ผู้มีอำนาจฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

ผู้มีอำนาจฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ

บทความนี้ทนายความคดีทุจริตและประพฤติมิชอบนำเสนอในเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณาผู้มีอำนาจฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 16 บัญญัติว่า ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลสั่งดังต่อไปนี้

(1) ในคดีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นโจทก์ หรือคดีนั้นอัยการสูงสุดหรือประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตาม (2) หรือ (3) แล้วแต่กรณี

(2) ในคดีที่พนักงานอัยการ หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

(3) ในคดีที่อัยการสูงสุด หรือประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง

ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องตาม (1) หรือ (2) แล้ว ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา

โดยสรุป ผู้มีอำนาจฟ้องคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ประกอบด้วย

(1) อัยการสูงสุด กรณีที่สำนวนการไต่สวนที่มาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยอัยการสูงสุดจะมอบอำนาจให้พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดีแทนอัยการสูงสุด

(2) พนักงานอัยการ กรณีสำนวนการไต่สวนที่รับมาจากคณะกรรมการ ป.ป.ท. หรือพนักงานสอบสวน

(3) ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่ฟ้องอัยการสูงสุดเป็นจำเลย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 95

(4) คณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่อัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนการไต่สวนและคำวินิจฉัยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะฟ้องคดีได้

(5) ผู้เสียหาย กรณีเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย และเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดนั้น และกรณีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 152, 153, 154, 155, 156,158, 159, 162, 164, 165, และ 166 ที่ “รัฐ” เท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้ โดยประชาชนทั่วไปฟ้องเองไม่ได้

ทนายคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พร้อมให้คำแนะนำในทุกขั้นตอนเกี่ยวกับคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ปรึกษาคดี ติดต่อ 063-6364547

ทนายพฤกษ์ คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ