้รับสิทธิให้ซื้ออาวุธปืนตามโครงการสวัสดิการอาวุธปืนของ ศาลยุติธรรม ก็เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีคุณสมบัติและเข้าเงื่อนไขตามโครงการสวัสดิการอาวุธปืนดังกล่าวเท่านั้น หาได้มีผลผูกพันให้นายทะเบียนท้องที่จะต้องมีคําสั่งอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีไม่ อีกทั้ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับขณะนั้น ไม่มีบทบัญญัติในหมวด สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หรือในหมวดอื่นใดที่บัญญัติรับรองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลในอันที่จะซื้อ มี และใช้อาวุธปืนไว้แต่อย่างใด ประกอบกับอาวุธปืนเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน และเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศและความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่อาจถือว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 รับรองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ในอันที่จะซื้อ มี และใช้อาวุธปืนได้โดยปริยาย และเมื่อผู้ฟ้องคดีมิได้มีสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่จะซื้อ มี และใช้อาวุธปืนดังกล่าว การที่ผู้ฟ้องคดียื่นคําขอใบอนุญาตมีและใช้อาวุธปืน จึงเป็นการยื่น คําขอรับสิทธิมีและใช้อาวุธปืน ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่เคยมีสิทธิดังกล่าวมาก่อน การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปฏิเสธ ไม่ออกใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนตามคําขอของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นแต่เพียงการยืนยันถึงความไม่มีสิทธิที่จะมีและใช้อาวุธปืนของผู้ฟ้องคดีเท่านั้น หาได้มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นคู่กรณีในกระบวนการ พิจารณาทางปกครองเพื่อออกคําสั่งทางปกครองแต่อย่างใด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่จําต้องแจ้งข้อเท็จจริง ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีมีโอกาสโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนการออกคําสั่ง ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังนั้น คําสั่งของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีมีหรือใช้อาวุธปืนดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 ไม่ได้กําหนดระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะ กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 45 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ผู้มีอํานาจพิจารณาอุทธรณ์มิได้พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีภายในกําหนดเวลา 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคําอุทธรณ์ และมิได้มีหนังสือแจ้งขยาย ระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ จึงถือว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่ กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

โดยสรุป การมีและใช้อาวุธปืนมิใช่สิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง แม้บุคคลผู้ยื่นคําขอรับใบอนุญาต จะไม่มีเหตุต้องห้าม นายทะเบียนท้องที่ก็มีดุลพินิจพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต หากพิจารณาแล้วมีคําสั่งไม่อนุญาต ก็ไม่จําต้องให้โอกาสผู้ขออนุญาตได้โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนก่อนการออกคําสั่งแต่อย่างใด

คําสําคัญ : ขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน/สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ/ดุลพินิจ/อํานาจนายทะเบียนท้องที่/ระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์

คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อร. 130/2565

ที่มา : สสค.

———————————————

ทนายพฤกษ์ คดีปกครอง
– ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547
– Line: @prueklaw 

สำนักงานกฎหมาย พฤกษ์ แอนด์ พาร์ทเนอร์
สำนักงานทนายความคดีปกครอง ทนายความคดีปกครอง