เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง ตอนที่ 1
ในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น นอกเหนือจากการพิจารณาว่าคดีนั้นอยู่ในอำนาจของศาลปกครองแล้ว สิ่งสำคัญประการต่อมาที่ต้องพิจารณา ก็คือเรื่องเงื่อนไขเกี่ยวกับการฟ้องคดีปกครอง โดยเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองนั้น เป็นสาระสำคัญที่ศาลปกครองต้องพิจารณาในเบื้องต้นว่า คดีที่ฟ้องต่อศาลปกครองนั้น ศาลจะสามารถรับคำฟ้องดังกล่าวไว้พิจารณาได้หรือไม่ ซึ่งเงื่อนไขในการฟ้องคดีมีดังต่อไปนี้
1. คำฟ้องที่ยื่นต่อศาลปกครอง
คำฟ้องที่ยื่นต่อศาลนั้นแม้กฎหมายจะมิได้กำหนดแบบของคำฟ้องไว้ แต่ก็ต้องมีรายการตามที่กฎหมายกำหนด โดยลักษณะของคำฟ้องนั้น ต้องทำเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพและอย่างน้อยต้องมีรายการ
1.1 ชื่อที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี
1.2 ชื่อผู้ถูกฟ้องคดี (หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ)
1.3 การกระทำที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี พร้อมข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์
1.4 คำขอของผู้ฟ้องคดี โดยต้องเป็นคำขอที่ศาลออกคำบังคับให้ได้
1.5 ลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดี
2. ต้องเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี
2.1 ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือเป็นผู้เสียหายในคดีที่ฟ้องนั้น โดยผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีแยกเป็น 2 ประเภท คือ
– คดีฟ้องเพิกถอนกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือละเลยล่าช้า ใช้หลักผู้เสียหายอย่างกว้างคือ เพียงได้รับความกระทบกระเทือนจากการกระทำนั้น ก็ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย
– คดีละเมิดหรือสัญญาทางปกครอง ใช้หลักผู้เสียหายอย่างแคบ คือ ต้องถูกโต้แย้งสิทธิในเรื่องที่จะฟ้องนั้น โดยต้องเป็นคู่สัญญาหรือผู้ถูกกระทำละเมิดโดยตรง นอกจากเป็นคู่สัญญาแล้วยังต้องถูกโต้แย้งสิทธิแล้วเท่านั้น
2.2 ผู้ตรวจการแผ่นดิน
อ่านต่อ : เงื่อนไขการเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายในคดีปกครอง
3. ต้องดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้ว
3.1 กรณีมีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายไว้โดยเฉพาะ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายเฉพาะกำหนด
3.2 กรณีไม่มีกฎหมายกาหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายไว้โดยเฉพาะ ต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ตามกฎหมายทั่วไป ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
อ่านต่อ : เงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดก่อนการฟ้องคดีปกครอง
ข้อยกเว้นไม่ต้องอุทธรณ์ต่อฝ่ายปกครองก่อนฟ้องคดี
(1) กรณีฟ้องเพิกถอน กฎ
(2) คำสั่งทางปกครองที่ออกโดยรัฐมนตรี (มาตรา 44 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539)
(3) คำสั่งทางปกครองของบรรดาคณะกรรมการต่างๆ ไม่ว่าจะจัดตั้ง ขึ้นตามกฎหมายหรือไม่ (มาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติ ราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539)
(4) ไม่ใช่คู่กรณี (มาตรา 44 พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทาง ปกครอง พ.ศ. 2539)
(5) คำสั่งทั่วไป หรือคำสั่งอื่น
(6) คำสั่งที่มีลักษณะที่ผิดพลาดอย่างชัดแจ้งและร้ายแรง ซึ่งถือ เสมือนว่าไม่มีการออกคำสั่งทางปกครอง
(7) คำสั่งทางปกครองที่ระบุให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้โดยไม่ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเสียก่อน
(8) กรณีมีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้โดยไม่ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเสียก่อน
(9) กรณีที่กฎหมายกำหนดให้คาสั่งทางปกครองใดให้เป็นที่สุด คู่กรณีไม่ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว
(10) กรณีการฟ้องละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครองไม่ต้อง อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว
เงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้นะครับทนายความคดีปกครอง ที่ปรึกษาคดีปกครองขออนุญาตกล่าวต่อในตอนต่อไป เพราะในเรื่องเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองนี้ถือว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่งครับ โดยในการพิจารณามีคำสั่งรับคำฟ้องของศาลปกครองนั้นก็ต้องพิจารณาในเรื่องเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครองว่าคดีนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขการฟ้องคดีที่ศาลจะสามารถมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้หรือไม่